บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง การเจริญเติบโตและการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืช
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 133.6K views



 

ตอนที่ ๑ การเจริญเติบโตของพืช


ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



 

การลำเลียงน้ำและอาหาร
          ลำต้นจะช่วยลำเลียงน้ำและธาตุอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืช ส่วนใบทำหน้าที่สร้างอาหารและลำเลียงไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืช

          เนื้อเยื่อลำเลียง
                    น้ำและธาตุอาหารต่าง ๆ จะถูกลำเลียงไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืชโดยเนื้อเยื่อลำเลียงน้ำ–เกลือแร่ ส่วนอาหารที่พืชสร้างได้จะลำเลียงไปตามเนื้อเยื่อลำเลียงอาหาร เนื้อเยื่อลำเลียงเหล่านี้จะเชื่อมโยงตั้งแต่รากไปยังลำต้น กิ่ง และใบ
                    การจัดเรียงตัวของเนื้อเยื่อลำเลียงน้ำ–เกลือแร่ที่ลำต้นจะแยกเป็นกลุ่มๆ และจะอยู่บริเวณขอบของลำต้นและมีกลุ่มของเนื้อเยื่อลำเลียงอาหารประกบเป็นคู่
                    ส่วนที่รากจะร่วมเป็นกลุ่มเดียวกันมีลักษณะเป็นแฉกอยู่ตรงกลางของราก และมีเนื้อเยื่อลำเลียงอาหารล้อมด้านนอกไว้


การคายน้ำของพืช
          ที่บริเวณใบเกิดการคายน้ำมากสุด เมื่อนำใบมาขยายจะเห็นรูเล็ก ๆ มากมาย เรียกว่า ปากใบ ซึ่งควบคุมการคายน้ำของพืชและเป็นบริเวณที่อากาศสามารถเข้าและออกจากพืชด้วย
          ปากใบพืชบกส่วนมากจะอยู่ด้านล่าง ปากใบของพืชที่ใบอยู่ระดับเดียวกับน้ำจะอยู่ด้านบน พืชใต้น้ำจะไม่มีปากใบ พืชจะดูดน้ำขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปจากการคายน้ำ ถ้าพืชคายน้ำมากก็จะดูดน้ำกลับมามาก
          อัตราการคายน้ำของพืชขึ้นอยู่กับแสงสว่าง อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ความชื้นของอากาศ ลม และปริมาณน้ำในพืช การคายน้ำของพืชจะช่วยให้ใบชุ่มชื้นและลดความร้อนภายในใบและลำต้น



ปัจจัยบางประการที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
          น้ำ แสง และธาตุอาหาร เป็นปัจจัยที่ทำให้พืชเจริญเติบโต อากาศและอุณหภูมิก็มีอิทธิผลเหมือนกัน เช่น แอปเปิลชอบอากาศหนาว ถ้ามาปลูกในอากาศร้อนก็จะไม่เจริญเติบโต

การสร้างอาหารของพืช
          การสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช
                    เกิดขึ้นเมื่อใบได้รับพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์แล้วเปลี่ยนน้ำและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นน้ำตาลและแก๊สออกซิเจน โดยมีคลอโรฟิลล์เป็นตัวช่วย





ตอนที่ ๒ การตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืช


ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

การตอบสนองต่อแสง
          ส่วนรากของพืชจะเจริญเข้าหาแรงโน้มถ่วง พืชที่พยายามแผ่กิ่งก้านเพื่อจะได้รับแสงอย่างทั่วถึง หรือพืชที่อยู่ในบริเวณที่มีต้นไม้หนาแน่นจะมีความสูงมาก เพราะต้องแข่งขันกันเจริญเติบโตเข้าหาแสงอาทิตย์ การเปลี่ยนสีระหว่างวันของดอกพุดตานก็เป็นการตอบสนองต่อแสงเช่นกัน


การตอบสนองต่ออุณหภูมิ
          เช่น ในฤดูหนาวใบของต้นเกาลัดและต้นเมเปิลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองแล้วค่อย ๆ หลุดร่วงไปเพื่อลดการคายน้ำ หรือต้นพญาเสือโคร่งจะออกดอกสีชมพูสวยงามเมื่ออากาศหนาวพอเหมาะ นอกจากนี้อุณหภูมิยังมีผลต่อดอกไม้บางชนิด เช่น ดอกสายหยุดที่ส่งกลิ่นหอมตอนกลางคืนที่มีอุณหภูมิต่ำ แต่กลิ่นจะหมดไปในตอนสายที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น


 



การตอบสนองต่อความชื้น
          รากของพืชจะตอบสนองต่อความชื้นโดยเจริญไปในทิศทางที่มีน้ำอยู่ เพื่อนำน้ำมาใช้ในการเจริญเติบโต


 

การตอบสนองต่อการสัมผัส
          เช่น ใบไมยราบจะหุบลงอย่างรวดเร็วเมื่อถูกสัมผัส ต้นกาบหอยแครงจะหุบใบและปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยแมลงที่บินมาสัมผัสใบของมัน หรือดอกของต้นซันดิวจะผลิตสารเหนียวออกมา เมื่อแมลงมาเกาะจะถูกยึดให้อยู่กับที่และถูกดูดน้ำและสารอาหาร

การตอบสนองต่อเสียง
          เช่น ต้นช้องนางรำจะขยับโคนของยอดใบอ่อนเมื่อมีเสียงเกิดขึ้น ปัจจุบันมีผลวิจัยว่า พืชที่ได้รับคลื่นเสียงเหมาะสมจะมีผลผลิตมากขึ้น โดยผู้ศึกษาอธิบายไว้ว่าคลื่นเสียงที่เหมาะสมจะทำให้ปากใบเปิด จึงเกิดการสังเคราะห์ด้วยแสงได้ดี ผลิตอาหารได้มากและเจริญเติบโตได้ดี



แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th