เกร็ดความรู้เรื่อง “พายุ”
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 38.1K views




     ข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติของโลกในช่วงนี้ (ต.ค.2559) ทั้งโลกคงต้องส่งแรงกำลังใจและความช่วยเหลือไปให้ประเทศเฮติที่ถูกพายุเฮอริเคนแมทธิว (Hurricane Matthew) ถล่มหนัก จนทำให้ล่าสุด (7 ต.ค.2559) มียอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นกว่า 340 ราย (คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก) นับเป็นมหาภัยพิบัติอีกครั้งที่เฮติต้องเผชิญหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2553 และขณะนี้พายุเฮอริเคนแมทธิวกำลังเคลื่อนตัวเข้าถล่มรัฐฟลอลิดา ประเทศสหรัฐอเมริกา



จากรายงานของ CNN WEATHER เมื่อ 5 ต.ค. 2559 เสนอให้เห็นภาพถ่ายดาวเทียมที่นาซาบันทึกพายุเฮอริเคนแมทธิวมีรูปร่างเหมือนหัวกะโหลกแสยะยิ้มขณะเคลื่อนที่เหนือเฮติ



ภาพพายุเฮอริเคนแมทธิวที่นาซาบันทึกได้จากกล้องที่ติดไว้นอกสถานีอวกาศเมื่อ 3 ต.ค.2559


     เฮอริเคนแมทธิว (ตุลาคม 2559) เป็นพายุหมุนเขตร้อน ความเร็วลมสูงสุด 230 กม./ชม. ถือว่าเป็นพายุเฮอริเคนที่มีกำลังแรงที่สุดในทะเลแคริบเบียนในรอบเกือบ 1 ทศวรรษ นับแต่พายุเฮอริเคนฟีลิกซ์ที่พัดถล่มชายฝั่งนิการากัวในปี 2550

     ในขณะเดียวกันทางฝั่งเอเชียของเรา พายุไต้ฝุ่นชบา (5 ตุลาคม 2559) แผลงฤทธิ์ซัดคลื่นสูงน้อง ๆ สึนามิถล่มทางภาคใต้ของเกาหลีใต้จนเกิดน้ำท่วมสูงทำให้มีผู้เสียชีวิต สูญหาย และทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก

     ทั้งเฮอริเคน ทั้งไต้ฝุ่น เกิดขึ้นได้อย่างไร มีโอกาสเกิดขึ้นในไทยหรือเปล่า เรามีเกร็ดความรู้เรื่องพายุมาฝากกัน

     พายุ คือ สภาพบรรยากาศที่ถูกรบกวนแบบใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อพื้นผิวโลก และบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่รุนแรง เมื่ออากาศ 2 บริเวณมีอุณหภูมิแตกต่างกันอย่างมาก อากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้น อากาศในแนวราบที่อุณหภูมิต่ำกว่าจึงเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดการหมุนของอากาศจนส่งผลให้เกิดเป็นพายุ



     ความรุนแรงของพายุมีปัจจัยสำคัญ คือ ความเร็วใกล้ศูนย์กลาง ซึ่งอาจสูงถึง 400 กม./ชม. ความเร็วของการเคลื่อนตัว ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ และขนาดความกว้างหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวพายุ ซึ่งบอกถึงอาณาบริเวณที่จะได้รับความเสียหายว่าครอบคลุมเท่าใด

     ความรุนแรงของพายุมีมาตรวัดความรุนแรงคล้ายหน่วยริกเตอร์ของการวัดความรุนแรงแผ่นดินไหว มักจะมีความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ โดยหน่วยวัดความเร็วในการเคลื่อนที่ของพายุจะใช้หน่วยวัดสากลเป็น นอต (Knot) 1 นอต = ความเร็ว 1 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง

     พายุแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
     1. พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm)
     มีลักษณะเป็นลมพัดย้อนไปย้อนมา หรือพัดเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน อาจเกิดจากพายุที่อ่อนตัวและลดความรุนแรงของลมลง หรือเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องความกดอากาศต่ำ อาจไม่มีทิศทางที่แน่นอน หากสภาพการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ของการเกิดฝนเหมาะสมก็จะเกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง มักมีลมแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฝนตกหนัก เกิดขึ้นพร้อมกัน โดยมากเกิดในเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตร



     2. พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclone)
     มีลักษณะเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100 กม.ขึ้นไป จะเกิดขึ้นในเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตรโดยก่อตัวบริเวณผิวน้ำทะเลและมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตรจะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 120 – 200 กม. / ชม.
 


          พายุหมุนเขตร้อนแบ่งได้เป็น
          2.1 พายุเฮอริเคน (Hurricane) เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่มีความรุนแรงมากที่สุด เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอลิดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กม./ชม.ขึ้นไป (64 นอต)

               ส่วนประกอบของเฮอริเคนแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ
               1.ตา (Eye) เป็นส่วนที่มีความดันต่ำ อยู่ที่จุดศูนย์กลางของการหมุน เป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำมากที่สุด ลมสงบ ท้องฟ้าโปร่ง อาจมีเมฆและฝนบ้างเล็กน้อย เรียกได้ว่าเป็นจุดที่ปลอดภัยที่สุด



               2.กำแพงตา (Eye wall) อยู่รอบตา มีความเร็วสูงมากและรุนแรง
               3.แถบฝน (Rain bands) หมุนอยู่รอบตา เป็นส่วนที่ไอน้ำกลั่นตัวเป็นพายุฝน

               ความเร็วลมของพายุเฮอริเคน แบ่งตามสเกลเฮอริเคนของแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน เป็น 5 ระดับ ดังนี้

ระดับ

ความเร็วลม

ความเสียหาย

1

119-153 กม./ชม.

น้ำท่วมเล็กน้อย ส่งก่อสร้างยังไม่ถูกทำลาย

2

154 – 177 กม./ชม.

ต้นไม้ล้ม หลังคาพัง

3

178 – 209 กม./ชม.

โครงสร้างของบ้านพัง และน้ำท่วมอย่างรุนแรง

4

210 – 249 กม./ชม.

น้ำท่วมอย่างรุนแรง หลังคาปลิว

5

250 กม./ชม.

น้ำท่วมอย่างรุนแรง อาจจมทั้งเมือง โครงสร้างของบ้านปลิวไปตามลม

 

เฮอริเคนตั้งแต่ระดับ 3, 4 และ 5 ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมาย

          2.2 พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต หรือประมาณ 118 กม./ชม.ขึ้นไป จะยังใช้ชื่อเดิมขณะเป็นพายุโซนร้อนอยู่จนกว่าจะสลายตัวไป
          2.3 พายุไซโคลน (Cyclone) เกิดในมหาสมุทรอินเดียเหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น แต่ถ้าพายุนี้เกิดขึ้นบริเวณทะเลติมอร์และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทสออสเตรเลียจะเรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี (Willy-Willy) ส่วนพายุหมุนที่เกิดในหมู่เกาะฟิลิปปินส์เรียกว่า พายุบาเกียว (Baguio)
          2.4 พายุโซนร้อน (Tropical storm) เกิดขึ้นเมื่อพายุเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลงขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางอยู่ที่ 63-117 กม./ชม (34 - 63 นอต) แต่ไม่ถึง 118 กม./ชม. (64 นอต) มีกำลังแรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงได้ รวมทั้งทำให้กิ่งไม้หักโค่น และทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ฝนที่ตกอย่างหนักทั้งวันทั้งคืนอาจทำให้เกิดน้ำป่าและแผ่นดินถล่มได้
          2.5 พายุดีเปรสชัน (Depression) เกิดขึ้นจากพายุโซนร้อนที่มีความเร็วลดลง โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 63 กม./ชม. (34 นอต) ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก มีลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว มีกำลังไม่แรงพอที่จะทำลายบ้านเรือนได้ แต่ถ้ามีฝนตกหนักมากๆ อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้



          พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชัน เนื่องจากพายุได้อ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ส่วนพายุที่มีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยน้อยมาก พายุเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป และเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด รองลงไปคือเดือนกันยายน

     3. พายุทอร์นาโด (Tornado) หรือพายุงวงช้าง
     เป็นพายุหมุนที่เกิดจากลมร้อนและลมเย็นมาเจอกันและก่อตัวให้เกิดลมหมุน มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่านศูนย์กลางน้อย ประมาณ 50 – 500 เมตร แต่หมุนด้วยความเร็วสูง โดยความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่น ๆ ซึ่งอาจเร็วถึง 500 กม./ชม. เกิดขึ้นได้ทั้งบนบกและในทะเล หากเกิดในทะเลจะเรียกว่า นาคเล่นน้ำ (water spout) บางครั้งอาจเกิดจากกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า แต่หมุนตัวยื่นลงมาจากท้องฟ้าไม่ถึงพื้นดิน มีรูปร่างเหมือนงวงช้าง จึงเรียกกันว่า ลมงวง



พายุทอร์นาโดที่เกิดในทะเล


     พายุทอร์นาโดนับเป็นพายุหมุนที่มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด ไม่สามารถคาดการณ์การเกิดล่วงหน้าได้นาน แม้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แต่ก่อความเสียหายระดับรุนแรง ในบริเวณที่พายุพัดผ่านสามารถกวาดยกบ้านเรือนทั้งหลังให้พังทลายได้ พายุทอร์นาโดสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกทวีปและในหลายประเทศ แต่พบในประเทศสหรัฐอเมริกาได้บ่อยกว่าที่อื่น



พายุทอร์นาโดที่เกิดบนบก


     ความเร็วลมของพายุทอร์นาโด แบ่งตาม Fujita scale เป็น 5 ระดับ ดังนี้
     พายุ F0 ความเร็วลม 64-116 กม./ชม.
     พายุ F1 ความเร็วลม 117-180 กม./ชม.
     พายุ F2 ความเร็วลม 181-253 กม./ชม.
     พายุ F3 ความเร็วลม 254-332 กม./ชม.
     พายุ F4 ความเร็วลม 333-418 กม./ชม.
     พายุ F5 ความเร็วลม 419-512 กม./ชม.

 

เรียบเรียงจาก :
https://www.tmd.go.th/
https://th.wikipedia.org/wiki/สเกลพายุหมุนเขตร้อน
https://th.wikipedia.org/wiki/ทอร์นาโด
https://www.enjoyday.net/
https://news.thaipbs.or.th/content/122156
https://sites.google.com/site/arisajom1013/home/search
https://edition.cnn.com/2016/10/05/health/hurricane-matthew-skull-trnd/
https://www.youtube.com/watch?v=VPy9aGCCv8U

ที่มาภาพ : pixabay.com , CNN WEATHER