โครงการด้านพลังงานตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.9K views



 

การพัฒนาด้านพลังงาน 

 

โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซขยะตามแนวพระราชดำริ

เป็นโครงการวิจัยที่มีเป้าหมายในการค้นหาแนวทางการเก็บรวบรวมก๊าซที่เกิดจากกระบวนการฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะ ระบบทำความสะอาดก๊าซที่เหมาะสมกับการเป็นเชื้อเพลิงเดินเครื่องยนต์ผลิตกระแสไฟฟ้า ข้อมูลการเดินระบบและบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับประกอบการวิเคราะห์ผลทางเศรษฐศาสตร์ หลังดำเนินการเสร็จสามารถใช้เป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ให้กับภาคเอกชน ราชการ สอดคล้อง กับภาวะขาดแคลนด้านพลังงาน และลดปัญหามลภาวะทางอากาศ เช่น ด้านก๊าซเรือนกระจก โดยได้ดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานไว้เมื่อปี 2538 ว่าให้ใช้ก๊าซจากขยะให้หมดก่อน ต่อจากนั้นก็นำขยะไปร่อนแยกส่วนประกอบต่าง ๆ ส่วนที่เป็นสารปรับปรุงดินก็ให้นำไปปลูกพืช ส่วนที่เหลือที่ยังสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ให้นำไปเผาเพื่อที่จะนำเอาพลังงานความร้อนไปใช้ประโยชน์ เมื่อเกิดเถ้าถ่านขึ้นก็นำไปผสมกับวัสดุที่เหมาะสมเพื่ออัดเป็นแท่ง ซึ่งอาจนำไปใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างต่อไปได้ เมื่อพื้นที่ส่วนแรกว่างลง ก็สามารถนำขยะมาฝังกลบได้ใหม่ซึ่งถ้ากระทำได้อย่างต่อเนื่องโดยจัดเวลาให้เหมาะสม ก็จะทำให้มีพื้นที่ฝังกลบหมุนเวียนตลอดไป

 

 

โครงการใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล

โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนโดยการศึกษาแนวทางการนำน้ำมันพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันปาล์มมาใช้งานแทนน้ำมันดีเซลเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก กำลังผลิตวันละ 110 ลิตร ที่ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ทำให้เพิ่มกำลังแรงบิดให้กับเครื่องยนต์ ลดมลพิษในไอเสียของเครื่องยนต์เพิ่มการหล่อลื่น ทำให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานได้นาน ประหยัดเงินตราในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลได้บางส่วน ช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากนี้ยังเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สามารถปลูกทดแทนได้

 

 

โครงการเชื้อเพลิงอัดแท่ง (แกลบอัดแท่ง)
ในปี พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้นำแกลบที่ได้จากการสีข้าวของโรงสีข้าวตัวอย่างจากสวนจิตรลดา มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงดิน และนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงแท่ง จึงมีการจัดสร้างโรงบดแกลบขึ้นภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา การดำเนินงานในขั้นแรกเป็นการนำแกลบผสมปูนมาร์ลและปุ๋ยเคมี เพื่อใช้ในการปรับปรุงดินต่อมาในปี พ.ศ.2523 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาจัดซื้อเครื่องอัดแกลบให้เป็นแท่ง เพื่อนใช้แทนเชื้อเพลิงชนิดอื่น รวมทั้งจำหน่ายแก่บุคคลภายนอก โครงการแกลบอัดแท่งยังคงมีการทดลองและพัฒนาขั้นตอนการผลิตตามพระราชดำริอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นในปี พ.ศ. 2528 มีพระราชดำริให้ทดลองอัดแกลบผสมผักตบชวา เพื่อทดลองนำผักตบชวาที่เป็นวัชพืชตามแหล่งน้ำมาทำเป็นเชื้อเพลิงแท่ง

ปี พ.ศ. 2529 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานคำแนะนำให้ติดตั้งเตากำเนิดความร้อนแทนขดลวดความร้อนที่เครื่องอัดแกลบ เพื่อนเป็นการประหยัดกระแสไฟฟ้าหลังจากนั้น เนื่องจากแกลบที่อัดแล้วไม่สามารถรักษาสภาพให้เป็นแท่ง เมื่อถูกน้ำหรือน้ำฝนจะแปรสภาพเป็นแกลบเหมือนเดิม จึงนำแกลบที่อัดแล้วไปเผาให้เป็นถ่าน ซึ่งช่วยให้สะดวกขึ้น เพราะไม่มีควันและได้ความร้อนสูงกว่าแกลบอัดแท่งที่ไม่ได้เผาเป็นถ่าน แกลบอัดแท่ง และถ่านที่ผลิตได้ นำไปจำหน่ายให้กับโครงการอื่น ๆ ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เช่น ในระยะแรกของโรงงานแอลกอฮอล์ก็ใช้แกลบอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงเช่นกันนอกจากนั้นยังจำหน่ายแก่บุคคลภายนอก รวมทั้งเคยส่งไปให้ผู้อพยพในค่ายผู้ประสบภัยของสหประชาชาติด้วย