กษัตริย์แห่งนวัตกรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 10.9K views



 

 

     ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทีมงานทรูปลูกปัญญาขอนำบทความ “กษัตริย์แห่งนวัตกรรม” จากนิตยสาร plook ฉบับที่ 24 ประจำเดือน ธันวาคม 2012 มาเผยแพร่ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม อันมุ่งเน้นไปเพื่อประโยชน์ทางสังคม

**หมายเหตุ** บทความนี้เดิมเขียนขึ้นไว้ในนิตยสาร plook ฉบับที่ 24 ประจำเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2555 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ดังนั้นพระนาม “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” ในบทความนี้ จึงหมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     สืบเนื่องจากการเสด็จแปรพระราชฐานไปยังทั่วประเทศเพื่อทรงรับฟังและแก้ไขปัญหาของพสกนิกรชาวไทย โดยประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน จนเกิดเป็นโครงการในพระราชดำริมากมาย สมดั่งพระเกียรติพระนาม “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”

     นิตยสาร plook โดย www.trueplookpanya.com ขอน้อมนำโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อันมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมทั้งสี่โครงการ ได้แก่ โครงการแกล้งดิน กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการฝนหลวง และโครงการทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ด้วยมุ่งหวังให้โครงการเหล่านี้เป็นต้นธารบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมสืบต่อไป

โครงการแกล้งดิน
     นวัตกรรมการปรับปรุงสภาพพื้นดินเปล่าประโยชน์ทางการเกษตร เนื่องจากมีสภาพเป็นดินเปรี้ยว ให้กลับฟื้นคืนจนสามารถเพาะปลูกได้ ด้วยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ

     โครงการแกล้งดินเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดนราธิวาส ทรงรับทราบปัญหาเรื่อง “ดินเปรี้ยว” จากราษฎร จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา พิกุลทองขึ้น เพื่อศึกษา ทดลอง และปรับปรุงแก้ไขดินที่แปรสภาพเป็นกรด จนทำการเกษตรไม่ได้ รวมถึงปรับปรุงดินในป่าพรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปี ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด โดยไม่เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์

     ดินเปรี้ยวเกิดจากดินที่มีอินทรียวัตถุเน่าเปื่อยอยู่ด้านบนและในระดับความลึก 1-2 เมตร ดินเลนนี้มีสารประกอบไพไรต์หรือกำมะถันอยู่มาก เมื่อดินแห้งในฤดูแล้ง สารไพไรต์จะทำปฏิกิริยากับอากาศทำให้ดินปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา และส่งผลให้ดินเป็นกรดจัดหรือเปรี้ยวจัดยิ่งขึ้น



     นวัตกรรม “แกล้งดิน” ต้องการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไปเสมือนฤดูฝนและฤดูแล้งตามธรรมชาติ แต่ร่นระยะเวลาเพียง 2 ปีในการ “แกล้งดินให้เปรี้ยวจนสุดขีด” เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีให้สารไพไรต์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศจนไม่สามารถปลูกพืชได้เลย จากนั้นจึงวางระบบการระบายน้ำทั่วทั้งพื้นที่เพื่อควบคุมระดับน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้น ดินเลนที่มีสารไพไรต์อยู่เสมอ ป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยากับออกซิเจนได้อีก และอาจเพิ่มวิธีปรับปรุงดินด้วยการใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ทำให้ค่า pH เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน ผลสำเร็จจากโครงการแกล้งดินทำให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจได้อีกครั้ง ทั้งยังมีการนำไปใช้นอกพื้นที่ อาทิ หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง และโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวในนราธิวาส เช่น บ้านโคกอิฐ-โคกใน บ้านยูโย บ้านโคกกระท่อง บ้านโคกงู บ้านโคกชุมบก บ้านปลักปลา บ้านบาวง โครงการพื้นฟูและพัฒนาการเกษตรในเขตลุ่มน้ำบางนรา และโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานี

กังหันน้ำชัยพัฒนา
     เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยเพื่อการบำบัดน้ำเน่าเสีย นวัตกรรมประยุกต์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน

     ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2531 กรุงเทพมหานครและปริมณฑลประสบกับปัญหา น้ำเน่าเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริให้ใช้น้ำดีไล่น้ำเสียและใช้วิธีกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวาและพืชน้ำต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถบรรเทาความเน่าเสียที่รุนแรงมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัยเครื่องบำบัดน้ำเสียร่วมกับกรมชลประทานและเป็นที่มาของนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา”



     เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบท่อนลอย ภายใต้แนวคิดการเติมออกซิเจนลงในน้ำเสีย สร้างขึ้นตามต้นแบบ “หลุก” อุปกรณ์วิดน้ำเข้านา ลักษณะเป็นโครงกังหันวิดน้ำรูป 12 เหลี่ยม วิดตักน้ำขึ้นไปบนผิวน้ำแล้วปล่อยให้ตกลงยังผิวน้ำตามเดิม การวิดน้ำทำให้ออกซิเจนในอากาศสัมผัสกับน้ำและละลายเข้าในน้ำได้รวดเร็ว และยังทำให้ฟองอากาศจมลงใต้ผิวน้ำด้วย นอกจากนี้การโยกตัวของทุ่นลอยขณะทำงานยังช่วยให้แผ่นไฮโดรฟอยล์ใต้เครื่องกลใต้น้ำ สามารถดันน้ำให้เคลื่อนที่ผสมผสานกับออกซิเจนในระดับความลึกใต้ผิวน้ำได้ด้วย เครื่องมือนี้จึงมีความสามารถทั้งทำให้เกิดกระบวนการการเติมอากาศ การกวนแบบผสมผสาน และการทำให้น้ำเสียไหลไปตามทิศทางที่กำหนด โดยพร้อมๆ กัน



     นวัตกรรมเครื่องกลเติมอากาศ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” มีคุณสมบัติในการถ่ายเทออกซิเจนได้สูงถึง 1.2 กิโลกรัมของออกซิเจน/แรงม้า/ชั่วโมง เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติว่าสามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างเอนกประสงค์ ประหยัดค่าใช่จ่าย ติดตั้งง่าย เหมาะสำหรับใช้ในแหล่งน้ำ ธรรมชาติที่มีความลึกมากกว่า 1 เมตร ความกว้างมากกว่า 3 เมตร ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นจนสัตว์น้ำสามารถอาศัยอยู่ได้

     กังหันน้ำชัยพัฒนา นับเป็นเทคโนโลยีที่มีความเรียบง่ายและให้ประสิทธิภาพสูง ได้รับการจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 เป็นสิทธิบัตร ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก

โครงการฝนหลวง
     กรรมวิธีทำฝนเทียมกับเมฆอุ่นโดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนในพื้นที่ที่มีความจำเป็น

     โครงการฝนหลวงเป็นโครงการทำฝนเทียมในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรในถิ่นทุรกันดารที่ประสบปัญหาฝนไม่ตกตามฤดูกาล ขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ก่อนมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทดลองปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงจนเป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2516

     นวัตกรรมการทำฝนเทียมคือการทำให้เมฆที่มีอยู่แล้วมีขนาดใหญ่ขึ้น แล้วเร่งการกลั่นตัวของเมฆให้เกิดเป็นน้ำฝนตกลงมา สามารถแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ ขั้นก่อกวน ขั้นเลี้ยงให้อ้วน และขั้นโจมตี ขั้นก่อกวน เป็นการเร่งให้เกิดการรวมตัวของเมฆด้วยการก่อกวนสมดุลของมวลอากาศเป็นแห่งๆ โดยให้เครื่องบินบินไปบริเวณต้นลมแล้วโปรยผงเกลือแป้ง (โซเดียมคลอไรด์) ขวางทิศทางลม โซเดียมคลอไรด์ทำหน้าที่เป็นแกนดูดซับความชื้นที่มีอยู่ในอากาศ และกลั่นตัวเป็นเม็ดน้ำเล็กๆ ที่รวมตัวเป็นเมฆ



     ขั้นเลี้ยงให้อ้วน เร่งให้เมฆก่อตัวจนมีขนาดใหญ่และหนาแน่นยิ่งขึ้นโดยการโปรยสารแคลเซียมคลอไรด์ไปยังกลุ่มเมฆที่ระดับความสูง 8,000 ฟุต บริเวณ ใต้ลมของขั้นตอนแรก แคลเซียมคลอไรด์เป็นสารสูตรร้อนที่เมื่อดูดซับความชื้นในอากาศแล้วจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนรวมตัวกันเป็นเม็ดน้ำขนาดใหญ่ขึ้น ความร้อนยังช่วยเร่งให้เมฆก่อยอดสูงขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน จากนั้นก็ถึงขั้นตอนของการโจมตี หากยอดเมฆก่อตัวสูงไม่เกิน 15,000 ฟุต จะใช้เทคนิคการโจมตีแบบแซนด์วิชโดยใช้เครื่องบินสองลำ เครื่องแรกจะโปรยผงเกลือแป้งที่ระดับความสูง 10,000 ฟุต เพื่อให้เป็นแกน ดูดซับความชื้นทำให้เม็ดน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นและร่วงหล่นลงมารวมกับ เม็ดน้ำที่อออยู่ที่ฐานเมฆ ส่วนเครื่องที่สองจะบินทำมุมเยื้องกันกับ ลำแรก 45 องศา และโปรยผงยูเรียบริเวณฐานเมฆกลุ่มเดียวกัน เพื่อทำให้อุณหภูมิเย็นลงจนเม็ดน้ำกลั่นตัวเป็นฝน

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเห็นสมควรให้จดสิทธิบัตรการทำฝนหลวงในชื่อ “การดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน” มีการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวงในหลายประเทศ อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป 30 ประเทศ ฮ่องกง และกำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา

โครงการทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง
โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

     นวัตกรรมพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาพลังงานขาดแคลน เพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกร

     จากปัญหาพลังงานขาดแคลนไปทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีวิสัยทัศน์ในการพึ่งพาตนเองทางพลังงานแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งเมื่อปี พ.ศ. 2528 ให้ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา นำพืชผลทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงในรูปแบบต่างๆ เพื่อทดลองทำพลังงานทดแทน และยังเป็นการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำอีกทางหนึ่ง



     โครงการทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงเริ่มจากการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย โดยใช้วิธีหมักเพื่อให้ได้เอทธิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลประมาณ 10-11% และทำการกลั่นจนได้ 91% ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแอลกอฮอล์ ขณะที่ชานอ้อยที่เหลือมีการนำไปผสมกับแกลบบดเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง จากนั้นในปี พ.ศ. 2537 จึงมีการขยายกำลังการผลิตแอลกอฮอล์ให้มีปริมาณเพียงพอที่จะใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ ทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินได้ 10%

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำริต่อเนื่องให้ทดลองนำน้ำมันพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยเริ่มศึกษาจากน้ำมันปาล์มจนพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ จากนั้นจึงเริ่มการผลิตไบโอดีเซล คือน้ำมันดีเซลที่ได้จากพืชน้ำมันตามธรรมชาติ อาทิ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ทานตะวัน และสัตว์ โดยมีการปรับปรุงจนมีคุณภาพเหมาะสมในการใช้งานกับเครื่องยนต์รอบต่ำ หรือต้องนำมาผสมกับน้ำมันดีเซล และเนื่องจากไบโอดีเซลไม่มีส่วนประกอบของสารซัลเฟอร์ จึงเป็นการเผาไหม้โดยสมบูรณ์ไม่เกิดควันดำทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย



ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
25 ตุลาคม พ.ศ.2555


     “นวัตกรรมของพระองค์ท่านไม่เคยล้าสมัย เพราะทรงทำเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ชีวิตต้องดำเนินไปทุกวัน เราทุกคนต้องปรับปรุงชีวิตให้ทันกับกาลและเวลา สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดในนวัตกรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้าง ท่านทรงนำสิ่งที่อยู่รอบๆ พระองค์มาประกอบกันเป็นสิ่งใหม่ ยกตัวอย่างง่ายๆ ทอดพระเนตรเห็นน้ำเน่า ทอดพระเนตรเห็นผักตบชวา ก็ทรงนำสองอย่างมาสู้กัน กลายเป็นนวัตกรรมเรื่องผักตบชวาช่วยบำบัดฟื้นฟูน้ำเสียได้ เป็นที่มาของโครงการใหญ่ๆ อย่าง ‘แหลมผักเบี้ย’ หรือเรามองเห็นก้อนเมฆคือก้อนเมฆ แต่พระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นเป็นไอน้ำ แล้วทรงคิดว่าจะทำอย่างไรให้เราเอาน้ำที่อยู่บนฟ้าลงมาให้ใช้ประโยชน์ได้ ทรงคิดค้นจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการฝนหลวง”


ข้อมูลอ้างอิง
โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา https://www.kanchanapisek.or.th/kp1 
มูลนิธิชัยพัฒนา https://www.chaipat.or.th 
คลังปัญญาไทย https://www.panyathai.or.th 


แหล่งที่มา นิตยสาร plook ฉบับที่ 24 ประจำเดือน ธันวาคม 2012 (ผู้เขียนบทความ ศรินทร เอี่ยมแฟง)