บทเรียนออนไลน์ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา เรื่อง ชีวิตปลอดภัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 38.7K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

ชีวิตปลอดภัย

 


การช่วยเหลือผู้ติดสารเสพติด
     แนวทางในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด มี 4 ขั้นตอน ดังนี้
     ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการก่อนบำบัดรักษา (pre–admission) เป็นขั้นตอนการศึกษาประวัติและทำความเข้าใจตัวผู้ติดสารเสพติดและครอบครัว เพื่อจะได้วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุในการเสพ และให้คำแนะนำแก่ครอบครัวผู้ติดสารเสพติด
     ขั้นตอนที่ 2 ขั้นการถอนพิษยา (detoxification) มีเป้าหมายคือ ให้ผู้ติดสารเสพติดพ้นสภาวะการติดสารเสพติด มีหลายวิธี ได้แก่ การหักดิบ การให้ยาทดแทน เป็นที่นิยมมาก โดยใช้ยาฝิ่นหรือสารสังเคราะห์ เช่น เมทาโดน เป็นยาทดแทน และการให้ยาเพื่อต้านฤทธิ์สารเสพติด

 

 

การให้คำปรึกษาและอบรมแก่ผู้รับการบำบัดเพื่อเลิกเสพสารเสพติด

 


     ขั้นตอนที่ 3 ขั้นการฟื้นฟูสมรรถภาพ (rehabilitation) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บุคลิกภาพ ให้มีความเข้มแข็งและพ้นจากสภาวะการติดสารเสพติดทางใจได้
     ขั้นตอนที่ 4 การติดตามผล (follow–up/after–care) เพื่อให้คำแนะนำและกำลังใจ ไม่ให้กลับไปเสพอีก


การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงและสถานการณ์เสี่ยง
     พฤติกรรมเสี่ยงและสถานการณ์เสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงที่จะกระทำหรือเข้าไปเกี่ยวข้อง
     1. การใช้ชีวิตที่อยู่ในภาวะเร่งรีบ
     2. การเกี่ยวข้องกับอบายมุข เช่น การเล่นการพนัน การเสพสารเสพติด
     3. การมีพฤติกรรมที่ชอบท้าทาย และฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การขับรถด้วยความเร็วสูง
     4. การกระทำที่ขาดความรู้ หรือขาดทักษะในการทำงาน
     5. การไม่ใช้เครื่องมือป้องกันในกรณีที่มีกฎบังคับให้สวมใส่
     6. การปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยขาดการควบคุมทางอารมณ์


ทักษะชีวิตในการป้องกันอันตรายและสถานการณ์ที่คับขัน
     คือ “ความสามารถในการตัดสินใจแก้ปัญหาและการปรับตัวเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากสถานการณ์ที่บุคคลกำลังเผชิญกับอุบัติเหตุหรือปัญหาต่าง ๆ ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อให้ระดับความรุนแรงลดลงหรือไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน”


แนวทางการใช้ทักษะชีวิตเพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากภัยอันตรายและสถานการณ์ที่คับขัน
หลักปฏิบัติทั่วไป:
     1. พยายามรวบรวมสติ ใช้สติวิเคราะห์เหตุการณ์ที่กำลังประสบดังกล่าว
     2. หากเป็นปัญหาทางอารมณ์ ให้คิดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และหาทางแก้ไข
     3. หากประสบภัยอันตรายหรือสถานการณ์คับขันเป็นหมู่คณะ หากช่วยเหลือผู้อื่นได้ ควรรีบช่วยเหลือทันที
     4. รวบรวมสติเพื่อตัดสินใจที่จะเลือกวิธีการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
     5. พยายามจดจำ สังเกต และบันทึกเหตุการณ์รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอันตราย เพื่อประโยชน์ในด้านการบำบัดรักษา ตลอดจนใช้ประกอบการพิจารณาคดีความ

 

 

สภาพผลกระทบและความเสียหายของอาคารบ้านเรือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

 


หลักปฏิบัติเฉพาะกรณี: สิ่งสำคัญคือตั้งสติให้ได้ และพิจารณาจากสถานการณ์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงลักษณะของสถานการณ์คับขันนั้น ๆ ว่ามีรูปแบบอย่างไร เช่น ภัยจากการสัญจรทางเท้า จากรถยนต์ จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อหาทางแก้ไขและจัดการกับปัญหาได้ทันท่วงทีและอย่างถูกต้องเหมาะสม

 

 

สภาพความเสียหายหลังการเกิดเหตุการณ์สึนามิ

 


คำสำคัญ  สารเสพติด  ลงแดง  เมทาโดน  พฤติกรรมเสี่ยง  สถานการณ์เสี่ยง  ทักษะชีวิต  ภัยอันตราย  สถานการณ์คับขัน  แผ่นดินยุบ  ธรณีพิบัติภัย  สึนามิ  เหตุฉุกเฉินทางด้านสุขภาพ

 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th