บทเรียนออนไลน์ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา เรื่อง เพิ่มพูนทักษะการเคลื่อนไหว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 15.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

เพิ่มพูนทักษะการเคลื่อนไหว

 

 

วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวกับการสร้างเสริมประสิทธิภาพของการเล่นกีฬา
การเคลื่อนไหว มี 3 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ
     1. การเคลื่อนไหวจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง (translation or linear motion) คือ การที่วัตถุหรือร่างกายย้ายตำแหน่งจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง อาจเป็นแนวตรง แนวเส้นโค้ง หรือแนวเส้นตรงผสมเส้นโค้ง
     2. การเคลื่อนไหวโดยการหมุน (rotation or angular motion) คือ การเคลื่อนไหวรอบจุดศูนย์กลางของการหมุนหรือจุดศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวจุดหนึ่ง แบ่งได้ 2 แบบ คือ
          1) การเคลื่อนไหวแบบหมุนในลักษณะที่จุดศูนย์กลางของการหมุนอยู่นอกแกนกลางของวัตถุ เรียกว่า “angular motion” เช่น การเล่นบาร์เดี่ยวในกีฬายิมนาสติก
          2) การเคลื่อนไหวแบบหมุนในลักษณะที่จุดศูนย์กลางของการหมุนข้ามหรือซ้อนอยู่บนแกนกลางของการเคลื่อนไหวนั้นพอดี เรียกว่า “rotation motion” เช่น การเอี้ยวตัวโดยไม่เอนลำตัว
     3. การเคลื่อนไหวทั้งสองแบบร่วมกัน (combine motion) เช่น คนถีบจักรยาน ลำตัว แขน ศีรษะ จะเคลื่อนจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง คือ เคลื่อนไปแนวเดียวกัน


การออกกำลังกายด้วยกิจกรรมกายบริหาร
     จุดประสงค์หลัก คือ เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนที่จะปฏิบัติกิจกรรม (warm–up) หรือนำมาผ่อนคลายกล้ามเนื้อ (cool–down)
หลักปฏิบัติเกี่ยวกับการออกกำลังกายด้วยกิจกรรมกายบริหาร
     1. ผ่อนคลายจิตใจก่อนปฏิบัติกิจกรรมกายบริหาร เพื่อให้เกิดสมาธิ
     2. เริ่มจากรูปแบบกายบริหารที่เบาไปสู่รูปแบบกายบริหารที่หนักขึ้น โดยยืดหรือเหยียดกล้ามเนื้ออย่างช้า ๆ
     3. ขณะปฏิบัติกิจกรรมในแต่ละท่า ไม่ควรกลั้นหายใจ เพราะอาจขาดออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และการนับจะช่วยให้รักษาช่วงจังหวะของการบริหารกายได้
     4. กายบริหารต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเสริมสมรรถภาพทางกายให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
     5. ควรปฏิบัติกิจกรรมกายบริหารด้วยท่าทางรูปแบบต่าง ๆ ไม่ควรบริหารด้วยท่าใดท่าหนึ่งเฉพาะ
การจัดการท่าทางเบื้องต้นในการปฏิบัติกิจกรรมกายบริหาร
     การยืดและเหยียดกล้ามเนื้อ (stretching) เป็นการจัดการท่าทางเบื้องต้นเพื่อเตรียมพร้อมในการปฏิบัติกิจกรรมที่มีความหนักมากขึ้น
ประเภทและรูปแบบการฝึกกิจกรรมกายบริหาร
     แบ่งได้ 4 ประเภท คือ
     1. การฝึกกายบริหารแบบมือเปล่า (non–equipment exercise)
     2. การฝึกกายบริหารแบบหมุนเวียน (circuit exercise)
     3. การฝึกกายบริหารแบบเกร็งกล้ามเนื้อ (isometric exercise)
     4. การฝึกกายบริหารแบบยกน้ำหนัก (weight exercise)


กิจกรรมนันทนาการกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต
     การตัดสินใจในการเลือกกิจกรรมนันทนาการ ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ความสนใจ ความถนัด ความปลอดภัย สภาพร่างกาย ความเหมาะสมกับเพศและวัย ฐานะ ประเพณีและศีลธรรม รวมถึงควร เลือกกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง ควรสนใจกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย เพื่อจะได้เกิดการพัฒนาทักษะที่หลากหลาย


กีฬาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
     กีฬากระบี่ เป็นกีฬาการต่อสู้ป้องกันตัวดั้งเดิมของไทย ซึ่งดัดแปลงมาจากรูปแบบการรบสมัยโบราณ มีทักษะที่สำคัญ คือ ทักษะการรำซึ่งแบ่งออกเป็น 12 ท่าไม้รำ ทักษะการเตรียมต่อสู้ และทักษะการต่อสู้
     กีฬาบาสเกตบอล เป็นกีฬาประจำชาติของสหรัฐอเมริกา จัดเป็นกีฬาประเภททีม ประกอบด้วยผู้เล่นฝ่ายละ 5 คน มีจุดมุ่งหมายนำลูกบาสเกตบอลโยนลงห่วงประตูของฝ่ายตรงข้าม และป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายครอบครองบอลทำคะแนน ทักษะที่สำคัญคือ ทักษะพื้นฐานในการเคลื่อนที่ ทักษะพื้นฐานในการหยุด ทักษะการครอบครองบอล ทักษะการส่งลูกบาสเกตบอล ทักษะการรับและการเลี้ยงลูกบาสเกตบอล รวมถึงทักษะการยิงประตูบาสเก็ตบอล


คำสำคัญ  วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว  การขว้างจักร  การกระโดดสูง  การพุ่งแหลน  กายบริหาร  การออกกำลังกาย  การยืดและเหยียดกล้ามเนื้อ  กายบริหารแบบมือเปล่า  กายบริหารแบบหมุนเวียน  กายบริหารแบบเกร็งกล้ามเนื้อ  กายบริหารแบบยกน้ำหนัก  กิจกรรมนันทนาการ  กีฬากระบี่  กีฬาบาสเกตบอล 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th