บทเรียนออนไลน์ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา เรื่อง ชีวิตและครอบครัว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 58.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

ชีวิตและครอบครัว

 

 

อนามัยเจริญพันธุ์
อนามัยเจริญพันธุ์มีองค์ประกอบทั้งสิ้น 10 องค์ประกอบ คือ
     1. การวางแผนครอบครัว มักเกี่ยวข้องกับการคุมกำเนิดและการค้นหาสาเหตุที่ไม่มีบุตร
     2. การอนามัยแม่และเด็ก เป็นการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้หญิงตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังการตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพดีของแม่และทารกในครรภ์
     3. โรคเอดส์ เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมหรือบกพร่อง เนื่องจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี
     4. มะเร็งระบบสืบพันธุ์ ส่งผลต่อสุขภาพและความเจ็บป่วยของบุคคลทั้งเพศชายและหญิง โดยเฉพาะบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 35–40 ปีขึ้นไป
     5. โรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยของบุคคล การมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
     6. การแท้งและภาวะแทรกซ้อน มีทั้งการแท้งเองตามธรรมชาติและการทำแท้ง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งได้
     7. ภาวะการมีบุตรยาก สาเหตุเกิดได้ทั้งเพศหญิงและชาย เพศชายเกิดจากมีเชื้ออสุจิน้อยหรือไม่แข็งแรง ส่วนหญิงอาจเกิดจากความผิดปกติของการตกไข่
     8. เพศศึกษา เป็นกระบวนการทางการศึกษาเพื่อให้บุคคลมีความรู้และพฤติกรรมเกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างถูกต้องเหมาะสม
     9. อนามัยวัยรุ่น คือ ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของวัยรุ่นด้านต่าง ๆ โดยเน้นเรื่องเพศศึกษาเป็นสำคัญ
     10. ภาวะหลังวัยเจริญพันธุ์และผู้สูงอายุ

 

 

คู่สมรสควรร่วมกันวางแผนการมีบุตร

 


การอนามัยแม่และเด็ก

 

 

มารดาควรเลี้ยงดูทารกด้วยนมตนเอง

 


     – ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ มีทั้งอายุของผู้ตั้งครรภ์ โรคประจำตัว ระยะเวลาการตั้งครรภ์ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนและการคลอดผิดปกติ
     – การดูแลสุขภาพมีความสำคัญทั้งก่อนการตั้งครรภ์ ที่ต้องศึกษาหาคู่ครองที่เหมาะสม การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ระหว่างตั้งครรภ์ ควรรับประทานอาหารให้ครบหมู่ ออกกำลังกายที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และหลังการคลอดเพื่อให้อวัยวะในระบบสืบพันธุ์กลับคืนสู่สภาพปกติ 


การวางแผนครอบครัว ประกอบด้วย
     1. การเร่งกำเนิด ทำให้คู่สมรสที่มีบุตรยากสามารถมีบุตรได้ตามความต้องการ
     2. การเลือกกำเนิด เป็นการเจาะจงเลือกเพศของบุตรให้ได้ตามที่ต้องการ
     3. การคุมกำเนิด เป็นการป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิของผู้ชายผสมกับไข่ของผู้หญิงในระยะที่สามารถทำให้เกิดการปฏิสนธิได้เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งปฏิบัติได้ 2 ลักษณะคือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เช่นการทานยาคุมกำเนิด สวมถุงยางอนามัย และแบบถาวร เช่นการทำหมัน


ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวและผลกระทบ คือ
     1. ไม่มีเวลาให้แก่กัน ไม่มีเวลาพูดคุยกัน จนเกิดความขัดแย้งได้
     2. ขาดความตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง
     3. นิสัยและความเคยชินส่วนตัว
     4. การใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหาต่าง ๆ ในครอบครัว


แนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว
     1. แสดงอารมณ์และความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรเก็บความรู้สึก
     2. ให้โอกาสชี้แจงเหตุผล และควรฟังอีกฝ่ายชี้แจงเหตุผลอย่างตั้งใจ ไม่ควรรีบตัดสิน
     3. พูดถึงแต่สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาที่แท้จริงในปัจจุบัน
     4. ใช้คำพูดที่นุ่มนวล สุภาพ และสื่อสารให้เข้าใจในประเด็นปัญหาที่ตรงกัน
     5. ยึดหลักการประนีประนอม โดยทั้งสองฝ่ายตกลงคนละครึ่งทางด้วยความเต็มใจ

 

คำสำคัญ  อนามัยเจริญพันธุ์  การวางแผนครอบครัว  การคุมกำเนิด  การทำหมัน  การเร่งกำเนิด  การอนามัยแม่และเด็ก  การฝากครรภ์  โรคเอดส์  มะเร็งระบบสืบพันธุ์  โรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์  การทำแท้ง  เพศศึกษา  อนามัยวัยรุ่น  การตั้งครรภ์อันตราย  การอนามัยแม่และเด็ก 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th