บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 48.8K views




ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้


     สมัยรัตนโกสินทร์เป็นยุคที่สืบทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมมาจากสมัยอยุธยา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ชาติตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

1. ภูมิปัญญาไทย
     1.1 ความหมายของภูมิปัญญา
     ภูมิปัญญา หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถ ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ พัฒนาและสืบทอดกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาของคนในสังคมให้สามารถอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมในทุกสมัย


     1.2 การนำภูมิปัญญาไทยมาใช้แก้ไขปัญหาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
     โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหลายโครงการ แบ่งตามประเภทได้ดังนี้
     1. โครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ
     2. โครงการด้านการเกษตร
     3. โครงการด้านสิ่งแวดล้อม

                                                                          


     1.3 การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผ่านมูลนิธิศูนย์ศิลปาชีพ
     ปัจจุบันมีโครงการกว่า 200 โครงการ แต่ละโครงการเป็นการฝึกสอนงานด้านหัตถกรรมให้แก่ประชาชน พัฒนางานหัตถกรรมในแต่ละท้องถิ่นให้สวยงามมากยิ่งขึ้น ตรงกับความต้องการของตลาด ผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิศูนย์ศิลปาชีพมีหลายรูปแบบ เช่น เครื่องจักสาน เครื่องถม เครื่องเงิน

     1.4 การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
     คนไทยควรศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาไทย อาจสร้างแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทย


2. วัฒนธรรมไทย
     วัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์มีพัฒนาการต่าง ๆ หลายด้าน ในที่นี้จะกล่าวถึง 4 ด้าน คือ ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ด้านวรรณกรรม ด้านทัศนศิลป์ ด้านดนตรีและนาฏศิลป์ ซึ่งแต่ละด้านมีพัฒนาการดังนี้
     2.1 ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี
     เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ใน พ.ศ. 2325 พระองค์มีพระราโชบายสำคัญ คือ การรื้อฟื้นแบบแผนโบราณราชประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน พระมหากษัตริย์ ราชอาณาจักร และพระพุทธศาสนา
    2.2 ด้านวรรณกรรม
     วรรณกรรมรุ่งเรืองมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมทุกแขนง ทรงตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้นเป็นคู่กับโบราณคดีสโมสร เพื่อส่งเสริมงานด้านการประพันธ์ ผลงานดีเด่นที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น พระนลคำหลวง นารายณ์สิบปาง ศกุนตลา เมืองไทยจงตื่นเถิด
     2.3 ด้านทัศนศิลป์
     งานสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้รับการฟื้นฟูสร้างอย่างประณีตงดงาม บางส่วนมีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยรัชกาลต่อ ๆ มาจนแทบไม่เหลือเค้าโครงของศิลปะเดิม ผลงานสถาปัตยกรรมที่ยังคงแสดงให้เห็นลักษณะของศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 1 เช่น เจดีย์ทอง หน้าปราสาทพระเทพบิดรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระอุโบสถวัดราชบูรณะ
 


     2.4 ด้านดนตรีและนาฏศิลป์
     ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีการฟื้นฟูนาฏศิลป์หรือนาฏกรรม โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฝึกหัดโขนขึ้นทั้งในวังหลวงและวังหน้า รวมทั้งหัดละครผู้หญิงหรือ “ละครใน” ซึ่งมีเฉพาะในวังหลวงเท่านั้นตามแบบสมัยอยุธยา ละครในมีท่วงท่ารำที่สวยงาม ประณีต เป็นแบบแผน ต่างจากละครผู้ชายหรือ “ละครนอก” ที่เน้นเรื่องที่ตลกขบขัน สนุกสนาน ไม่เคร่งครัดแบบแผน


คำสำคัญ
ภูมิปัญญาไทย
การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
วัฒนธรรมไทย
ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี
ด้านวรรณกรรม
ด้านทัศนศิลป์
ด้านดนตรีและนาฏศิลป์


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th