ภาษาไทย ม. 1 เรื่อง ภูมิปัญญาทางภาษา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 17.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

ผังมโนทัศน์การเรียนรู้ ภูมิปัญญาทางภาษา

 

ความหมายของภูมิปัญญา

ภูมิปัญญา เป็นประสบการณ์ที่ถูกสะสมและสืบทอดกันมา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแต่ละท้องถิ่น

ภูมิปัญญาทางภาษา เป็นการสะท้อนสภาพสังคม หรือวิถีชีวิตผ่านภาษาและวรรณกรรม ซึ่งภูมิปัญญาไทยในภาษา มีดังนี้

๑.  ศิลปะการใช้ถ้อยคำ เป็นการใช้คำอย่างมีศิลปะเพื่อให้เกิดความไพเราะ เช่น การสร้างคำด้วยคำอัพภาส การใช้คำพ้องความหมาย คำที่มีสัมผัสคล้อง การเปลี่ยนแปลงคำ และการเรียบเรียงคำ

๒. ลักษณะเด่นทางภาษา ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ ซึ่งสัมพันธ์ต่อความหมายของคำ มีลักษณนาม และมีระดับ ที่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะ

๓. ภูมิปัญญาไทยในคำประพันธ์ กวีย่อมสอดแทรกแง่คิด คติ ความเชื่อ และประเพณีต่าง ๆ ในแต่ละยุคสมัยไว้ในคำประพันธ์

         

ประเภทของภูมิปัญญาทางภาษา

สำนวน ภาษิต คำพังเพย

          เป็นถ้อยคำคมคายที่สืบต่อกันมา เข้าใจง่าย มุ่งเตือนใจและให้ข้อคิด โดยการถ่ายทอดความเชื่อ ค่านิยม และแนวทางในการดำเนินชีวิตผ่านความงดงามของภาษา ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความชัดเจนในการสื่อสารแล้ว ยังช่วยขัดเกลาพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม เช่น อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์ ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก

เพลงสำหรับเด็ก

          เพลงสำหรับเด็ก ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงร้องเล่น และเพลงประกอบการละเล่นของเด็ก ซึ่งเป็นเพลงสั้น ๆ ที่สอดแทรกแง่คิด คติ ช่วยส่งเสริมจิตสำนึกและพัฒนาการของเด็ก

          เพลงกล่อมเด็ก เพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและเพลิดเพลิน ร้องช้า ๆ เอื้อนยาว ๆ เนื้อเพลงอาจแสดงให้เห็นความรักระหว่างแม่และลูก ธรรมชาติ วรรณกรรม จริยธรรม สภาพสังคม ความเชื่อ ค่านิยมและประเพณีต่างๆ

          เพลงปลอบเด็ก (เพลงหยอกเด็ก) มักใช้ท่าทางประกอบเพื่อให้เด็กรู้จักใช้อวัยวะ เนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติของสัตว์ ความเอ็นดู การส่งเสริมพัฒนาการ มักใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติเพื่อกระตุ้นความสนใจ

          เพลงร้องเล่น มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งรอบตัวเด็ก เช่น ธรรมชาติ ครอบครัว เพื่อนฝูง เป็นเพลงสั้น ๆ ทำนองง่าย ๆ มีคำคล้องจอง เพื่อความไพเราะและง่ายแก่การจดจำ

          เพลงประกอบการละเล่นของเด็ก กล่อมเกลาเด็กให้มีจิตใจอ่อนโยน สามัคคี และมีน้ำใจนักกีฬา มักจะร้องเป็นกลุ่ม มีท่าทางและกติกาการละเล่นร่วมด้วย

ปริศนาคำทาย

          ช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว ฝึกให้เป็นคนสังเกตและคิดวิเคราะห์ แบ่งตามเนื้อหาคำตอบได้ ๘ ประเภท ดังนี้

 

เนื้อหาคำตอบเกี่ยวกับ

คำถาม

คำตอบ

พืช

อะไรเอ่ย ต้นเท่าลำหอก เก็บดอกไปขาย

ข้าวโพด

สัตว์

อะไรเอ่ย  สองตีนบังแดด แปดตีนเดินมา

ปู

ปรากฏการณ์ธรรมชาติ

อะไรเอ่ย ไอ้ดำกินไอ้เหลือง คนทั้งเมืองร้องโวยวาย

จันทรุปราคา

อาชีพ/สิ่งของ/เครื่องใช้

อะไรเอ่ย กดหัวท้องป่อง

สุ่ม

คนและร่างกาย

อะไรเอ่ย ผ้าเหลืองผืนน้อย คนทั้งร้อยตากไม่แห้ง

ลิ้น

ศาสนา วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น

ไอ้ไหรหา แม่ก้าไม่ใช่แม่เรา แม่ของเขาเราพลอยเรียกแม่  

แม่ชี

ภาษา การเล่นคำ วรรณกรรม

พระรามชอบสีไหน        

สีดา

เชาวน์ปัญญา

อะไรเอ่ย พระอะไรใหญ่กว่าวัด

พระนคร

 

นิทานพื้นบ้าน

          เป็นเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาในแต่ละท้องถิ่น ให้ความสนุกสนานและแฝงด้วยแง่คิด ทำให้เกิดความภูมิใจในวีรบุรุษ และเกิดศิลปะแขนงอื่น ๆ ประเภทของนิทานพื้นบ้าน ได้แก่ นิทานวีรบุรุษ นิทานปรัมปรา นิทานท้องถิ่น นิทานสมัยใหม่ นิทานเทพนิยาย นิทานเกี่ยวกับสัตว์ และนิทานตลก ทำให้เกิดความภูมิใจในท้องถิ่นและวีรบุรุษ

 

สรุป

        ภูมิปัญญาทางภาษา เป็นความสามารถของบรรพบุรุษในการสร้างสรรค์ผลงานที่แฝงด้วยแง่คิดและประสบการณ์ผ่านวรรณกรรม เพื่อให้คติในการดำรงชีวิต โดยต้องปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน

 

คำสำคัญ ภูมิปัญญาทางภาษา, นิทานพื้นบ้าน, ปริศนาคำทาย, เพลงสำหรับเด็ก, สำนวน, ภาษิต, คำพังเพย

 

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th