ภาษาไทย ม. 1 เรื่อง บทพากย์โขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน บทพากย์เอราวัณ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 109.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ บทพากย์โขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน บทพากย์เอราวัณ

 

นำเรื่อง

บทพากย์เอราวัณ เป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  แต่งด้วยกาพย์ฉบัง ๑๖ กล่าวถึงอินทรชิตจัดทัพพระอินทร์แปลงเพื่อลวงพระราม  ทำให้ฝ่ายพระรามเสียทีแก่อินทรชิต

เรื่องย่อ

อินทรชิตรับคำสั่งจากทศกัณฐ์ให้ปราบพระราม จึงออกอุบายจัดทัพพระอินทร์แปลง ทำให้พระลักษมณ์เสียทีสลบไป พระรามนึกว่าพระลักษมณ์ตายก็ร้องไห้จนสลบ พิเภกจึงทำให้ฟื้น  อินทรชิตต้องศรพรหมาสตร์ของพระลักษมณ์จนศีรษะขาด พิเภกจึงกราบทูลให้องคตไปนำพานทิพย์จากพระพรหมมารองศีรษะ เพราะถ้าตกพื้นจะทำให้โลกลุกเป็นไฟ

 

รามเกียรติ์

 

บทพากย์เอราวัณ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

            อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และจัดกระบวนทัพตามตำราสงคราม เหล่าทหารแปลงกายเป็นเทพ ทั้งเทพารักษ์ ครุฑ กินนร นาค วิทยาธร คนธรรพ์

            เมื่อพระรามและพระลักษมณ์ตื่น ก็เสด็จประทับบนรถทรงที่งดงาม กองทัพเริ่มตีกลองและเป่าสังข์เพื่อส่งสัญญาณออกศึก เหล่าทหารส่งเสียงโห่ร้องเอาชัยดังก้องทั่วป่า เหล่าเทวดาและนางฟ้า ต่างโปรยดอกไม้ให้เพื่ออวยพร

            พระลักษมณ์เห็นกองทัพของพระอินทร์เสด็จมา จึงตรัสถามสุครีพว่าเพราะเหตุใดพระอินทร์จึงเสด็จมา สุครีพทูลว่าปกติแล้วพระอินทร์จะเสด็จพร้อมด้วยเหล่าเทวดาเพื่ออวยชัยแด่พระรามด้วยข้าวตอกดอกไม้ แต่คราวนี้ผิดปกติ เพราะพระอินทร์ถืออาวุธจึงเกรงว่าจะเป็นกลลวงของฝ่ายยักษ์ อินทรชิตจึงรีบสั่งให้อำมาตย์จัดระบำถวายพระลักษมณ์ เมื่อพระลักษณ์เคลิบเคลิ้ม อินทรชิตจึงแผลงศรพรหมาสตร์ใส่จนพระลักษณ์สลบ พระรามตามไปพบคิดว่าพระลักษณ์สิ้นชีวิตก็ร้องไห้คร่ำครวญจนสลบไป

 

ศัพท์น่ารู้

กระเหม่น              เขม่น คือ อาการที่กล้ามเนื้อตากระตุกขึ้นเอง ตามความเชื่อโบราณเป็นนิมิต เหตุร้าย หรือดีก็ได้

กรึง                     ตรึง ปักแน่น ทำให้อยู่กับที่

กาลี                     ชั่วร้าย เสนียดจัญไร

กำสรด                 สลด แห้ง เศร้า                         

เขนย                   หมอนหนุน

แข                      ดวงเดือน พระจันทร์

จัตุรงค์                 องค์ ๔ สี่เหล่า

ชลนัยน์                น้ำตา

ทิศา                    ด้าน ข้าง ทาง เบื้อง

โทมนัส                ความเสียใจ ความเป็นทุกข์ใจ

ธรณินทร์              ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดิน

ธาตรี                   แผ่นดิน โลก

นงพาล                นางรุ่นสาว นางสาวเด็ก

บุษบ์                   ดอกไม้

ประยูร                  เผ่าพันธุ์ เชื้อสาย ตระกูล

ปรารมภ์               เริ่มแรก วิตก รำพึง ครุ่นคิด

ปัถพี                   แผ่นดิน

พลับพลา             ที่ประทับชั่วคราวสำหรับรับรองพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง

พิลาป                 ร่ำไรรำพัน คร่ำครวญ ร้องไห้ บ่นเพ้อ

พิสมัย                 ความรัก ความปลื้มใจ ความชื่นชม

ไพรี                    ผู้มีเวร ข้าศึก

ภูธร                    พระราชา

เภรี                     กลอง

ยาตรา                 เดิน เดินเป็นกระบวน

ยุบล                    ข้อความ เรื่องราว

เยาวมาลย์             หญิงสาวสวย

ลำเพา                 โฉมงาม

วนานต์                 ป่า

วิโยค                   การจากไป การพลัดพราก ความร้าง ความห่างเหิน

สินธุ                    ลำน้ำ แม่น้ำ น้ำ ทะเล มหาสมุทร ชื่อแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในชมพูทวีป

                          ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินเดียและปากีสถาน

สุบรรณ                 ครุฑ

สุรเสียง                 เสียงก้อง กังวาน หมายความว่า เสียงของผู้มีอำนาจ

ไสยา                   การนอน ที่นอน

หัสดิน                  ช้าง

อสูร                     อมนุษย์พวกหนึ่งเป็นศัตรูต่อเทวดา แทตย์ ยักษ์ มาร ผี

อาธรรม์                 ชั่ว ไม่เป็นธรรม ไม่เที่ยงธรรม ไม่ยุติธรรม

อุธร                     ท้อง

อุบล                    บัว ดอกบัว

โอสถ                   ยาแก้โรค ยารักษาโรค เครื่องยา

โอฬาร์                  ใหญ่โต ยิ่งใหญ่ โอ่โถง

 

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)

 

ผู้แต่ง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)

สาระน่ารู้

ความรู้เรื่องโขน

โขน มาจากการแสดงชักนาคดึกดำบรรพ์หนังใหญ่ และการเล่นกระบี่กระบอง ผู้แสดงต้องสวมหัวโขน ยกเว้นผู้แสดงที่เป็นมนุษย์ นางฟ้า เทวดา มีคนพากย์และคนเจรจาแทน

ประเภทโขน

โขน แบ่งเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ โขนกลางแปลง โขนโรงนอก (โขนนั่งราว) โขนหน้าจอ โขนโรงใน โขนฉาก

บทพากย์โขน

๑. พากย์เมือง ใช้กล่าวถึงตัวแสดงที่อยู่ในท้องพระโรง

๒. พากย์รถ ใช้พากย์ตอนที่นายทัพขึ้นรถ  ชมพาหนะ ไพร่พล แสนยานุภาพกองทัพ และความงามนายทัพ

๓. พากย์ชมดง ใช้พากย์ชมป่าเขา ชมนกชมไม้

๔. พากย์โอ้ ใช้พากย์ตอนเศร้าเสียใจ และรำพึงพัน

๕. พากย์บรรยาย ใช้บรรยายความงาม ใช้อ่านสารหรือคำสั่งสอน

๖. พากย์เบ็ดเตล็ด ใช้พากย์ทั่ว ๆ ไป

ลักษณะของช้างเอราวัณ

ช้างพลายเผือกตัวใหญ่ มี ๓๓ เศียร แต่ละเศียรหนึ่งมี ๗ งา แต่ละงามีสระโบกขรณี ๗ สระ แต่ละสระมีบัว ๗ กอ แต่ละกอมีบัว ๗ ดอก แต่ละดอกมี ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดา ๗ องค์ แต่ละองค์มีอัปสรเป็นบริวาร ๗ นาง เครื่องประดับช้างทำด้วยแก้ว ๙ ประการ ซองหางถักด้วยทอง ตระพองเศียรถักเป็นตาข่ายด้วยเพชรแกมแก้ว

แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม

เนื้อเรื่อง

พระลักษณ์เสียทีแก่อินทรชิต เนื่องจากหลงใหลในกองทัพพระอินทร์แปลง

ศิลปะการประพันธ์

แต่งด้วยกาพย์ฉบัง ๑๖ ใช้คำที่สละสลวย ไพเราะ  เหมาะกับการเล่นโขนเป็นอย่างดี

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ

เรื่องนี้แสดงให้เห็นความรักระหว่างพี่กับน้อง และให้ข้อคิดว่าควรดำเนินชีวิตอย่างรอบคอบ

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

อย่าเชื่อหรือคล้อยตามในสิ่งใดโดยไม่พิจารณาไตร่ตรอง

 

คำสำคัญ บทพากย์เอราวัณ, รามเกียรติ์

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th