บทเรียนออนไลน์ วิชาภาษาไทย เรื่อง การพูดให้สัมฤทธิผล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 15.3K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้


 


การส่งสารด้วยการพูด
   เป็นกระบวนการสื่อสารที่ใช้เสียงเป็นเครื่องมือถ่ายทอดสารจากผู้หนึ่งไปยังอีกผู้หนึ่ง มีองค์ประกอบ ๔ ประการ ได้แก่ ผู้พูด เนื้อหาสาระ สื่อ และผู้ฟัง



ความสำคัญของการพูด
   – การพูดเป็นสื่อในการสื่อสาร
   – การพูดเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง



หลักการพูดที่มีประสิทธิภาพ
   การพูดที่มีประสิทธิภาพ มีหลักปฏิบัติดังนี้
   – ควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่ให้ประหม่าหรือตื่นเต้นจนเกินไป
   – ทักทายผู้ฟังอย่างเป็นมิตร
   – ท่ายืนเวลาพูดต้องแสดงความมั่นคง
   – มองผู้ฟังอย่างทั่วถึง ไม่มองจุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว
   – พูดเสียงดังชัดเจน
   – มีความหนักเบาในน้ำเสียง เร้าความสนใจผู้ฟัง
   – ไม่พูดเร็วหรือช้าจนเกินไป
   – เว้นวรรคตอนให้เหมาะสม ออกเสียง ร ล ชัดเจน
   – แสดงสีหน้าท่าทางประกอบเพื่อช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจมากขึ้น
   – ใช้ภาษาให้เหมาะสมกับกาลเทศะ และระดับของผู้ฟัง
   – แทรกอารมณ์ขันได้บ้าง
   – ลำดับเนื้อเรื่องให้ชัดเจน ไม่วกวน
   – พูดย้ำใจความสำคัญให้ผู้ฟังทราบ
   – ใช้คำสรรพนามให้เหมาะสม
   – จบการพูดด้วยการย้ำความคิดสำคัญ หรืออาจให้ข้อคิด คติพจน์ หรือข้อควรจำ



การใช้ภาษาที่เหมาะสมตามหลักการพูด
   ความหมายของคำ คำในภาษาไทยบางคำมีความหมายใกล้เคียงกัน คำบางคำมีทั้งความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบการก่อนนำมาใช้ว่าตรงกับความหมายที่ต้องการหรือไม่
   ระดับของบุคคล ทำให้คำพูดที่ใช้แตกต่างกันไปตามระดับของบุคคล
   การใช้ภาษาให้ถูกต้องตามหลักภาษารวมถึงการใช้คำและการใช้ประโยคให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของภาษา
   ความยากง่ายของคำ ผู้พูดควรใช้คำที่เข้าใจง่าย ไม่นำศัพท์บัญญัติ ศัพท์เฉพาะอาชีพ หรือศัพท์เทคนิคมาใช้
   คำภาษาต่างประเทศ ไม่ควรนำภาษาอังกฤษมาใช้ร่วมกับภาษาไทยโดยไม่จำเป็น
   ความกะทัดรัดของประโยค ควรพูดให้กระชับ รัดกุม ตรงตามวัตถุประสงค์
   การใช้สำนวนโวหาร ควรใช้คำพูดสั้น ๆ แต่กินความมาก ให้ข้อคิดหรือคติสอนใจ
   การออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจน ผู้พูดจำเป็นต้องออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการสื่อความหมาย โดยเฉพาะเสียงควบกล้ำ ร ล
   การออกเสียงให้เต็มคำ คำในภาษาไทยบางคำมีหลายพยางค์ เวลาออกเสียงต้องออกเสียงให้เต็มคำ เพื่อให้ความหมายของคำไม่ผิดแผกไป
 

 

การพูดในโอกาสต่าง ๆ
   แบ่งเป็น ๒ ประเภท
   – การพูดแบบไม่เป็นทางการ
   – การพูดแบบเป็นทางการ



มารยาทในการพูด
   – มีความสำรวม สุภาพเรียบร้อย เคลื่อนไหวอย่างสง่างาม หน้าตายิ้มแย้มแสดงความเป็นมิตร
   – การแต่งกายเหมาะสมกับสถานที่และโอกาส
   – พูดจาสุภาพ สอดคล้องกับเรื่องที่พูด
   – ไม่พูดยาวหรือสั้นเกินไป
   – ควบคุมอารมณ์ไม่ให้ตื่นเต้นหรือประหม่าเกินไป
   – รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น แม้ว่าจะเป็นความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน
   – สร้างความคุ้นเคยด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมในการพูดบ้างตามความเหมาะสม

 

 

คำสำคัญ การส่งสาร การพูด การพูดในโอกาสต่าง ๆ มารยาทในการพูด

 



แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช www.wpp.co.th