ไพโรเจนคืออะไร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 12.2K views



จากเหตุสลดเมื่อ 13 มี.ค.2559 ระบบดับเพลิงไพโรเจนภายในธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ เอสซีบี ปาร์ค พลาซ่า (SCB park) เซ็นเซอร์ทำงานขณะมีการติดตั้งอุปกรณ์บริเวณชั้นใต้ดิน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตดังที่เป็นข่าวคึกโครมนั้น ความสูญเสียต่อหลายชีวิตทำให้หลาย ๆ คนพุ่งประเด็นมาที่ความอันตรายของ ไพโรเจน สารเคมีชนิดนี้มีความรุนแรงแค่ไหน ถูกใช้ในกรณีใดบ้าง และมันทำงานอย่างไร ทำไม มันถึงถูกใช้ในระบบดับเพลิงในอาคารและสถานที่หลาย ๆ แห่ง และที่สำคัญ ไพโรเจนคืออะไร?



ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


ไพโรเจน (Pyrogen) ได้รับการยกย่องว่า เป็นสารเคมีในการดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยมีการใช้สารไพโรเจนในระบบดับเพลิงสำหรับยานอวกาศ และในระบบกระสวยอวกาศมากมาย

สารดับเพลิงไพโรเจน ย่อมาจาก Pyrotechnically Generated เป็นสารดับเพลิงที่ไม่นำไฟฟ้า เหมาะกับการใช้ดับเพลิงในสถานที่หรือสถานการณ์ที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออาจเกิดความเสียหายหากเกิดไฟฟ้าลัดวงจร แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกสถานการณ์ที่เราจะสามารถใช้น้ำในการดับเพลิง ไพโรเจนได้รับการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาจากแนวความคิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในจรวด โดยเมื่อเก็บรักษาจะอยู่ในรูปของแข็งในบรรจุภัณฑ์โลหะที่มีเพียงตัวจุดชนวนไฟฟ้าสำหรับกระตุ้นการทำงานเมื่อต้องการติดตั้งมากับบรรจุภัณฑ์เท่านั้น มันจึงสามารถขนส่งไปพร้อมกับกระสวยขึ้นไปยังอวกาศได้สะดวก และเมื่อใช้งานหรือนำมาทำปฏิกิริยาก็จะกลายสภาพเป็นส่วนผสมของก๊าซ ซึ่งจะกระจายตัวออกไปทั่วปริมาตรของบรรจุภัณฑ์หรือห้องโดยสาร หากนำมาบรรจุเป็นสารสำหรับดับเพลิงในถังแล้ว นับได้ว่าเป็นสารดับเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูง และต้องการการบำรุงรักษาต่ำเมื่อเทียบกับระบบดับเพลิงชนิดอื่น อย่างเช่น Halon



ภาพประกอบจาก Weerachai Phutdhawong


การทำงานของไพโรเจน เมื่อถูกกระตุ้นหรือปล่อยออกมาจากบรรจุภัณฑ์เพื่อทำงานแล้ว มันจะกลายเป็นก๊าซออกมาแทนที่ออกซิเจน เมื่อบริเวณที่มีไฟไหม้ขาดออกซิเจน ไฟก็จะดับลง อย่างไรก็ตามการแทนที่ก๊าซออกซิเจนนี้เองที่ทำให้เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เนื่องจากเมื่อออกซิเจนถูกแทนที่จนหมด สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในบริเวณนั้นก็จะขาดอากาศหายใจด้วยเช่นกัน ดังนั้นการใช้งานระบบดับเพลิงชนิดสารไพโรเจนนี้จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ปิดตาย มีข้อควรระวังเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร อย่างเช่น ห้องเซิร์ฟเวอร์ ห้องที่มีอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่มาก ห้องวางระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของบริษัทขนาดใหญ่ หรือห้องนิรภัยของธนาคาร ซึ่งไม่มีคนทำงานเป็นประจำอยู่ในห้อง โดยติดตั้งได้ง่ายเนื่องจากระบบดับเพลิงชนิดไพโรเจนไม่มีแรงดันจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการรั่วไหลของก๊าซไปยังระบบอื่นผ่านท่อนำก๊าซ ไม่ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหายและไม่นำไฟฟ้า ไม่ทำให้เกิดก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยก๊าซโอโซน ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังติดตั้งได้ง่าย



ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


     จุดเด่นของระบบไพโรเจน
     1. ประสิทธิภาพสูงประหยัดพื้นที่ เนื่องจากเราสามารถนำถังไพโรเจนที่มีขนาดเล็กไปติดตั้งบนเพดาน, ผนัง, ใต้พื้นยก หรือในตู้ไฟฟ้าได้
     2. ประหยัดค่าใช้จ่าย และติดตั้งง่าย เนื่องจากระบบดับเพลิงอัตโนมัติไพโรเจนเป็นลักษณะ Modular Design ไม่ต้องมีการเดินท่อก๊าซเหมือนระบบดับเพลิงแบบเก่า เพียงเดินสายไฟฟ้าจากตู้ควบคุมไปที่ถังแต่ละถัง ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกกว่าระบบดับเพลิงอัตโนมัติระบบอื่น
     3. ระบบมีความยืดหยุ่นสูง เนื่องจากไพโรเจนมีการออกแบบเป็นลักษณะ Modular Design ทำให้การเพิ่มลดเปลี่ยนแปลงในอนาคตทำได้อย่างง่ายดาย เพียงให้มีปริมาณถังเพียงพอต่อปริมาตรของพื้นที่ป้องกันภัยตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เท่านั้น
     4. เทคโนโลยีล่าสุดใช้ถังไม่มีแรงดัน ไพโรเจนใช้ถังไม่มีแรงดัน โอกาสที่สารจะรั่วออกจากถังจึงเป็นศูนย์ จึงไม่เป็นภาระในการบำรุงรักษาเหมือนระบบอื่นที่ใช้ถังอัดแรงดันสูง ซึ่งมีโอกาสรั่วซึมในอนาคต

     ก๊าซไพโรเจนนั้นสามารถฉีดออกมาได้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 วิธี ดังนี้
     1. การสั่งฉีดด้วยกระแสไฟฟ้า คือ เมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าที่เพียงพอเข้าไปในอุปกรณ์จุดระเบิดด้วยกระแสไฟฟ้า ไพโรเจนก็จะทำงานโดยฉีดสารออกมา
     2. การฉีดออกมาเองโดยอัตโนมัติด้วยกระแสไฟฟ้า ทำงานโดยใช้กระแสไฟฟ้าเช่นเดียวกับข้อ 1 แต่มีระบบสั่งฉีดสารอัตโนมัติเช่น ตู้คอนโทรล, Smoke Detector, Heat Detector ร่วมอยู่ด้วย
    3. การฉีดออกมาเองโดยอัตโนมัติด้วยความร้อน นอกจากไพโรเจนจะมีตัวจุดระเบิดด้วยกระแสไฟฟ้าแล้ว ไพโรเจนยังมีตัวจุดระเบิดด้วยความร้อนอยู่ในถังด้วย โดยตัวจุดระเบิดด้วยความร้อนจะทำงานเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 175 องศาเซลเซียส ส่งผลให้สารไพโรเจนถูกฉีดออกมาหรือเมื่อ สายชนวนที่ต่อกับไพโรเจนสัมผัสกับเปลวไฟ ก็จะทำให้ไพโรเจนทำงานได้เช่นกัน การทำงานเองลักษณะนี้เหมาะอย่างยิ่งกับการติดตั้งในตู้ไฟฟ้า เนื่องจากเมื่อเกิดเพลิงไหม้ สายชนวนมีโอกาสสัมผัสกับเปลวไฟได้ง่ายหรืออุณหภูมิในตู้ที่จำกัดพื้นที่ก็จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ไพโรเจนสามารถทำงานได้อย่างทันท่วงที




ภาพประกอบจาก Weerachai Phutdhawong


ความอันตรายของก๊าซชนิดนี้จึงตกอยู่ที่ความสามารถหลักของมันในการแทนที่ก๊าซออกซิเจนในพื้นที่ป้องกันในระหว่างใช้งานและทำให้พื้นที่นั้นไม่มีอากาศสำหรับหายใจ เพราะตัวสารไพโรเจนเองไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเมื่อระบบดับเพลิงชนิดไพโรเจนทำงานจึงไม่ควรอยู่ในพื้นที่หรือหากจำเป็นต้องอยู่ก็ต้องไม่เกิน 5 นาที เพราะออกซิเจนจะถูกแทนที่อย่างรวดเร็ว สำหรับมนุษย์แล้วเซลล์สมองของเราจะเริ่มตายหากขาดอากาศเพียง 1 นาที และหากขาดอากาศถึง 10 นาทีสมองจะเสียหายขั้นรุนแรง และเสียชีวิตใน 15 นาที



ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่าง ๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด


ความสูญเสียจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เกิดจากเพลิงไหม้ ไม่ได้เกิดจากการระเบิดของถัง หรือแรงดันก๊าซใด ๆ แต่เกิดจากการขาดออกซิเจนทีละน้อยจนเหมือนหลับไปและเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นมันไม่ใช่ความอันตรายของสารเคมีที่ทำให้เสียชีวิต หากแต่เป็นความบกพร่องในการทำความเข้าใจและการใช้งานที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนาและน่าเศร้าเช่นนี้

เรียบเรียงโดย ทีมงานทรูปลูกปัญญา

ที่มา : เฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong
          ฟิสิกส์ราชมงคล
          https://www.youtube.com/watch?v=ws3wrlilSP4
          https://pyrogenfire.com/newdemo/
          https://www.progresspartners.com.au/products/146-pyrogen-aerosol-fire-suppression-system