บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ปิโตรเลียม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 82.2K views



ตอนที่ 1 ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบ

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้






สาระสำคัญ
          1. ปิโตรเลียมเกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันเป็นเวลานานหลายล้านปีซากพืชซากสัตว์เหล่านั้นจะรวมตัวเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิด
          2. การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม จะใช้เครื่องวัดความเร็วของคลื่นไหวสะเทือน ทำให้สามารถระบุได้ว่าลักษณะชั้นหินบริเวณใดมีโอกาสที่จะเป็นแหล่งปิโตรเลียม
          3. น้ำมันดิบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม มีสมบัติทางกายภาพแตกต่างกันไปตามชนิดของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน
          4. การแยกน้ำมันดิบจะใช้การกลั่นลำดับส่วน ซึ่งมีหลักการว่า สารที่มีมีจุดเดือดต่างกัน สามารถแยกออกจากกันด้วยความร้อน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ในแต่ละช่วงจุดเดือดจะมีลักษณะและสมบัติที่แตกต่างกัน จึงให้ประโยชน์แตกต่างกัน
          5. การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อระบบหายใจของมนุษย์

Keywords
ปิโตรเลียม : สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีทั้งที่เป็นของเหลวและแก๊ส
น้ำมันดิบ : ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
สารประกอบไฮโดรคาร์บอน : สารที่มีธาตุคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบ
การกลั่นลำดับส่วน : กระบวนการแยกของผสมออกจากกันตามความแตกต่างของจุดเดือด



กำเนิดและแหล่งปิโตรเลียม
          ปิโตรเลียม (Petroleum) หมายถึง สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีธาตุคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบ ต้นกำเนิดของปิโตรเลียมมาจากอินทรียสารซึ่งได้แก่ ซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันอยู่ในที่ต่าง ๆ รวมกับตะกอนของดินเหนียว ทราย และหินปูน เป็นเวลาหลายล้านปี ความกดดันจากชั้นหินผนวกกับความร้อนใต้พื้นผิวโลกและการสลายตัวของอินทรียสารตามธรรมชาติจะทำให้ซากพืชซากสัตว์เกิดการแปรสภาพได้เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิดปะปนกัน มีทั้งสถานะที่เป็นของเหลว คือ น้ำมันดิบหรือน้ำมันปิโตรเลียม และที่มีสถานะเป็นแก๊ส คือ แก๊สธรรมชาติ ทั้งนี้ปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของเหลวและแก๊สจะได้รับแรงเหนี่ยวนำจากความแตกต่างของความกดดันไปสู่การสะสมตัวในชั้นหรือโครงสร้างที่ถูกปิดกั้น เรียกว่า แหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ หินที่มีรูพรุน โพรงหรือช่องแตกที่ปิโตรเลียมสามารถอยู่ได้ และมีชั้นหินเนื้อละเอียด ปิดกั้นด้านบน เพื่อไม่ให้ปิโตรเลียมเล็ดลอดผ่านไปได้







          การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมจะใช้เครื่องมือวัดความเร็วของคลื่นไหวสะเทือน ซึ่งมีหลักการคือ เมื่อส่งคลื่นไปกระทบกับโครงสร้างของหินที่แตกต่างกันจะได้คลื่นสะท้อนที่แตกต่างกัน ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ลักษณะโครงสร้างของหิน และระบุชั้นว่าชั้นหินบริเวณใดมีโอกาสที่จะเป็นแหล่งปิโตรเลียม
          แหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญของโลก ได้แก่ ประเทศในแถบตะวันออกกลาง โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่ คือ ซาอุดีอาระเบีย รองลงมา ได้แก่ คูเวต อิหร่าน อิรัก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับในประเทศไทยได้ ค้นพบน้ำมันดิบแห่งแรกที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (ต่อมาเรียกว่า แหล่งน้ำมันไชยปราการ) และตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา รัฐบาลก็ได้เปิดสัมปทานให้บริษัทเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาเจาะสำรวจและดำเนินการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ทำให้ค้นพบแหล่งปิโตรเลียมกระจายอยู่ทั่วประเทศ เช่น แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ที่อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร และแหล่งแก๊สธรรมชาติมรกตในอ่าวไทย





น้ำมันดิบ
          น้ำมันดิบ (crude oil) หมายถึง สารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิดรวมกันเป็นของเหลวค่อนข้างเหนียว มีสีน้ำตาลไหม้หรือดำ เกิดจากการสลายตัวของซากพืชซากสัตว์ที่ถับถมอยู่เป็นเวลานานนับล้านปี

          ส่วนประกอบของน้ำมันดิบ
                    สมบัติทางกายภาพของน้ำมันดิบ เช่น น้ำหนัก ความหนาแน่น และความถ่วงจำเพาะ เป็นต้น จะแตกต่างกันไปตามชนิดของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นองค์ประกอบ ส่วนสีของนำมันดิบนั้นมีตั้งแต่สีเหลืองอ่อน สีน้ำตาล สีน้ำตาลแก่ ไปจนถึงสีดำ
          สารประกอบไฮโดรคาร์บอน
                    สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon compound) คือ สารอินทรีย์ที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H) เท่านั้น สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติส่วนใหญ่จะเป็นสารไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัว โดยทั่วไปมีสูตรเป็น CnH2n+2 (ยกเว้นมีเทน) เช่น โพรเพน ที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน 3 อะตอม มีสูตรโมเลกุลเป็น C3H8 จะมีโครงสร้างได้แบบเดียว ส่วนไฮโดรคาร์บอนอิ่มตัวที่ประกอบด้วยคาร์บอนตั้งแต่ 4 อะตอมขึ้นไป จะมีสูตรโครงสร้างได้มากกว่า 1 แบบ เช่น บิวเทน ที่มีธาตุคาร์บอนจำนวน 4 อะตอม มีสูตรโมเลกุลเป็น C4H10 และมีสูตรโครงสร้างได้ 2 แบบ คือ แบบโซ่ตรงและโซ่กิ่ง เมื่อสารไฮโดรคาร์บอนทำปฏิกิริยากับออกซิเจนจะเกิดการเผาไหม้ให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และพลังงาน


                  

                    นอกจากสารประกอบไฮโดรคาร์บอนแล้ว น้ำมันดิบยังมีสารประกอบอื่น ๆ เช่น กำมะถัน ไนโตรเจน ออกซิเจน และสิ่งเจือปนอื่น ๆ

การกลั่นน้ำมันดิบ
          เมื่อขุดน้ำมันดิบขึ้นมาแล้วจะต้องนำมาแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ออกเป็นพวก เรียกว่า การกลั่นน้ำมันดิบ โดยใช้วิธีการกลั่นลำดับส่วน (fractional distillation) ซึ่งเป็นกระบวนการแยกของผสมที่เป็นของเหลวหลายชนิดออกจากกันตามความแตกต่างของจุดเดือดของสารโดยให้ความร้อน ซึ่งของเหลวที่มีอุณหภูมิต่ำจะระเหยออกมาก่อน ส่วนของเหลวที่มีจุดเดือดสูงกว่าจะระเหยออกมาตามลำดับ แต่ไม่สามารถแยกสารประกอบที่มีจุดเดือดใกล้เคียงกันมาก ๆ ได้ ผลิตภัณฑ์หรือสารกลั่นที่ได้ในแต่ละช่วงจุดเดือดจะมีลักษณะและสมบัติที่แตกต่างกัน




          ผลิตภัณฑ์หรือสารที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบแบบลำดับส่วนในแต่ละช่วงจุดเดือดจะมีลักษณะและสมบัติที่แตกต่างกันดังตาราง
 

ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ 
ที่ได้จากการกลั่น
น้ำมันดิบ

 

จำนวนอะตอมของคาร์บอน

จุดเดือด

สถานะที่อุณหภูมิ

 

ประโยชน์

   แก๊สปิโตรเลียม

   C- C4

   -

   แก๊ส

   ใช้ทำสารเคมี วัตถุสังเคราะห์เป็นเชื้อเพลิง

   แนฟทาเบา

   C- C6

   < 30 - 65

   ของเหลว

   ใช้ทำน้ำมันเบนซิน

   แนฟทาหนัก

   C- C10

   65 - 170

   ของเหลว

   ใช้ทำน้ำมันเบนซิน ทำสารเคมี

   น้ำมันก๊าด

   C10 - C14

   170 - 250

   ของเหลว

   ใช้ทำเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่นและตะเกียง

   น้ำมันดีเซล

   C14 - C19

   250 - 340

   ของเหลว

   ใช้ทำเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล

   น้ำมันหล่อลื่น

   C19 - C35

   340 - 500

   ของเหลว

   ใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่น

   ไข

   มากกว่า C35

   >500

   ของแข็ง

   ใช้ทำเทียนไข เครื่องสำอาง ยาขัดฟัน และวัตถุดิบในการผลิตผงซักฟอก

   น้ำมันเตา

   -

   -

   ของเหลว

   ใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องจักร

   บีทูเมน

   มากกว่า C35

   >500

   ของแข็ง

   ใช้ทำวัสดุกันซึม
   ใช้ทำยางมะตอยราดถนน


          ที่มา : เทคนิคจันทบุรี, วิทยาลัย. แผนกวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์. การกลั่นน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์. [ออนไลน์], (ม.ป.ป.)
          แหล่งที่มา : https://www2.technicchan.ac.th/~polymer/index.php?option=com_content&Itemid= 63 [14 กุมภาพันธ์ 2552]

          สารที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบจะมีจำนวนอะตอมของคาร์บอนในโมเลกุลแตกต่างกัน สารที่มีจำนวนคาร์บอนอยู่ระหว่าง 1 - 4 อะตอม จะมีสถานะเป็นแก๊ส แต่เมื่อจำนวนอะตอมคาร์บอนเพิ่มขึ้นจะมีสถานะเป็นของเหลว และจะเหนียวหนืดขึ้นเรื่อย ๆ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นนำมันดิบที่มีความสำคัญและมีการในไปใช้กันมากในปัจจุบันมีดังนี้

          น้ำมันเตา
                    น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงที่ให้ความร้อนแก่เตาเผาในโรงงานอุตสาหกรรม และใช้ในเครื่องยนต์ดีเซลของเรือเดินเรือทะเลขนาดใหญ่ ตลอดจนในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า
          น้ำมันดีเซลหรือน้ำมันโซลา
                    เป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะสำหรับเครื่องยนต์ชนิดจุดระเบิดเอง โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลหมุนเร็ว คุณภาพของน้ำมันดีเซลพิจารณาได้จากเลขซีเทน (cetane number) คือ ร้อยละโดยมวลของซีเทนในของผสมระหว่างซีเทน (C16H34) และแอลฟาเมทิลแนฟทาลีน (C11H10) ซึ่งเกิดการเผาไหม้หมด หากเผาไหม้เหมาะสมจะมีเลขซีเทนเป็น 47 ถ้าต่ำกว่านี้จะมีปัญหาในการเผาไหม้
          น้ำมันเบนซินหรือแกโซลีน
                    เกิดจากการผสมระหว่างเฮปเทน (C7H16) กับไอโซออกเทน (C8H18) จัดเป็นเชื้อเพลิงที่เหมาะสำหรับเครื่องยนต์แกโซลีน เนื่องจากช่วยให้เครื่องยนต์เดินเรียบ คุณภาพของน้ำมันเบนซินพิจารณาได้จากไอโซออกเทนซึ่งแบ่งเป็นเบนซินธรรมดาและเบนซินซูเปอร์ ทั้งนี้ในปัจจุบันน้ำมันเบนซินที่ใช้กับรถยนต์ในประเทศมี 2 ชนิด คือ ที่มีเลขออกเทน 91 และ 95
          เลขออกเทน
                    เลขออกเทน (octane number) จะบอกถึงคุณภาพของน้ำมันเบนซิน โดยกำหนดให้ประสิทธิภาพการเผาไหม้ของสารไอโซออกเทนบริสุทธิ์ในเครื่องยนต์มาตรฐานมีเลขออกเทนเท่ากับ 100 และให้ประสิทธิภาพการผาไหม้ของสารประกอบนอร์มอลเฮปเทนบริสุทธิ์มีเลขออกเทนเท่ากับ 0

อันตรายที่เกิดจากการใช้
          การใช้ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นน้ำมันดิบอย่างไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น ตัวทำลายที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ระเหยง่าย มักอยู่ในรูปของเหลว เช่น เบนซิน โทลูอีน และแอซีโตน เมื่อสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้ง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ ระคายเคืองผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ ในกรณีของน้ำมันเชื้อเพลิง หากมีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ควัน หรือเขม่าร่วมด้วย ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ CO จะจับเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ หากได้รับแก๊สดังกล่าวมากเกินไปอาจทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้
          ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการพัฒนาพลังงานทดแทน คือ แกโซฮอล (gasohol) ซึ่งเกิดจากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทยอาจประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน ประกอบกับปัญหาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ จึงทรงพระราชดำริให้นำพืชผลทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด มาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ แล้วน้ำแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% ที่ผลิตได้ไปผสมกับน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ในอัตราส่วน 1:9 จนกลายเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถใช้กับเครื่องยนต์ได้ นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถเติมแกโซฮอล์เข้ากับน้ำมันที่เหลืออยู่ในถังโดยไม่ต้องมีการปรับแต่งเครื่องยนต์ได้อีกด้วย


ตอนที่ 2 แก๊สธรรมชาติ

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้







สาระสำคัญ
          1. แก๊สธรรมชาติเป็นปิโตรเลียมชนิดหนึ่งที่เกิดจากการทับถมและแปรสภาพของอินทรียสารในชั้นหินใต้พื้นผิวโลกให้อยู่ในรูปสารประกอบที่มีสถานะเป็นแก๊ส ประกอบด้วยสารไฮโดรคาร์บอนเป็นหลัก
          2. แก๊สธรรมชาติประกอบด้วย 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแก๊สที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน และกลุ่มแก๊สที่ไม่ใช่สารประกอบไฮโดรคาร์บอน
          3. แก๊สธรรมชาติที่ขุดเจาะขึ้นมามีทั้งสารที่เป็นของเหลวและแก๊สผสมกัน ก่อนนำมาใช้จึงต้องแยกของเหลวและแก๊สออกจากกัน แล้วจึงส่งแก๊สผสมเข้าสู่หอกลั่นเพื่อแยกแก๊สแต่ละชนิด แล้วจึงนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
          4. การใช้แก๊สหุงต้มเป็นแก๊สที่ไวไฟ หากรั่วไหลออกจากถังไปผสมกับอากาศภายนอกในสัดส่วนที่เหมาะสมและถูกเปลวไฟก็จะเกิดการระเบิดและลุกไหม้อย่างรวดเร็ว จนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

Keywords
          แก๊สธรรมชาติ : ปิโตรเลียมชนิดหนึ่งที่เกิดจากการทับถมและแปรสภาพของอินทรียสารในชั้นหินใต้
          แก๊สโซฮอล์ล : แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% ที่ได้จากพืชผลการเกษตรผลิตผสมกับน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ในอัตราส่วน 1:9



แก๊สธรรมชาติ
          แก๊สธรรมชาติ (natural gas) เป็นแก๊สที่พบตามบ่อน้ำหรือบ่อแก๊สธรรมชาติ เป็นของผสมของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมีเทนและอีเทน เนื่องจากแก๊สธรรมชาติมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำมันดิบและน้ำ จึงมักลอยตัวอยู่เหนือน้ำมันดิบและน้ำในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม

          ส่วนประกอบของแก๊สธรรมชาติ
                    แก็สธรรมชาติประกอบด้วย 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
                              1. กลุ่มแก๊สที่เป็นสารปประกอบไฮโดรคาร์บอน แก็สธรรมชาติส่วนใหญ่ประกอบด้วยแก๊สมีเทน (CH4) อยู่ประมาณร้อยละ 80 – 95 และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดอื่น เช่น อีเทน (C2H6) โพรเพน (C3H8) บิวเทน (C4H10) ซึ่งมีสถานะเป็นแก๊สที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศปกติ และแกโซลีนธรรมชาติซึ่งประกอบด้วย เพนเทน (C5H12) เฮกเซน (C6H14) เฮปเทน (C7H10) และออกเทน (C8H18) ซึ่งมีสถานะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศปกติ
                              2. กลุ่มแก๊สที่ไม่ใช่สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ได้แก่ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ไนโตรเจน (N2) และไอน้ำ (H2O)
          การแยกแก๊สธรรมชาติ
                    แก๊สธรรมชาติที่ขุดเจาะขึ้นมาจะประกอบด้วยสารที่เป็นของเหลวและแก๊ส ซึ่งจะต้องแยกสารดังกล่าวออกจากกันผ่านหน่วยแยกของเหลว โดยส่วนที่เป็นแก๊สจะผ่านเข้าสู่หน่วยกำจัดปรอท จากนั้นจะผ่านเข้าหน่วยกำจัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และหน่วยกำจัดความชื้นก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการลดอุณหภูมิ จากนั้นแก๊สจะเข้าสู่หอกลั่น ผ่านไปสู่หน่วยฟอกที่มีการใช้โซดาไฟเพื่อกำจัดกรดไฮโดรเจนซัลไฟด์ แก๊สที่ได้จะถูกกลั่นแยกชนิดตามกระบวนการเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป





ผลิตภัณฑ์จากการแยกแก๊สธรรมชาติ
          ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแยกแก๊สธรรมชาติมีหลายชนิด เช่น มีเทน (CH4) ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมซีเมนต์ เซรามิก ตลอดจนใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมี อีเทน (C2H6) และโพรเพน (C3H8) ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกและเส้นใยสังเคราะห์ นอกจากนี้ยังได้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากหน่วยกำจัด (CO2(g)) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทำน้ำแข็ง น้ำอัดลม และการถนอมอาหาร เป็นต้น
          แก๊สธรรมชาติที่ขุดพบในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 ชนิด ดังนี้
                    1. แก๊สธรรมชาติแห้ง ได้แก่ แก๊สอีเทนและแก๊สมีเทน โดยทั่วไปมักใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม ผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนอุตสาหกรรมต่าง ๆ
                    2. แก๊สธรรมชาติชื้น เป็นแก๊สที่สามารถกลั่นตัวเป็นของเหลวเมื่อลดความดัน เรียกว่า แก๊สธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) ประกอบด้วยแก๊สโพรเพน บิวเทน แก๊สเหล่านี้จะมีสภาพเป็นของเหลว มีสมบัติเหมือนเบนซินที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ แต่มีค่าอออกเทนต่ำ แก๊สธรรมชาติชื้นที่ประกอบด้วยโพรเพน (C3H8) เมื่อถูกอัดลงในถังเหล็กภายใต้ความดันสูงจะเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว เรียกว่า แก๊สปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG (Liquefied Petroleum Gas) ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า แก๊สหุงต้ม




          ปัจจุบันมีการนำแก๊สมาใช้ในรถยนต์หรือที่เรียกว่า NGV (Natural Gas Vehicle) ซึ่งบางประเทศเรียกว่า CNG (Compressed Natural Gas) หรือแก๊สธรรมชาติอัด ซึ่งสมบัติพิเศษ คือ มีสัดส่วนของคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และมีสมบัติเป็นแก๊ส ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ จึงปล่อยไอเสียน้อยกว่า ไม่เกิดควันดำหรือไอพิษ และมีราคาถูก

อันตรายที่เกิดจากการใช้และการกำจัดอย่างถูกวิธี
          แก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น (กลิ่นที่มีเกิดจากการเติมสารเคมีที่มีกลิ่นฉุน เช่น เอทิลเมอร์แคปเทนลงไปเพื่อเตือนให้ทราบกรณีเกิดการรั่วไหล) หากสูดดมเข้าไปจะเกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติไวไฟ เมื่อถูกเปลวเพลิงอาจจะระเบิดและลุกไหม้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องรู้หลักการใช้และปฏิบัติให้ถูกวิธี หลักการเบื้องต้น ได้แก่ เมื่อเกิดการรั่วไหลของแก๊สหุงต้มภายในห้อง ควรรีบระบายแก๊สดังกล่าวด้วยการเปิดประตูและหน้าต่าง เพื่อไม่ให้แก๊สเข้าไปแทนที่ออกซิเจนในอากาศจนอาจก่อให้เกิดอัคคีภัยหรือเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว
 

 



 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th