บทเรียนออนไลน์ วิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เรื่อง การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของชุมชน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 82.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของชุมชน

 

1. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานของชุมชน
     1.1 ปัจจัยทางภูมิศาสตร์
ส่วนใหญ่มนุษย์มักเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งบริเวณที่มีแหล่งน้ำจืด ใกล้ชายฝั่งทะเล เนื่องจากทะเลเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ และเป็นเส้นทางคมนาคมได้อีกด้วย
บริเวณที่มีผู้เข้าไปตั้งถิ่นฐานมากที่สุด คือที่ราบภาคกลาง เพราะอากาศไม่ร้อนและไม่หนาวเกินไป มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอแก่ความต้องการ

 

 


บริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ นั้นเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของชุมชน เพราะมนุษย์สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ดิน ใช้เพาะปลูกและตั้งบ้านเรือน
น้ำ ใช้ดื่มและชำระล้าง รวมทั้งเป็นเส้นทางคมนาคม
ป่าไม้ ใช้ไม้เพื่อการก่อสร้าง ใช้ของป่าเป็นอาหารและยา
แร่ ใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ใช้เป็นเชื้อเพลิง

 

 


     1.2 ปัจจัยทางสังคม
คนมักจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าชุมชนที่มีความเสี่ยงภัย
คนที่นับถือศาสนาเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน มีประเพณีคล้ายกัน มักตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันและดำเนินชีวิตเป็นแบบเดียวกัน
บริเวณที่การคมนาคมขนส่งสื่อสารสะดวก มีน้ำประปา มีไฟฟ้าใช้ เป็นแหล่งการค้าและธุรกิจ จะมีคนเข้าไปตั้งถิ่นฐานกันมาก

 

 


2. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของชุมชน
     2.1 ปัจจัยทางภูมิศาสตร์
เมื่อปัจจัยทางภูมิศาสตร์เปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมคุณภาพลง ชุมชนจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนั้น
     2.2 ปัจจัยทางสังคม
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้คนต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีนั้น ส่งผลให้วิถีชีวิตหรือการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

 

 

 


การควบคุมธรรมชาติ ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป เช่น การสร้างเขื่อนทำให้ชาวนาทำนาได้ 2–3 ครั้งต่อปี โดยไม่ต้องรอน้ำฝนตามธรรมชาติ
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน คือ การปรับปรุงบริการสาธารณะต่าง ๆ จะทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th