บทเรียนออนไลน์ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา เรื่อง ชีวิตปลอดภัย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 22.8K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

 

ชีวิตปลอดภัย

 

 

การปฐมพยาบาล
     คือ การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับอุบัติภัยหรือเจ็บป่วยกระทันหันโดยใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่พอจะหาได้ในบริเวณนั้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยและช่วยให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายน้อยลง ก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาพยาบาลต่อไป


หลักสำคัญในการปฐมพยาบาล
     – แนวทางการปฏิบัติระหว่างก่อนทำการปฐมพยาบาล
          1. มีสติและใช้จิตวิทยาในการพูดให้กำลังใจผู้ป่วยที่ยังมีสติ
          2. สังเกตและควรทราบอาการบาดเจ็บของผู้ป่วย โดยสามารถทราบอาการจากผู้ป่วยเอง หรือถามผู้เห็นเหตุการณ์ สังเกตสิ่งแวดล้อมภายในที่เกิดเหตุ
     – แนวทางการปฏิบัติในขณะทำการปฐมพยาบาล
          1. อย่าให้คนมุงผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับอากาศบริสุทธิ์
          2. พิจารณาอาการของผู้ป่วยอย่างรอบคอบและรวดเร็ว เพื่อตัดสินใจดำเนินการได้อย่างถูกต้อง
          3. สังเกตและตรวจการเต้นของชีพจรและการหายใจตลอดเวลา และรีบผายปอดทันทีหากผู้ป่วยหยุดหายใจ
          4. อย่าให้ยาหรือเครื่องดื่มใด ๆ ทางปาก หากผู้ป่วยหมดสติหรือช็อก
          5. หากผู้ป่วยหมดสติ ให้นอนคว่ำแล้วตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก
          6. ผู้ป่วยชัก ให้รีบนำผ้าหนา ๆ ที่สะอาด พันช้อนสอดไว้ระหว่างฟันบนกับฟันล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกัดลิ้นตนเอง
          7. ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยให้เห็นบาดแผลได้เต็มที่ ถ้าพบว่าบาดแผลมีเลือดออกมากให้รีบห้ามเลือด
          8. ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายโดยให้กระทบกระเทือนผู้ป่วยน้อยที่สุด


ประโยชน์ของการปฐมพยาบาล
     1. เพื่อช่วยพยุงชีวิตเอาไว้ ได้แก่ ช่วยในการหายใจ ช่วยห้ามเลือด
     2. ให้ผู้ป่วยคลายความทุกข์ทรมานและไม่ให้มีการบาดเจ็บมากขึ้นไปอีก
     3. ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ได้แก่ การดูแลและให้กำลังใจ การให้ยาแก้ปวด การให้ความอบอุ่น


การปฐมพยาบาลในกรณีเกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย
การปฐมพยาบาลในกรณีเกิดบาดแผล
     บาดแผล หมายถึง รอยฉีกขาดของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อ และส่วนที่ลึกกว่าชั้นผิวหนังถูกทำลาย ทำให้แยกจากกันชนิดของบาดแผล แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
     แผลช้ำ คือแผลที่ไม่มีรอยแยกของผิวหนังเกิดจากการถูกของแข็งไม่มีคมกระแทก แต่อาจมีอาการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง

 

 

การใช้ถุงน้ำแข็งประคบบาดแผลฟกช้ำเพื่อทำให้เลือดหยุดไหลและลดอาการบวม

 


     แผลแยก คือแผลที่มีรอยแยกของผิวหนัง ซึ่งทำให้มีเลือดออกมาได้ แผลบางประเภทมีเลือดออกมาก บางประเภทมีเลือดออกน้อย

 

 

การห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดทับลงบนบาดแผล

 


     การปฐมพยาบาล แผลช้ำ ควรประคบบริเวณช้ำด้วยความเย็น เพื่อทำให้เส้นเลือดตีบไม่มีเลือดไหลออกมาอีก
     การปฐมพยาบาลแผลแยก ในกรณีมีบาดแผลผิวหนังถลอก ใช้น้ำสะอาดล้างแผลแล้วซับให้แห้งใช้ยาทาแผลสดทาให้ทั่วบริเวณที่ถลอก ไม่ต้องปิดบาดแผล ถ้าแผลนั้นไม่อยู่ในตำแหน่งที่สกปรกหรือถูกน้ำได้ง่าย
     บาดแผลที่เกิดจาก ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก การปฐมพยาบาลผู้ป่วยแผลลวก ควรปฏิบัติ ดังนี้
          – ถอดหรือตัดเสื้อผ้าบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก
          – ควรใช้น้ำเย็นราดบริเวณผิวหนังที่ถูกความร้อน เพื่อลดความร้อนที่จะไปทำลายผิวหนัง
          – ปิดด้วยผ้าก๊อตเพื่อป้องกันมิให้ถูกอากาศภายนอก ใช้ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก หรือ ขี้ผึ้ง วาสลิน ทาบนผ้าก๊อสปิดบริเวณแผล
          – ถ้าถูกสารเคมีต้องรีบล้างสารเคมีนั้นออกจากผิวหนังด้วยน้ำสะอาดโดยเร็วที่สุด


การปฐมพยาบาลเมื่อหมดสติ เป็นลม
     เป็นลมคือ อาการหมดสติเพียงชั่วคราว เนื่องจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เหนื่อยหรือร้อนจัด หิวหรือเครียด ควรให้การปฐมพยาบาล ดังนี้
     – ตรวจดูในปากว่ามีสิ่งอุดตันทางเดินหายใจหรือไม่ ถ้ามีต้องรีบนำออกโดยเร็ว
     – จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่เหมาะสม โดยให้ผู้ป่วยนอนตะแคงคว่ำไปด้านใดด้านหนึ่ง
     – คลายเครื่องนุ่งห่มให้หลวม และห้ามให้น้ำหรืออาหารทางปาก
     – ถ้ามีอาการชักให้ใช้ผ้าม้วนเป็นก้อนสอดระหว่างฟันบนกับฟันล่างเพื่อกันผู้ป่วยกัดลิ้นตนเอง
     ข้อสังเกต ถ้าใบหน้าผู้ที่เป็นลมขาวซีด ให้นอนศีรษะต่ำ ถ้าใบหน้ามีสีแดงให้นอนศีรษะสูง
     อาการช็อค หมายถึง สภาวะที่เลือดไม่สามารถนำออกซิเจน ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกายให้เพียงพอได้ การช่วยเหลือผู้ป่วยควรทำ ดังนี้
     – นำเข้าพักในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
     – ให้นอนราบไม่ต้องหนุนศีรษะ และควรนอนยกปลายเท้าสูง ในช่วง 30 นาทีแรกเท่านั้น
     – คลายเสื้อผ้าให้หลวม และทำการห้ามเลือดในกรณีที่มีบาดแผลเลือดออก
     – ห้ามให้อาหารและน้ำทางปาก ควรสังเกตุการหายใจเป็นระยะๆ และรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน


การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
หลักในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
     1. ตรวจดูว่าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในส่วนใดของร่างกาย เพื่อจะได้ระมัดระวังในส่วนนั้นเป็นพิเศษ
     2. ทำการปฐมพยาบาลก่อนที่จะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยก่อนทำการปฐมพยาบาลได้ ถ้าบริเวณที่ผู้ป่วยประสบเหตุมีอันตรายและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
     3. เลือกวิธีการเคลื่อนย้ายและเลือกใช้อุปกรณ์ประกอบการเคลื่อนย้ายให้เหมาะสมกับอาการบาดเจ็บของผู้ป่วย และจัดท่านอนให้เหมาะสม
     4. นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด


วิธีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
     1. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีผู้ช่วยเหลือเพียงคนเดียว มีวิธีการเคลื่อนย้ายที่สำคัญ คือ
          1) วิธีพยุงเดิน ใช้เมื่อผู้ป่วยยังมีสติ
          2) วิธีอุ้มกอดด้านหน้า ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักไม่มาก รู้สึกตัว แต่เดินไม่ได้
          3) วิธีอุ้มแบก ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ

     2. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยมีผู้ช่วยเหลือตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มีวิธีการเคลื่อนย้าย คือ
          1) วิธีอุ้มเคียง กรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวหรือไม่รู้สึกตัว
          2) วิธีอุ้มเคียงสามคน สำหรับผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวและได้รับบาดเจ็บรุนแรง
          3) วิธีอุ้มประสานแคร่ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ยังมีสติ
     3. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยใช้อุปกรณ์
          1) การเคลื่อนย้ายโดยใช้เก้าอี้ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัว มีบาดแผลที่บริเวณท้อง ทรวงอก แขน หรือใช้เคลื่อนย้ายขึ้นลงบันได หรือทางแคบ ๆ ที่ไม่สามารถใช้เปลหามได้
          2) การเคลื่อนย้ายโดยใช้เปลหาม เป็นวิธีการที่ดีที่สุด


สารเสพติด
     หมายถึง สารหรือยาที่รับเข้าสู่ร่างกาย ด้วยวิธีการใดก็ตาม แล้วจะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสพ 4 ประการที่สำคัญ คือ
     1. ต้องการเสพยาหรือสารนั้นต่อไปอีก
     2. ต้องเพิ่มขนาดหรือปริมาณของสารเสพติดมากขึ้นเรื่อย ๆ
     3. มีอาการของการอยากยา หากหยุดใช้ยาหรือสารนั้น
     4. ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ


ประเภทของสารเสพติด
     1. ประเภทกดประสาท ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ทำให้สมองมึนงง ประสาทชา ง่วงซึม
     2. ประเภทกระตุ้นประสาท ได้แก่ กระท่อม โคเคอีน ยาบ้า มีฤทธิ์ทำให้ตื่นตัวตลอดเวลา แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วจะหมดแรง
     3. ประเภทหลอนประสาท ได้แก่ แอล เอส ดี เห็ดขี้ควาย ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน
     4. ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสานกัน ได้แก่ กัญชา กระท่อม โดยออกฤทธิ์กดประสาท กระตุ้นประสาท หรือหลอนประสาทร่วมกัน


สารเสพติดกับภาวะการเกิดโรค
     1. บุหรี่ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้แก่
          – โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากสารพิษในบุหรี่คือ นิโคติน
          – โรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากการได้รับแก๊สไนโตรเจนไดออกไซด์ในควันบุหรี่
          – โรคมะเร็งปอด เกิดจากสารคล้ายน้ำมันที่เรียกว่า “ทาร์” ในบุหรี่
     2. สุรากับการเกิดโรคและความเจ็บป่วย
          – โรคพิษสุราเรื้อรัง เกิดกับผู้ที่ดื่มสุราเป็นระยะเวลาหลายปีและไม่สามารถเลิกได้
          – โรคตับแข็ง เกิดกับผู้ที่ดื่มสุราจัดและดื่มติดต่อกันเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
     3. ยาบ้า การใช้ยาบ้าติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายทรุดโทรม ติดเชื้อได้ง่าย สมองเสื่อม เพราะยาบ้าทำลายเซลล์ประสาท สูญเสียความสามารถในการจำ มีอาการทางจิต
     4. เฮโรอีน จัดเป็นสารเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงที่สุด ผู้ที่เสพเป็นประจำจะทำให้สมองเสื่อม ปัญญาอ่อน เกิดโรคของระบบประสาทและโรคจิตได้ นอกจากนี้ ยังเป็นบ่อเกิดของโรคเอดส์


ทักษะการปฏิเสธสารเสพติด
     1. เดินหนีไป ทำเป็นไม่ได้ยินเมื่อมีผู้อื่นชักชวนให้เสพสารเสพติด
     2. ปฏิเสธด้วยถ้อยคำที่เน้นย้ำอย่างชัดเจนว่า “ไม่” และพยายามพูดเสียงดัง ๆ ให้คนรอบข้างได้ยิน
     3. หากบุคคลที่ชักชวนมีความสนิทสนม นอกจากจะต้องปฏิเสธอย่างชัดเจนแล้ว ควรว่ากล่าวหรือชักชวนให้เลิกด้วย
     4. ปฏิเสธโดยชี้ถึงบาป บุญ คุณ โทษ และผลกรรมทางศาสนา
     5. ปฏิเสธว่ามีโรคประจำตัว เจ็บป่วย เพราะจะเป็นอันตรายต่อชีวิต
     6. ปฏิเสธเพราะกลัวโทษที่จะได้รับทางกฎหมาย จากโรงเรียน หรือจากผู้ปกครอง
     7. ชักชวนให้ผู้ที่ชวนให้เราเสพสารเสพติดทำกิจกรรมอื่น ๆ แทน
     8. เปลี่ยนเป็นพูดเรื่องอื่นแทรกขึ้นมาทันทีแทนการปฏิเสธ หรือทำเป็นไม่เข้าใจในสิ่งที่พูด


คำสำคัญ  การปฐมพยาบาล  บาดแผล  แผลช้ำ  แผลแยก  เป็นลม  เป็นลมร้อน  เป็นลมแดด  กระดูกหัก  การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย  สารเสพติด  บุหรี่  เฮโรอีน  ยาบ้า  นิโคติน  อาการลงแดง 

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th