วิชาภาษาไทย เรื่อง ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 146.8K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



 

 

แนวทางในการอ่านวรรณคดีและวรรณกรรม
   ๑. รูปแบบ คือ ลักษณะทั่วไปของงานประพันธ์ ซึ่งแบ่งได้ตามเกณฑ์ต่อไปนี้
       ๑.๑ การแบ่งตามลักษณะคำประพันธ์ แบ่งเป็น ร้อยแก้วและร้อยกรอง
       ๑.๒ การแบ่งตามจุดมุ่งหมายในการแต่ง แบ่งเป็น สารคดีและบันเทิงคดี
       ๑.๓ การแบ่งตามลักษณะการถ่ายทอด แบ่งเป็น วรรณคดีลายลักษณ์และวรรณคดีมุขปาฐะ
       ๑.๔ การแบ่งตามลักษณะเนื้อหา แบ่งเป็น วรรณคดีบริสุทธิ์และวรรณคดีประยุกต์
   ๒. เนื้อหา คือ สาระสำคัญของงานประพันธ์ ประกอบด้วย ๕ องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก แก่นเรื่อง และบทสนทนา
   ๓. ภาษา คือ ถ้อยคำที่ใช้เรียบเรียงเนื้อหา ซึ่งผู้เขียนต้องเลือกใช้คำที่มีเสียงและความหมายสอดคล้องกับงานประพันธ์ และอาจมีการเปรียบเทียบเพื่อให้ผู้อ่านจินตนาการภาพตามที่ผู้เขียนต้องการ โดยใช้โวหารภาพพจน์ เช่น อุปลักษณ์ อุปมา สัญลักษณ์ อติพจน์ บุคลาธิษฐาน ปฏิพากย์ นามนัย เป็นต้น



ประวัติวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๙๔)
   สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สภาพสังคมไม่ต่างจากสมัยกรุงศรีอยุธยามากนัก พระมหากษัตริย์มุ่งฟื้นฟูและวางรากฐานให้แก่บ้านเมือง ตลอดจนเอาพระทัยใส่เรื่องศิลปวัฒนธรรม ทั้งด้านประเพณี พิธีกรรม นาฏกรรม วรรณกรรม
   ในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ งานด้านวรรณคดีมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เพราะมีการส่งเสริมวรรณคดีและมีการชุบเลี้ยงกวีคนสำคัญไว้ ส่งผลให้มีวรรณคดีเกิดขึ้นมากมาย นอกจากนี้รัชกาลที่ ๓ ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ราชกวีช่วยกันแต่งและชำระวรรณคดีและตำราต่าง ๆ นำมาจารึกบนแผ่นศิลาประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ เพื่อให้ประชาชนได้มาศึกษาด้วยตัวเองอีกด้วย
   ตัวอย่างวรรณคดีสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น รามเกียรติ์ อิเหนา สามก๊ก กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ขุนช้างขุนแผน นิราศนรินทร์ ลิลิตตะเลงพ่าย โคลงโลกนิติ 



ประวัติวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง
รัชกาลที่ ๔ - รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๖๙)
   สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ประเทศไทยรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น ทำให้บ้านเมืองได้รับการพัฒนา แต่ในขณะเดียวกัน สังคมก็มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่สูง และประชาชนที่จบการศึกษาจากต่างประเทศก็มีความตื่นตัวในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย
   วรรณคดีในช่วงนี้ได้รับการผสมผสานระหว่างวรรณคดีรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ มีการแต่งร้อยแก้วประเภทเรื่องสั้น นวนิยาย บทละครรำ บทละครร้อง และบทละครพูด โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๖ ถือเป็นช่วงที่วรรณคดีรุ่งเรืองที่สุด เพราะพระองค์ทรงอุปถัมภ์กวี และทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีเอาไว้มาก
   ตัวอย่างวรรณคดีสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง เช่น พระราชพิธีสิบสองเดือน ไกลบ้าน เงาะป่า ความพยาบาท มัทนะพาธา เวนิสวาณิช สกุนตลา นิทานเวตาล กามนิต 



ประวัติวรรณคดีและวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ ๗ – ปัจจุบัน
(พ.ศ. ๒๔๖๙ – ปัจจุบัน)
   สมัยรัชกาลที่ ๗ ได้เกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวกันมาก เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีและบริหารประเทศด้วยอำนาจเผด็จการ ทำให้ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพในการรับสื่อ ต่อมาในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มปัญญาชนในประเทศเริ่มแสดงการต่อต้านรัฐบาล และนำไปสู่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งกลุ่มปัญญาชนได้รับชัยชนะ รัฐบาลจึงไม่ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองอีก
   ด้วยภาวะตึงเครียดของสังคมในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง งานเขียนส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิต หรือวรรณกรรมแนวพาฝัน เนื่องจากนักเขียนต้องการสื่อว่าโลกแห่งความเป็นจริงไม่สวยงาม ซึ่งวรรณกรรมลักษณะนี้ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันตก โดยเนื้อเรื่องของวรรณกรรมจะสั้นลง แต่มีเนื้อหาเชิงปรัชญา สัญลักษณ์ และสะท้อนความเป็นจริงในสังคมมากขึ้น
   ตัวอย่างวรรณคดีสำคัญในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น ความผิดครั้งแรก ละครแห่งชีวิต ข้างหลังภาพ เมืองนิมิต แผ่นดินของเรา คนบนต้นไม้ 

 

 

คำสำคัญ วรรณคดีและวรรณกรรม สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th