บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง วิธีการทางประวัติศาสตร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 47.9K views




ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 
 


     ประวัติศาสตร์ คือ การศึกษาเรื่องราวในอดีตของสังคมมนุษย์ โดยศึกษาเรื่องราวหรือเหตุการณ์จากหลักฐานต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้สามารถสรุปหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตได้ถูกต้อง

1. หลักฐานทางประวัติศาสตร์
     หลักฐานทางประวัติศาสตร์คือร่องรอยการกระทำของมนุษย์ในอดีตที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน สามารถใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะสามารถทำให้เราทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตได้

     วิธีการแบ่งประเภทของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มี 2 วิธี ได้แก่
     1.1 แบ่งตามความสำคัญของหลักฐาน
          หลักฐานทางประวัติศาสตร์แบ่งตามความสำคัญได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
          1. หลักฐานชั้นต้นหรือชั้นปฐมภูมิ หมายถึง หลักฐานที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นหรือช่วงเวลานั้น โดยผู้สร้างหลักฐานเป็นผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือรู้เห็นเหตุการณ์
          2. หลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ หมายถึง หลักฐานที่สร้างขึ้นภายหลังเหตุการณ์นั้น ๆ

     1.2 แบ่งตามรูปลักษณะของหลักฐาน
          หลักฐานทางประวัติศาสตร์แบ่งตามรูปลักษณะได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
          1. หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หมายถึง หลักฐานที่เขียนขึ้นเป็นตัวหนังสือ
 


          2. หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หมายถึง หลักฐานที่ไม่ปรากฏเป็นตัวหนังสือ
 


2. วิธีการทางประวัติศาสตร์
     วิธีการทางประวัติศาสตร์ (Historical Method) หมายถึง กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงจากหลักฐานซึ่งเป็นร่องรอยที่เหลืออยู่จากอดีต การวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ วิธีการทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้
     1. การกำหนดปัญหาหรือเรื่องที่ต้องการจะศึกษา เป็นการกำหนดเป้าหมายและประเด็นที่ต้องการศึกษา ลักษณะการตั้งคำถาม
     2. การรวบรวมหลักฐาน ผู้ศึกษาเรื่องราวในอดีตต้องตรวจสอบว่า มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อยู่ที่ไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนศึกษาอยู่ จึงจำเป็นต้องรวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่
     3. การตรวจสอบและประเมินคุณค่าของหลักฐาน สามารถแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ
          1) การตรวจสอบและประเมินคุณค่าภายนอก เรียกว่า การวิพากษ์ภายนอกหรือการวิพากษ์หลักฐาน
          2) การตรวจสอบและประเมินคุณค่าภายใน บางครั้งเรียกว่า การวิพากษ์ภายในหรือการวิพากษ์ข้อมูล มุ่งพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน
     4. การตีความหลักฐาน ต้องใช้ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ ไม่ตีความมากกว่าข้อมูลที่ปรากฏไม่ใช้
     5. การเรียบเรียงและนำเสนอ มาเรียบเรียงและผสมผสานจนเป็นเรื่องราวที่น่าอ่าน น่าสนใจ เข้าใจง่าย มีเหตุผล ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และมีความต่อเนื่องในเนื้อหา

3. ตัวอย่างการวิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์
     การวิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จำเป็นต้องนำวิธีการทางประวัติศาสตร์มาใช้ เริ่มจากการรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาประเมินว่าแต่ละหลักฐานสามารถใช้อย่างไรบ้าง
     เมื่อได้หลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้วจึงนำมาตีความสาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริง จากนั้นนำมาวิเคราะห์ตีความเพื่อหาผลดีและผลเสีย ทำให้ทราบว่าการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงนั้นเกิดผลเสียแก่ไทยมากกว่าผลดี
     ดังนั้น จากการตีความทำให้ได้ข้อสรุปเพื่อตอบปัญหาที่เรากำหนดไว้ได้ว่า การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้ไทยเสียเปรียบหลายประการทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง แต่ในอีกด้านก็ส่งผลดีให้แก่ไทย คือ ทำให้ไทยได้รับวิทยาการและความเจริญสู่ประเทศ

4. ตัวอย่างการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์
     เราสามารถนำวิธีการทางประวัติศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับเรื่องราวของตนเองและครอบครัวได้ ดังนี้
     เริ่มจากการกำหนดเรื่องราวที่ต้องการศึกษา เช่น หากนักเรียนสามารถตั้งหัวข้อว่า “บรรพบุรุษของฉันเป็นใคร” จากนั้นรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยทำได้หลายวิธี เช่น สัมภาษณ์พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หาภาพถ่ายของครอบครัวอาจเป็นภาพถ่ายเก่าแก่สมัยปู่ย่า ตายาย หรือบันทึกประจำวัน
     ขั้นการตรวจสอบและประเมินคุณค่าของหลักฐาน เช่น การสัมภาษณ์ญาติพี่น้องในวงศ์ตระกูล ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และต้องพิจารณาด้วยว่าผู้ให้สัมภาษณ์มีความพร้อมในเรื่องสุขภาพและอายุ ซึ่งมีผลต่อความทรงจำบุคคลเหล่านี้สามารถให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับบรรพบุรุษของเราได้เป็นอย่างดี
     ต่อมาขั้นตอนการตีความหลักฐาน เช่น จากการสัมภาษณ์แล้วเราบันทึกเสียงไว้ เราสามารถตีความขั้นต้นได้ตามตัวอักษรว่าผู้ถูกสัมภาษณ์เล่าเกี่ยวกับอะไรบ้าง ได้ข้อมูลว่าบรรพบุรุษของเราชื่อว่าอะไร มีภูมิลำเนาเดิมจากที่ไหน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียงเพื่อนำเสนอ เราอาจนำเสนอในลักษณะของแผนภาพต้นไม้ของครอบครัว (Family tree) ที่แสดงให้เห็นลำดับครอบครัวของเราตั้งแต่บรรพบุรุษจนกระทั่งถึงรุ่นของเรา จากนั้นบรรยายสั้น ๆ ถึงความเป็นมาของบรรพบุรุษว่ามีภูมิลำเนาเดิมมาจากที่ใดและเข้ามาตั้งรกรากในปัจจุบันเมื่อไร

คำสำคัญ
หลักฐานทางประวัติศาสตร์
หลักฐานชั้นต้นหรือชั้นปฐมภูมิ
หลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ
วิธีการทางประวัติศาสตร์
เหตุการณ์สำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์
การใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th