โครงการด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 129.3K views



 

การพัฒนาด้านการเกษตร


โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดหลักปรัชญา“เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศและการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้กระบวนการผลิตที่ง่าย แต่มีประสิทธิภาพประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายนอกจากนี้ ยังดำเนินการภายใต้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการศึกษา ทดลอง บันทึกรวบรวมข้อมูลและผลการศึกษา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจทั่วไป

 

 

แนวพระราชดำริเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” แนวทางจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตร
ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในปัจจุบัน และการประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะในเขตที่ใช้น้ำฝนทำนาเป็นหลัก เกษตรกรจะมีความเสี่ยงสูง เป็นเหตุให้ผลผลิตข้าวอยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ด้วยพระอัจฉริยะในการแก้ปัญหา จึงได้พระราชทาน "ทฤษฎีใหม่" ให้ดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ประมาณ 15 ไร่ ด้วยวิธีการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาอย่างเหมาะสม ด้วยการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยให้มีการจัดสร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้มีรายได้ไว้ใช้จ่ายและมีอาหารไว้บริโภคตลอดปี (กรมวิชาการ, 2539 : 77) ซึ่งได้ดำเนินการอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อการผลิตทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า "…ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน…" (สำนักพระราชวัง, 2542 : 31)

 

 

โครงการหลวงเพื่อการวิจัยการทำเกษตรในพื้นที่สูง
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนารถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาบ้านดอยปุย ทอดพระเนตรเห็นชาวเขาปลูกฝิ่นแต่ยากจน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งโครงการหลวง เมื่อ พ.ศ. 2512 เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยมีพระประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นทุรกันดารและยากจน จากการดำรงชีวิตด้วยการทำไร่เลื่อนลอย และการปลูกฝิ่น ให้หันมาปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ทดแทน รวมทั้งการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร

ปัจจุบันโครงการหลวงได้ให้การส่งเสริมและพัฒนาในพื้นที่ชุมชนชาวเขาซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูง เรียกว่าศูนย์พัฒนาโครงการหลวง มีจำนวน 38 แห่ง แต่ละศูนย์ฯ ครอบคลุมพื้นที่แห่งละ 5-20 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน และพะเยา มีประชากรชาวเขาเผ่าต่างๆ 13 เผ่าและชาวไทยที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ภูเขาได้รับประโยชน์ รวม 37,561 ครัวเรือน จำนวนประชากร 172,309 คน

 

 

โครงการสวนสองแสน สถานีทดลองปลูกพืชเมืองหนาว
สถานีทดลองปลูกพืชเมืองหนาว ซึ่งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เบื้องต้น สองแสนบาท อันเป็นที่มาของชื่อโครงการและได้ขยายงานด้านการเกษตรสู่ชาวเขา ให้มีอาชีพสามารถเลี้ยงตัวได้ และทำให้การปลูกฝิ่นลดลงในที่สุด

โครงการนี้เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ ทรงพบเห็นการตัดไม้ทำลายป่า และความยากแค้นของชาวเขาบนดอยต่าง ๆ จึงทรงมีพระราชดำริและทรงจัดตั้งโครงการเกษตรในที่สูงขึ้น เริ่มจาก "โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ใน พ.ศ. 2512 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินบนดอยปุย เพื่อเป็นสถานีทำการทดลองปลูกพืชเมืองหนาว พร้อมกับพระราชทานชื่อว่า "สวนสองแสน” ปีต่อมาได้ขยายโครงการไปสู่ดอยอ่างขาง ซึ่งประสบความสำเร็จ นำความกินดีอยู่ดีมาสู่ราษฎร จึงพากัน เรียกดอยแห่งนี้ว่า "ดอยคำ" จากนั้นโครงการจึงขยายต่อไปสู่ดอยอีก 4 แห่ง คือ ดอยอินทนนท์ สถานีฯ ที่ขุนวาง ปางดะ และแม่หลอด โดยทุกพื้นที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งสิ้น ในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการเปลี่ยนชื่อโครงการให้เป็นการถาวรว่า "โครงการหลวง"


ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเขาหินซ้อน
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พุทธศักราช 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาลบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ราษฎรได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน หมู่ที่ 2 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 264 ไร่ พระองค์ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรที่ดินดังกล่าว และทรงมีพระราชดำริกับเจ้าหน้าที่อำเภอ จังหวัด และหน่วยราชการต่าง ๆ ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมปศุสัตว์ ให้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาตัวอย่าง สาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมและงานศิลปาชีพ เพื่อเป็นแหล่งให้เกษตรกรตลอดจนผู้สนใจได้เข้าชมศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้ จากพระราชดำริข้างต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชนได้ประชุมปรึกษาหารือกัน มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารและกรรมการที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา" คณะกรรมการบริหารฯ ได้ทำหนังสือในนามของ กรมพัฒนาที่ดิน กส. 1801/1094 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2523 ถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานชื่อของศูนย์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การดำเนินโครงการสนองพระราชดำริสืบไป และทางสำนักราชเลขาธิการได้แจ้งให้ทราบตามหนังสือ ที่ รล.002/3041 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2523 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชื่อว่า "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา"

 

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อกำเนิดจากการที่ได้รับพระราชดำริ เมื่อวัน 11 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ที่พระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตัวเองต่อไป โดยทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนคงความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ 4 และ พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่าง ๆ ในศูนย์ฯ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป ดังมีพระราชดำริว่า "ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน 'พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต' หรืออีกนัย หนึ่งเป็น 'สรุปผลการพัฒนา' ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้"

 

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง
ในระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม - 3 ตุลาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์เสด็จพระราชดำเนิน แปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทรงเยี่ยมราษฎรในหลายพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาส ทรงทราบถึงปัญหาและความทุกข์ยากของราษฎรอันเนื่องมาจากพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่พรุสภาพดินเป็นดินเปรี้ยวจัดไม่สามารถปลูกพืชได้ จึงมีพระราชดำรัสกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

"...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่มีอยู่ในจังหวัดนราธิวาสนี้ ก็เป็นศูนย์ศึกษาที่เน้นหนักไปในทางค้นคว้าวิจัย และบริการในชีวิตความเป็นอยู่แบบที่เป็นอยู่ในภาคใต้ หนักในทางดินที่เป็นพรุ ซึ่งเป็นปัญหามากเพราะยังไม่ได้ศึกษาพอ และเกี่ยวข้องกับกรมกองหลายกรมกอง ซึ่งอาจจะยัง ไม่ปรองดองกัน คือไม่เข้าใจ ก็มาวิจัยพร้อมกันที่เดียวกันก็จะได้มีความเข้าใจกันได้..."

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จึงมีมติอนุมัติหลักการให้จัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2525

 

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ นายบุญนาค สายสว่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี สรุปได้ว่า ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมงและการเกษตรในเขตพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี โดยพระราชทานเงินที่ราษฎรได้ร่วมทูลเกล้าฯ ถวายในโอกาสดังกล่าวเป็นทุนเริ่มดำเนินการ และต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม สรุปได้ว่า ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมหรือพื้นที่สาธารณประโยชน์ เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล จังหวัดจันทบุรีจึงได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และกำหนดพื้นที่บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินงานในพื้นที่

 

 

ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทราย
ห้วยทราย ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ก็เช่นเดียวกับดินแดนอื่น ๆ อีกมากของประเทศไทย ที่แต่เดิมเคยเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้นานาพันธุ์เขียวชะอุ่ม มีสัตว์ป่าโดยเฉพาะ เนื้อทราย อาศัยตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อว่า "ห้วยทราย" และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้าง "พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน" หรือป่าเนื้อทราย ขึ้นที่นั่น เมื่อพุทธศักราช 2467

แต่…ในช่วงเวลาเพียง 30 กว่าปี พื้นที่ห้วยทรายได้ถูกราษฎรเข้าบุกรุกทำลายป่า เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนไม่เหลือป่าไม้และสัตว์ป่าจึงเกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และสภาพพื้นดินเสื่อมโทรม ทำการเกษตรกรรมไม่ได้ผล

เมื่อวันที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ ห้วยทราย มีพระราชดำรัสด้วยน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยว่า "หากปล่อยทิ้งไว้ จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ จัดเป็นพื้นที่ดำเนินงานตามโครงการ 15,882 ไร่ มีสำนักงานโครงการตั้งอยู่ที่กองกำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ (ค่ายพระรามหก) และมีศูนย์สาขาคือ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

 

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานขึ้น เมื่อพุทธศักราช 2525 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ ตั้งอยู่ที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ห่างอำเภอเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 13,300 ไร่ การดำเนินงานแบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาการเกษตรประมาณ 2,300 ไร่ พื้นที่เขตปริมณฑลเพื่อการพัฒนาป่าไม้ประมาณ 11,000 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า ป่าภูล้อมข้าวและป่าภูเพ็ก

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่พุทธศักราช 2527 โดยเพิ่มศึกษาค้นคว้าวิจัยทดลองงานพัฒนาการเกษตรที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่น และนำออกเผยแพร่เป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติ เพื่อพัฒนาอาชีพ ฟื้นฟู และพัฒนาป่าไม้ การปลูกพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร

 

 

โครงการพระราชดำริเรื่อง ”สหกรณ์”
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยหลักการ วิธีการสหกรณ์ในพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริ อาจกล่าว ได้ว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่การจัดตั้งหมู่บ้านหุบกะพง ภายหลังจากที่ได้มีการคัดเลือกพื้นที่บริเวณตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 10,000 ไร่ ซึ่งเดิมมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมพื้นที่แห้งแล้ง โดยกันออก จากเขตของกรมป่าไม้ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรโดยมิให้กรรมสิทธิ์แต่ใช้เทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่ ปรับปรุงพัฒนาสภาพที่ดินให้มีความเหมาะสมต่อการทำการเกษตรในลักษณะ "หมู่บ้านสหกรณ์" ใช้หลักการ วิธีการ อุดมการณ์ของสหกรณ์มาทำการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำรัสเพิ่มเติมคราวหนึ่งว่า

".....ทำไปทำมาเขาไปรวมกลุ่มทำ.....รวมพวกได้มากขึ้นจนเกิดเป็นกลุ่มเกษตรร่วมกับกลุ่มสวนผัก.....เราไป บอกว่าสหกรณ์นี้ดี ก็ช่วยกันทำไปส่งเสริมเขา....."

การจัดหมู่บ้านที่หุบกะพง จึงเป็นหมู่บ้านตัวอย่างในโครงการพระราชดำริ ซึ่งจัดในรูปสหกรณ์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และต่อมาได้ขยายผลนำรูปแบบและวิธีการสหกรณ์ไปเผยแพร่ ปลูกฝัง ให้ความรู้ แก่ประชาชนในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชน บนพื้นฐานแห่ง "การช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน"

จะเห็นได้ว่า ในการแก้ไขปัญหาด้านความเป็นอยู่ของประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมักจะทรงนำวิธี การสหกรณ์มาใช้อยู่เสมอ เนื่องจากว่าภาครัฐบาลไม่สามารถทุ่มเทให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทั้งหมด การที่ประชาชนรู้จักการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประกอบกับการช่วยเหลือของรัฐ จะทำให้สร้างประโยชน์แก่ประชาชนอันเป็นพสกนิกรของพระองค์ท่านได้ในที่สุด


โครงการนาข้าวทดลอง
ในปีพุทธศักราช 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าวทดลองนำข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ จากทั่วประเทศมาทดลองปลูกในแปลงนาข้าวทดลองในพื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทั้งแบบนาดำ นาหว่าน และข้าวไร่ที่ปลูกบนที่ดอน และที่สูงโดยปลูกทั้งพันธุ์ข้าวเจ้า และข้าวเหนียว นอกจากนี้ ยังมี การปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อบำรุงดิน และเป็นการใช้พื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยในปีแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ออกแบบ และสร้างควายเหล็ก หรือรถไถแบบ 4 ล้อ เพื่อใช้ในการเตรียมดิน และทรงขับรถไถนาเตรียมแปลงปลูกข้าว ทรงหว่านข้าว และทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง

ผลผลิตข้าวที่ได้จากแปลงนาข้าวทดลอง ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาแรกนาทำการหว่านข้าวในแปลงนาข้าวทดลองโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ภายหลังจากพระราชพิธีที่สนามหลวงเป็นประจำทุกปี และผลผลิตข้าวอีกส่วนหนึ่งจะนำไปบรรจุถุงเป็นพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานแจกจ่ายแก่เกษตรกร เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการเพาะปลูก

 

 

โครงการธนาคารข้าวเพื่อแก้ไขข้าวขาดแคลน
หลายพื้นที่ในประเทศไทยต่างประสบกับปัญหาความทุรกันดารและภัยธรรมชาติ ทำให้ “ข้าว” อันเป็นอาหารหลักมีอันต้องขาดแคลนเนื่องจากได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง โครงการธนาคารข้าวจึงเกิดขึ้นเพื่อกักเก็บข้าวและช่วยบรรเทาความขาดแคลนที่อาจเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้ประสบภัยแล้ง ภัยธรรมชาติต่าง ๆ มีข้าวพอเพียงต่อการบริโภค
“ข้าว” คือ อาหารหลักของคนไทย แต่บ่อยครั้งที่พื้นที่นาซึ่งใช้ปลูกข้าว มักประสบปัญหาภัยแล้ง หรือเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้ต้นข้าวเสียหายชาวนาชาวไร่หลายคนต้องขาดแคลนข้าวสำหรับการบริโภค นี่จึงเป็นที่มาของโครงการธนาคารข้าว หนึ่งในโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

 

โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อการเกษตร
"...ธนาคารโคและกระบือ ก็คือ การรวบรวมโคและกระบือ โดยมีบัญชี ควบคุม ดูแล รักษา แจกจ่าย ให้ยืม เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร และเพิ่มปริมาณโคและกระบือ ตามหลักการของธนาคาร ธนาคารโคและ กระบือ เป็นเรื่องใหม่ของโลกที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันมีความคิดแต่จะใช้เครื่องกลไกเป็น เครื่องทุ่นแรงในกิจการเกษตร แต่เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้นความก้าวหน้าในการใช้เครื่องกลไกเสียไป จำเป็นต้องหันมาพึ่งแรงงานจากสัตว์ที่เคยใช้อยู่ก่อน เมื่อหันกลับมาก็ปรากฏว่ามีปัญหามาก เพราะชาวนาไม่มีเงินซื้อโคและกระบือมาเลี้ยงเพื่อใช้งาน ธนาคารโคและกระบือ พอจะอนุโลมใช้ได้เหมือนกับธนาคารที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน เพราะโดยความหมายทั่วไป ธนาคารก็ดำเนินกิจการเกี่ยวกับสิ่งมีค่ามีประโยชน์ การตั้งธนาคารโคและกระบือก็มิใช่ว่าตั้งโรงขึ้นมาเก็บโคหรือกระบือ เพียงแต่มีศูนย์กลางขึ้นมา เช่น อาจจัดให้กรมปศุสัตว์เป็นศูนย์รวมใครจะสมทบธนาคารโคกระบือ ก็ไม่จำเป็นต้องนำโคหรือกระบือไปมอบให้อาจบริจาคในรูปของเงิน..."

 

 

โครงการโรงโคนมสวนจิตรลดา
สืบเนื่องจากการเสด็จประพาสยุโรปในปีพุทธศักราช 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศเดนมาร์ค เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม เพื่อเป็นอาชีพใหม่ให้แก่เกษตรกรไทย

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดสร้างโรงโคนม เพื่อเลี้ยงโคนมที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวาย และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงโคนมสวนจิตรลดาในวันที่ 12 มกราคม ปีพุทธศักราช 2505

วัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของโรงโคนมสวนจิตรลดา คือ เพื่อส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคนม ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาชีพพระราชทาน โดยทำการศึกษา ค้นคว้าและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม รวมทั้งการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์โคนมที่เหมาะสมกับประเทศไทย

 

 

โครงการปลาร้องไห้
โครงการเลี้ยงปลาในพื้นที่น้ำเปรี้ยว หรือโครงการเลี้ยงปลาน้ำกร่อย (ปลาร้องไห้) เป็นโครงการทดสอบและศึกษาหารูปแบบและวิธีการเลี้ยงปลากะพงขาวในเขตพื้นที่ที่มีการไหลบ่าของน้ำเปรี้ยวผ่านแหล่งเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อแก้ปัญหาให้ราษฎรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากะพง

 

 

ศูนย์บริการพัฒนาขยายพันธ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ จังหวัดเชียงใหม่
โครงการศูนย์บริการฯ (บ้านไร่) ได้ดำเนินการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นเมือง เช่น พืชกลุ่มกระเจียว ว่านสี่ทิศ หน้าวัว และกล้วยไม้ไทย เป็นต้น ตลอดจนทำการศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมราษฎร และให้ความร่วมมือในการพัฒนาการผลิตและขยายพันธุ์ไม้ดอกให้แก่ศูนย์ศึกษาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในภาคต่างๆ เนื่องจากโครงการศูนย์บริการฯ เป็นศูนย์สาขาของศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จึงได้มีการขยายผลไปสู่ชาวบ้านที่สนใจและส่งเสริมอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นเมือง โดยเฉพาะพืชกลุ่มกระเจียว ให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้น