บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง วีรกรรมของบรรพบุรุษไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 73.6K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

วีรกรรมของบรรพบุรุษไทย

 

1. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษาทรงถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่เมืองหงสาวดี 6 ปี จนถึง พ.ศ. 2112 ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า พระเจ้าหงสาวดีทรงอนุญาตให้พระนเรศวรกลับบ้านเมืองได้

เมื่อพระองค์พระชนมายุได้ 16 พรรษา ทรงได้เป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองพิษณุโลกและทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแคลง
สงครามคราวประกาศเอกราช กษัตริย์พม่าต้องการที่จะกำจัดพระนเรศวร พระนเรศวรทรงยิงพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกแม่ทัพหน้าของพม่าจนเสียชีวิต เมื่อพ.ศ. 2135 ทรงทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า ทรงชนช้างกับพระมหาอุปราชาและฟันพระมหาอุปราชาจนขาดคอช้าง

 

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 


2. พระยาพิชัยดาบหัก
เดิมชื่อ จ้อย เกิดปลายสมัยอยุธยา เมื่ออายุ 14 ปี เปลี่ยนชื่อเป็น ทองดี ขณะอยู่เมืองตากพระเจ้าตากสินได้ชวนเข้ารับราชการจนได้เป็นหลวงพิชัยอาสา
เมื่อพระเจ้าตากขึ้นครองราชย์โปรดเกล้าฯแต่งตั้งหลวงพิชัยอาสาเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ตำแหน่งนายทหารเอกราชองครักษ์ ต่อมาแต่งตั้งเป็น พระยาสีหราชเดโช และได้รับบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็น พระยาพิชัย เจ้าเมืองตาก
พ.ศ. 2315 พม่ายกทัพตีเมืองลับแลและเมืองพิชัย พระยาพิชัยเป็นผู้นำออกรบจนพม่าถอยทัพกลับไป อีก 1 ปีต่อมาทัพพม่าโจมตีเมืองพิชัยอีก พระยาพิชัยต่อสู้กับพม่าจนดาบหักในที่รบแต่ก็เอาชนะพม่าได้ จึงได้นามว่า พระยาพิชัยดาบหัก

 

พระยาพิชัยดาบหัก

 

3. ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
ท้าวเทพกระษัตรี เดิมชื่อ จัน ส่วนท้าวศรีสุนทร เดิมชื่อ มุก
สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อพระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่ายกทัพเข้าเมืองถลางขณะนั้นเจ้าเมืองถลางถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงจันและคุณหญิงมุกจึงเป็นผู้นำรบระหว่างชาวเมืองถลางกับทัพของพระเจ้าปดุง เมื่อรัชกาลที่1ทรงทราบวีรกรรมของท่านทั้งสอง จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณหญิงมุกเป็นท้าวศรีสุนทร

 

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

 


4. ชาวบ้านบางระจัน
ใน พ.ศ. 2301 กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ และตั้งทัพส่วนหนึ่งที่เมืองวิเศษไชยชาญ ผู้นำชาวบ้าน 6 คน หนีออกจากเมืองวิเศษไชยชาญมาที่ตำบลบางระจัน ต่อมาชาวบ้านใกล้เคียงเข้ามาสมทบเพิ่ม พม่ามีเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพ เข้าโจมตีค่ายบางระจันถึง 7 ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ จนสุกี้นายกองใหญ่รับอาสาเคลื่อนทัพพม่าประชิดค่ายบางระจัน ชาวบ้านบางระจันยังคงสู้กับพม่าแม้จะมีกำลังคนและอาวุธน้อยกว่า ในที่สุดพม่ายิงปืนใหญ่เข้ามาในค่ายและตีค่ายได้สำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 2309 หลังจากรบกันมานาน 5 เดือน

 

ชาวบ้านบางระจัน

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th