Classroom : ซากุระเวิ่นเว้อ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 4.7K views



“ซากุระเวิ่นเว้อ”


ข้อสอบ PAT 7.3 ภาษาญี่ปุ่นปีล่าสุดให้รูปนี้มา
 

ถามว่า
これは何のマークですか。
Kore wa nan no maaku desu ka.
โขะเระ วะ นั่น โหนะ ม่าขุ เด็ส ก๊ะ
“นี่คือตราสัญลักษณ์ของอะไร”

ง่ายไหมครับข้อนี้ หลายคนเห็นปุ๊บกาปั๊บเลย ครูพี่โฮมเคยติวไว้ แล้วมันก็ออกข้อสอบจนได้ คำตอบของข้อนี้ก็คือ...
オリンピック โอะลิมปิ๊กขุ “โอลิมปิก” นั่นเองครับ

โตเกียวได้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2020 และญี่ปุ่นใช้โลโก้ดอกซากุระนี้เสนอตัวเข้าชิงครับ
日本と言えば桜です。
Nihon to ieba sakura desu.
หนิฮ่น โตะ อิเอ๊ะบะ สะกุ๊ระ เด๊ส
“ถ้าพูดถึงญี่ปุ่น จะนึกถึงซากุระ”


ซากุระกลายเป็นตัวแทนของญี่ปุ่นไปเรียบร้อย ในฤดูใบไม้ผลิจะมีประเพณี “การชมดอกไม้” หรือ 花見 hanami “หะนะมิ” บางครั้งใส่ o ลงไปเพื่อเพิ่มความไพเราะกลายเป็นお花見 o-hanami แต่รู้ไหมว่าแต่เดิมคนญี่ปุ่นไม่ได้ชมดอกซากุระนะ !!??

ในสมัยโบราณคนญี่ปุ่นนิยมชมดอกบ๊วยหรือดอกเหมยครับ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า梅の花 ume no hana “อุเมะ โนะ หะนะ” เพราะได้รับอิทธิพลมาจากจีนนั่นเอง หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งก็คือ ในหนังสือรวมบทกลอนญี่ปุ่นที่เก่าแก่ที่สุดเรื่อง 『万葉集』 Manyoushuu “มังโย่ฉู่” มีการกล่าวถึง “ดอกเหมย” กว่า 100 บท มากกว่า “ดอกซากุระ” เกือบสองเท่าตัวเลยครับ แต่ในหนังสือรวมบทกลอนชื่อ 『古今和歌集』 Kokinwakashuu “โขะกิงวะก๊ะฉู่” ซึ่งจักรพรรดิโปรดฯ ให้รวบรวมขึ้นในปี ค.ศ. 905 กลับมีสัดส่วนของ “ดอกซากุระ” มากกว่า “ดอกเหมย” มาก

สมัยก่อนชนชั้นสูงนิยมชมดอกซากุระแล้วแต่งกลอนครับ พอมาถึงสมัยเอโดะ “หะนะมิ” กลายเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป นั่งคุยกัน ชมดอกซากุระไปพลาง กินขนมโน่นนี่ไปด้วย ฟินสุด ๆ ไปเลยครับ

ซากุระจะเริ่มบานจากใต้ขึ้นเหนือนะครับ ในแต่ละปีจะมีพยากรณ์ว่าซากุระจะเริ่มบานเมื่อไหร่ เรียกว่า 桜前線 sakurazensen “สะกุ๊ระเซ่นเส่ง”

 

(“สะกุ๊ระเซ่นเส่ง” ประจำปี 2016 ภาพจาก https://news.goo.ne.jp/)

ใครวางแผนจะไปชมความงามของดอกซากุระที่ญี่ปุ่น ควรจะตรวจสอบข้อมูลกันวืดไว้ก่อนนะครับ
เรามาเรียนรู้ศัพท์เกี่ยวกับการบานของซากุระกันดีกว่า
つぼみ tsubomi “ท์สึโบ๊ะมิ” ดอกตูม
開花 kaika “ข๊ะอิกะ” หรือ “ไข้กะ” เริ่มบาน
満開 mankai “มังกะอิ๊” หรือ “มังไก” บานเต็มที่
散り始め chirihajime “ฉิริฮะจิ๊เมะ” เริ่มร่วงโรย
葉桜 hazakura “หะซะกุหระ” ร่วงและแตกใบใหม่
นอกจากนี้ยังมีศัพท์บรรยายการบานยิบย่อยลงไปอีกโดยเอาตัวเลข + 分咲きเช่น 七分咲き shichibuzaki บาน 70% (หมายความว่าอีก 30% ยังเป็นดอกตูม)

ถ้าอยากให้คนญี่ปุ่นช่วยแนะนำจุดชมดอกซากุระ เราสามารถใช้ประโยคง่าย ๆ ว่า

おすすめの花見スポットってどちらですか。
O-susume no hanami supottotte dochira desu ka.
โอะซุซุเมะ โนะ หะนะมิ ซุ-ปต-ตต-เตะ โด๊ะจิหระ เด็ส ก๊ะ
“จุดชมดอกซากุระที่แนะนำเนี่ย ที่ไหนดีครับ/คะ”


สำหรับครูพี่โฮมชอบชมซากุระริมแม่น้ำหรือลำธารเป็นพิเศษครับ อย่างในโตเกียวครูพี่โฮมชอบซากุระซึ่งปลูกเรียงราย (桜並木 sakura-namiki “สะกุ๊ระน๊ะหมิกิ”) ไปตามแม่น้ำคันด๊ะมาก ๆ (神田川 Kanda-gawa “คันด๊ะกะหวะ”) ถ้าอยากเปลี่ยนบรรยากาศ 夜桜 yozakura “โหยะซะกุหระ” หรือการชมซากุระยามค่ำคืนก็โรแมนติกไปอีกแบบครับ


อันนี้เป็นตัวอย่างภาพที่ลูกศิษย์ส่งมาให้ครับ งดงามมาก ๆ เลย

(ภาพโดย “ปังคุง” นพัฒน์ หัทยานันท์ ลูกศิษย์ถ่ายที่ 広島 Hiroshima)


วันนี้ขอจบด้วย “คันจิ” ของคำว่า “ซากุระ” ครับ
 

ด้านซ้ายมือจำง่าย ๆ ว่าเป็น 木 “ต้นไม้”
ด้านขวามือจำง่าย ๆ ว่าเหมือนเป็นกลีบดอกร่วงโรย และมี女 “ผู้หญิง” อยู่ข้างล่างครับ

ศัพท์เพิ่มเติม
山桜 yamazakura “หยะมะซะกุหระ”
ชื่อสายพันธุ์หนึ่งของซากุระ มักปรากฏในบทกวีญี่ปุ่น ส่วนที่ซากุระที่พบเห็นมากที่สุดในญี่ปุ่น คือ พันธุ์ 染井吉野 Someiyoshino ถ้าไปญี่ปุ่นรับรองต้องเห็นพันธุ์นี้แน่นอน เช่น ภาพที่ลูกศิษย์ถ่ายมาฝาก


ใครไปเที่ยวญี่ปุ่นช่วงมีนาคม-เมษายน อย่าลืมถ่ายรูปซากุระสวย ๆ มาฝากครูพี่โฮมนะครับ
โพสลงที่เพจ facebook.com/jlpt.iine ได้เลย มีรางวัลให้สำหรับคนที่ได้รับยอด like มากที่สุดและอีกรางวัลสำหรับภาพที่ถูกใจครูพี่โฮมที่สุดครับ

“ครูพี่โฮม” พรหมเทพ ชัยกิตติวณิชย์ จากสถาบันภาษาญี่ปุ่นซาชิ (ZA-SHI) ผู้นำนวัตกรรมการติวภาษาญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) เป็นคนแรกและคนเดียวที่สอบ PAT ภาษาญี่ปุ่นได้คะแนน 300 เต็ม