ปัญหาในครอบครัว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 224.4K views




สาเหตุความขัดแย้งในครอบครัว
ความขัดแย้งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่นเดียวกับฝนตก แดดออก เมื่อมีคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป ความขัดแย่งย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะคนเรามีความแตกต่างกันทั้งในด้านความคิดและการอบรมเลี้ยงดู ความขัดแย้งในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณเตือนภัยถึงรอยร้าวของสัมพันธภาพภายในครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัวเป็นการแสดงออกของความรู้สึกขัดแย้งที่ไม่สามารถแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้

ความขัดแย้งในครอบครัวเป็นพฤติกรรมเกิดจากการเรียนรู้และสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยการจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้เป็นประสบการณ์ด้านบวก เพื่อรักษาสัมพันธภาพและความรัก ความเป็นมิตรที่มีต่อกันให้แน่นแฟ้น ด้วยการพูดคุยทำความเข้าใจ พร้อมที่จะให้อภัยในความผิดพลาดหรือความเข้าใจผิดที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

 

ความรุนแรงในครอบครัว
ความรุนแรงในครอบครัว หมายถึง การกระทำหรือพฤติกรรมการทำร้ายกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวโดยเจตนา มีผลกระทบต่อร่างกายเป็นสำคัญรวมทั้งการทำร้ายกันทางด้านจิตใจและอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

การทำร้ายร่างกาย เริ่มจากการทุบตี ตบ เตะ ต่อย ทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

การทำร้ายทางด้านจิตใจและอารมณ์ ด้วยการพูดจาก้าวร้าว ดูหมิ่นดูแคลน เสียดสีล้อเลียน โดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย การข่มขู่ คุกคาม กักขัง หน่วงเหนี่ยว กีดกัน ไม่ให้พบปะสังสรรค์ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง การเพิกเฉยหรือละเลย การกดขี่ข่มเหงจิตใจ ทำให้อีกฝ่ายมีความกลัว หวาดระแวง อารมณ์หวั่นไหว เศร้าซึม รวมทั้งการบีบคั้นทางด้านเศรษฐกิจด้วยการไม่สนับสนุนหรือให้เงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

ระดับความรุนแรง เริ่มตั้งแต่การทะเลาะวิวาท การทำร้ายร่างกาย และการทำลายชีวิต

 

ลักษณะการใช้ความรุนแรงในครอบครัวมีหลายรูปแบบ ดังนี้

๑) การทำร้ายร่างกายคู่สมรส เช่น สามีทำร้ายภรรยา

๒) การทำร้ายเด็กเมื่อมีความขัดแย้งในครอบครัว เกิดผลกระทบด้านร่างกายและจิตใจจากการถูกพ่อหรือแม่ทำร้าย และส่วนมากแม่จะเป็นผู้ทำร้าย เพราะต้องการระบายความคับแค้นใจที่มีต่อสามี

๓) การทำร้ายผู้สูงอายุ บางครอบครัวอาจมี ปู่ ย่า ตา ยาย อาศัยอยู่ด้วย ลูกอาจแสดงความรุนแรงทางกายหรือทางคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ หรือการไม่ใส่ใจดูในเรื่องอาหารและที่อยู่อาศัย

๔) การข่มขืนคู่สมรส สามีใช้ความรุนแรงในลักษณะการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ บังคับให้ภรรยากระทำในสิ่งที่ฝืนใจ ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม จนบางครั้งภรรยาถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

๕) การมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัว บางครอบครัวที่มีพ่อเลี้ยงและลูกสาว อาจมีลักษณะการทำร้ายทางร่างกายด้วยการบังคับข่มขืน หรือบางทีเด็กอาจถูกล่วงเกินทางเพศโดยบุคคลใกล้ชิดภายในครอบครัว เช่น ลุง อา น้า พี่ชาย หรือญาติสนิท เป็นต้น

 

ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

๑) การทำร้ายร่างกาย เป็นการทำร้ายโดยการใช้กำลัง เช่น ตบ ตี เตะ ต่อย รวมถึงการใช้อาวุธหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ผู้ชายบางคนชอบใช้ความรุนแรงกับภรรยาทำร้ายภรรยาทางร่างกาย ทางวาจา ทางจิตใจ อารมณ์ และทางเพศ ข่มขู่และทำร้ายลูก โดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทำร้ายบาดเจ็บจากความรุนแรงในครอบครัว

๒) การทำร้ายจิตใจ เป็นการทำร้ายโดยใช้คำพูดหยาบคาย ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้ผู้ถูกกระทำอับอาย ได้รับความเสียหาย ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง หรือมีการปล่อยปละละเลย ไม่สนใจ ไม่ให้ความรัก ความอบอุ่น ความเป็นมิตร ทำให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจ

๓) การใช้ความรุนแรงทางสังคม เป็นการจำกัดสิทธิที่พึงมีทางสังคม มีการกักกันหน่วงเหนี่ยว กีดขวางไม่ยอมให้คบเพื่อน หรือไม่ให้ติดต่อกับญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน

๔) การใช้ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ เป็นการจำกัดค่าใช้จ่าย ควบคุมทรัพย์สินรวมทั้งไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัว ไม่รับผิดชอบดูแลจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตให้กับผู้ที่อยู่ในความดูแล เช่น อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค การศึกษาและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย

๕)การกระทำทารุณกรรมทางเพศ เป็นการทำร้ายร่างกายทางเพศต่อเด็กและผู้หญิงการข่มขืนกระทำชำเราบังคับให้มีเพศสัมพันธ์การคุกคามทางเพศ การกระทำผิดทางเพศต่อผู้เยาว์ เช่น ภรรยาถูกสามีข่มขืน พ่อเลี้ยงข่มขืน ลูกเลี้ยง ญาติพี่น้องผู้ชายข่มขืนญาติผู้หญิงในครอบครัวรวมทั้งการถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวโดยไม่ใช้ความรุนแรง

การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ส่วนมากพบว่าผู้ที่นิยมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวโดยใช้ความรุนแรง จะมีประสบการณ์ชีวิตซึ่งถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา เช่น ถูกทุบตี ตบหน้าหรือถูกลงโทษอย่างรุนแรง จากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ภายในครอบครัว มีแนวทางการปฏิบัติตนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ในครอบครัวโดยไม่ใช้ความรุนแรง ดังนี้

๑) เรียนรู้วิธีการควบคุมอารมณ์ และระบายความโกรธ โดยไม่ทำร้ายผู้อื่น

๒) ให้ความรักความเข้าใจต่อคนในครอบครัว

๓) สร้างสัมพันธภาพที่อบอุ่น เอาใจใส่ มีบรรยากาศของความเป็นมิตร

๔) มีเทคนิคการหลีกเลี่ยงหรือการจัดการอย่างเหมาะสมเมื่อถูกก้าวร้าว

๕) สร้างความภาคภูมิใจในครอบครัวและวงศ์ตระกูล

๖) สร้างความมั่นคงในอารมณ์ มีความเชื่อมั่นใจตนเอง เพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง

๗) มีภูมิต้านทานแรงกดดันของพฤติกรรมก้าวร้าวจากบุคคลในครอบครัว

๘) ลดความเครียด ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา นันทนาการ ดนตรี สวดมนต์ นั่งสมาธิ

๙) ขอปรึกษาจากญาติหรือเพื่อนที่ไว้ใจได้ หรือหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยเข้ามาไกล่เกลี่ยประนีประนอม เจรจาตกลงปัญหาความขัดแย้ง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความรุนแรง และยุติการใช้ความรุนแรง

 

ที่มาของเนื้อหา ครูทัศนีย์ ไชยเจริญ https://krutassanee2013.wordpress.com/  
ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/th/