บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง เสียงในชีวิตประจำวัน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 194.4K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้





การเกิดเสียง
          การเดินทางของเสียง
                    อาศัยอากาศเป็นตัวกลางในการเดินทางมาถึงหู ซึ่งแหล่งกำเนิดเสียงจะทำให้อากาศรอบ ๆ สั่นสะเทือนออกไปในทุกทิศทาง ตัวกลางที่ถ่ายทอดเสียงได้ดีที่สุดคือของแข็ง ของเหลว และอากาศหรือแก๊ส ตามลำดับ ยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งเสียงดัง





          การสะท้อนของเสียง
                    เมื่อเสียงเดินทางไปกระทบสิ่งกีดขวางจะเกิดการสะท้อน โดยจะสะท้อนได้ดีกับวัตถุแข็งและผิวเรียบ เสียงที่สะท้อนกลับมาเรียกว่า เสียงก้อง




                    ในห้องแสดงดนตรีจะป้องกันการเกิดเสียงก้อง โดยการนำวัสดุดูดกลืนเสียงมาบุผนังห้อง ทำให้ผู้ฟังได้ยินเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงโดยตรง
 

ธรรมชาติของเสียง
          ระดับของเสียง
                    มีความสัมพันธ์กับความถี่ของเสียง สามารถนำมาสร้างเป็นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด ทำให้เกิดเสียงได้หลายความถี่  ความสามารถในการได้ยินเสียงของสัตว์ 




          ความดังของเสียง
                    คือ ความรู้สึกได้ยินว่าดังมากหรือดังน้อย มีความสัมพันธ์กับความเข้มเสียง ซึ่งเป็นพลังงานเสียงที่ตกตั้งฉากบนหนึ่งหน่วยพื้นที่ในหนึ่งหน่วยเวลา มีหน่วยเป็นวัตต์/ตารางเมตร ความดังของเสียงจะเพิ่มขึ้นตามความเข้มเสียง และระยะห่างจากแหล่งกำเนิดเสียง
                   มาตรฐานระดับความเข้มเสียงมีหน่วยคือ เดซิเบล (dB) โดยเริ่มจาก 0 dB เป็นเสียงที่ค่อยเกินกว่าที่หูมนุษย์จะได้ยิน
                    เสียงกระซิบมีความดังประมาณ 20 dB
                    เสียงสนทนาอยู่ระหว่าง 40–60 dB
                    เกินกว่า 90 dB จะเป็นอันตรายต่อหู หรือผู้ที่ต้องอยู่ในบริเวณที่ดังเกิน 80 dB แต่ไม่ถึง 90 dB เป็นเวลานาน ๆ ก็จะเป็นอันตรายได้เช่นกัน





อวัยวะรับเสียง
          คือ หู มี 3 ส่วน คือ หูชั้นนอก ได้แก่ ใบหูและรูหู หูชั้นกลาง ได้แก่ เยื่อแก้วหูและกระดูกเล็ก ๆ 3 ชิ้น คือ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน และหูชั้นใน ประกอบด้วย กระดูกก้นหอย





          การได้ยินเสียงแต่ละครั้งเริ่มต้นที่หูจะรับการสั่นจากคลื่นเสียง โดยมีใบหูช่วยสะท้อนคลื่นเสียงเข้าไปในรูหู จะทำให้กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลนสั่น แล้วส่งสัญญาณไปยังกระดูกก้นหอย ซึ่งของเหลวภายในหูจะถูกดันให้เป็นคลื่นจังหวะเดียวกับเสียง และส่งสัญญาณต่อไปยังสมอง

อันตรายที่เกิดจากเสียงดัง
          เสียงที่ก่อให้เกิดความรำคาญ เรียกว่า มลพิษทางเสียง อันตรายมีดังนี้
                    1. ทำให้หูหนวกเฉียบพลัน เกิดจากได้ยินเสียงดังมาก ๆ ทันที
                    2. ทำให้หูหนวกชั่วคราวหรือหูหนวกถาวร เกิดจากการอยู่ในที่ที่มีเสียงดังมากเป็นเวลานาน ๆ
                    3. รบกวนการพักผ่อนและทำให้เสียสุขภาพ
                    4. ก่อให้เกิดความรำคาญและเสียสุขภาพจิต
                    5. ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
          การแก้ปัญหา
                   1. ดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดี
                   2. ไม่ควรบรรทุกสัมภาระมากไป หรือขับด้วยความเร็วสูงหรือเร่งเครื่องแรง ๆ
                   3. ไม่ควรใช้แตรลมหรือบีบแตรโดยไม่จำเป็น
                   4. ควรใช้เครื่องป้องกันหูหรือใช้สำลีอุดหู รวมทั้งสร้างกำแพงกั้นเสียงหรือปลูกต้นไม้ตามแนวบ้าน


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th