บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง ตัดเย็บเบื้องต้น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 319.5K views



 

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้า
อุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้า
1. สายวัด
สายวัดที่ดีควรทำด้วยผ้าอาบน้ำยาเคมี เพื่อป้องกันการหดหรือยืด มีโลหะหุ้มที่ปลายทั้ง 2 ข้าง มีตัวเลขบอกความยาวเป็นเซนติเมตรและนิ้ว
2. กระดาษสร้างแบบ ใช้สร้างแบบก่อนตัดผ้า มีทั้งสีขาวและสีน้ำตาล
3. กรรไกรตัดผ้า มี 2 ชนิด คือ ชนิดด้ามโค้งและด้ามตรง ซึ่งกรรไกรด้ามโค้งจะตัดได้เที่ยงตรงกว่า เพราะใบกรรไกรอยู่ขนานกับผ้าขณะตัด ไม่ควรทำกรรไกรตกขณะใช้เพราะทำให้เสียคม หมั่นลับกรรไกรให้คมเสมอ และหยอดน้ำมันจักรเป็นครั้งคราวเพื่อป้องกันไม่ให้กรรไกรฝืด
4. ชอล์กเขียนผ้า ใช้ทำเครื่องหมายบนผ้ามีทั้งแบบแท่งเหมือนดินสอและแบบแผ่นรูสามเหลี่ยม
5. กระดาษกดรอย เป็นกระดาษสีมีหลายสี อาบด้วยเทียนไข ใช้กับลูกกลิ้งเพื่อกดรอย เผื่อเย็บเกล็ดหรือตะเข็บลงบนผ้า ควรเลือกให้เหมาะกับสีของผ้า
6. ลูกกลิ้ง ใช้คู่กับกระดาษกดรอย มี 2 ชนิด คือ ชนิดลูกล้อฟันเลื่อย และชนิดปลายแหลมเหมือนเข็ม โดยทั่วไปนิยมใช้ชนิดลูกล้อฟันเลื่อยมากกว่า เพราะลูกกลิ้งติดสีได้ดีและรอยมีความถี่มากกว่า
7. เข็มเย็บผ้า ควรเลือกให้เหมาะสมกับผ้า เช่น เข็มเบอร์ 10–11 มีขนาดเล็กใช้กับผ้าเนื้อบางเบา เข็มเบอร์ 9 มีขนาดกลางใช้กับผ้าเนื้อหนาปานกลาง และเข็มเบอร์ 8 มีขนาดใหญ่ใช้กับผ้าเนื้อหนา
8. เข็มจักร ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของด้ายและความหนาของเนื้อผ้า เช่น เข็มจักรเบอร์ 9 ใช้กับผ้าแพร ผ้าชีฟอง ผ้าไหม และผ้าป่าน เข็มจักรเบอร์ 11 ใช้กับผ้าสักหลาดและผ้าฝ้ายผสมไนลอน เข็มจักรเบอร์ 13 ใช้กับผ้าลินิน ผ้าเสิร์จ และผ้าฝ้าย เข็มจักรเบอร์ 14 ใช้กับผ้าขนสัตว์ ผ้าใยสังเคราะห์ และผ้าขนสัตว์ผสมสำลี เข็มจักรเบอร์ 16 ใช้กับผ้าใบ ผ้ายีน และหนัง
9. เข็มหมุด ใช้กลัดเพื่อป้องกันการเคลื่อนเวลากดรอยเผื่อเย็บ ใช้ทำเครื่องหมายลงบนผ้า หรือเนาผ้าให้ติดกัน เมื่อจะตัดผ้าตามแบบ
10. ด้าย ใช้เย็บเพื่อประกอบชิ้นส่วนของผ้าให้ติดกัน ควรเลือกให้เหมาะสมกับสีผ้า ความหนาของผ้า และขนาดของเข็ม ด้ายที่นิยมใช้กับผ้าทุกชนิด คือ เบอร์ 60
11. ที่เลาะด้าย ใช้เลาะด้ายส่วนที่ไม่ต้องการทิ้ง ส่วนปลายมีลักษณะแหลมคมและมีง่าม มีปลอกสวมเพื่อความปลอดภัย
12. หมอนเข็ม เป็นอุปกรณ์พักเข็มชนิดต่าง ๆ หลังใช้งานหรือรอการใช้งาน หมอนเข็มที่ดีควรทำจากผ้ากำมะหยี่หรือผ้าขนสัตว์ ไส้ในควรบรรจุด้วยเส้นผม ขนสัตว์ หรือขี้เลื่อย เพื่อป้องกันสนิม



การเลือกผ้าเพื่อใช้ในการตัดเย็บ
1. ควรเลือกผ้าที่ทอเนื้อละเอียด ไม่บาง มีน้ำหนักเพื่อให้จับได้เต็มที่ขณะเย็บ
2. ควรเป็นผ้าสีพื้น ไม่ควรใช้ผ้าที่ต้องต่อลายให้ตรงกัน
3. ควรเป็นผ้าที่ไม่ยับง่าย เพราะจำทำให้เสียเวลาในการรีด
4. ควรเป็นผ้าที่สีไม่ตก และหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าสีเข้ม เช่น สีน้ำเงิน น้ำตาล
5. ควรเป็นผ้าที่มีความคงทน เส้นด้ายทอไม่แตกง่าย และไม่ยืดหรือหดเมื่อผ่านการซัก
6. ควรเป็นผ้าที่สวมใส่แล้วสบายตัว ไม่ระคายเคืองผิว
7. ควรเลือกผ้าตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ เช่น ผ้าที่ใช้ตัดชุดนอนควรเป็นผ้าเนื้อนิ่ม เป็นต้น
8. ไม่ควรเลือกใช้ผ้าราคาแพง เพราะหากตัดเย็บไม่สำเร็จจะสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์
9. พยายามเลี่ยงผ้าที่มีเชิงริมผ้าทั้ง 2 ด้าน เพราะจะทำให้ตัดและเย็บประกอบเป็นตัวเสื้อได้ยาก

สำหรับผ้าที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดมีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. ผ้าฝ้าย
มีคุณสมบัติซึมซับน้ำและระบายความร้อนได้ดี ทนความร้อนสูง ทนต่อการซักรีด ราคาไม่แพงและตัดเย็บง่าย เหมาะจะนำมาตัดชุดนอน ชุดลำลอง กางเกง กระโปรง ชุดเด็ก และผ้าอ้อม
2. ผ้าลินิน มีคุณสมบัติซึมซับน้ำได้ดีและมีความเหนียวมาก สวมใส่สบาย เหมาะที่จะนำมาตัดเย็บเป็นของใช้ในครัว แต่ไม่ควรนำมาฝึกตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะยับง่าย รีดยาก และราคาแพง
3. ผ้าไหม เนื้อนุ่ม เบา ขึ้นเงาสวยงาม นิยมนำมาตัดชุดสำหรับงานพิธี งานกลางคืน หรือโอกาสพิเศษ ไม่ควรนำมาฝึกตัดเย็บเสื้อผ้า เพราะซักรีดยาก ราคาแพง
4. ผ้าขนสัตว์ มีความยืดหยุ่นดีเยี่ยม ไม่ยับ และเก็บความร้อนได้ดี แต่มีราคาแพง นิยมนำมาตัดเป็นเสื้อผ้าและเครื่องกันหนาว
5. ผ้าเส้นใยสังเคราะห์ ถ้าร้อยเปอร์เซ็นต์จะร้อน ไม่ซับเหงื่อ และสวมใส่ไม่สบาย แต่ชนิดที่ผสมเส้นใยธรรมชาติจะไม่ยับ ซักรีดง่าย และสวมใส่สบายกว่า นอกจากนี้ยังมีความเหนียวและจับจีบได้สวยงาม ผ้าเส้นใยสังเคราะห์มีชื่อเรียกทางการค้าต่าง ๆ กัน เช่น วิสคอสเรยอน ไลครา เคดอน แอนทรอน เดครอน ไวครอน ออร์ลอน ไวคารา เป็นต้น

ขั้นตอนการตัดเย็บเสื้อผ้า



1. การวัดตัว ใช้เชือกผูกเอวเพื่อให้รู้ตำแหน่งของเอว ยืนตัวตรง จากนั้นผู้วัดจะวัดตามขั้นตอนต่อไปนี้
1) วัดรอบอก วัดให้ผ่านช่วงที่นูนที่สุดของอก โดยใช้สายวัดด้านหน้าและด้านหลังเป็นแนวเดียวกัน
2) วัดรอบเอว วงสายไปรอบเอวแล้ววัดส่วนที่คอดที่สุดตรงเอวให้พอดี
3) วัดรอบสะโพกล่าง ทาบสายวัดตรงส่วนที่นูนสุดของสะโพก ขณะวัดให้ใช้นิ้วสอดเข้าไปในสายวัด 2 นิ้ว จากนั้นลองเลื่อนสายวัดขึ้น-ลงพอให้สายวัดผ่านสะโพกได้สะดวก
4) วัดความยาวด้านหลัง ทาบสายวัดจากปุ่มกลางกระดูกคอด้านหลังให้แนบกับลำตัวด้านหน้าลงมาถึงเอว
5) วัดความยาวด้านหน้า ทาบสายวัดตรงรอยบุ๋มตรงกลางคอด้านหน้าให้แนบกับลำตัวด้านหลังลงมาถึงเอว
6) วัดรอบคอ วางสายวัดให้ชิดกับฐานคอตรงแนวต่อกับช่วงไหล่ แล้วใช้นิ้วสอดไปในสายวัด 1 นิ้ว วัดให้พอหมุนได้
7) วัดความกว้างของบ่าหน้า วัดจากช่วงรักแร้ด้านหน้าด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง
8) วัดความกว้างของบ่าหลัง วัดจากช่วงรักแร้ด้านหลังด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง
9) วัดความยาวไหล่ วัดจากข้างคอที่แนวตะเข็บไหล่มาที่ปุ่มปลายไหล่
10) วัดความแขน ให้ผู้ถูกวัดยืนเท้าเอว แล้วใช้สายวัดทาบหัวไหล่ผ่านข้อศอกไปจนถึงข้อมือ
11) วัดรอบข้อมือ วงสายวัดรอบตรงปุ่มข้อมือ แล้วลองเลื่อนขึ้น-ลงให้ผ่านมือได้สะดวก
12) วัดความยาวกระโปรงหรือกางเกง วางสายวัดทาบจากขอบเอวยาวลงมาทางด้านหน้าขาหรือด้านข้างลำตัว

การวัดตามขั้นตอนนี้เป็นแบบพื้นฐานทั่วไป ถ้าต้องการเสื้อผ้าที่มีรายละเอียดมากขึ้น เช่น เสื้อแขนยาว อาจจะต้องวัดรอบรักแร้เพิ่มเติม เพื่อจะได้เผื่อหลวมให้สามารถเคลื่อนไหวในอิริยาบถต่าง ๆ ได้โดยสะดวก
2. การเตรียมผ้าก่อนตัด บางครั้งผ้าที่ซื้อมาอาจถูกตัดหรือชายผ้าฉีก ทำให้เส้นด้ายของเนื้อผ้าเสียรูปทรง แก้ไขได้โดยดึงมุมทุกมุมของผ้าให้เป็นมุมฉาก และถ้าต้องการหดผ้าสำหรับผ้าที่ซักเปียกได้ ให้ทบผ้าตามยาวแล้วพับผ้าวางลงในภาชนะที่มีน้ำ แช่ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมงหรือจนกระทั่งน้ำซึมทั่วผืนผ้า แล้วยกออกทั้งที่ยังพับอยู่ จากนั้นใช้ฝ่ามือกดน้ำออกโดยไม่ต้องบิด แล้วนำไปวางบนพื้นราบ ผึ่งแดดให้แห้ง
3. การสร้างแบบตัด จะต้องสร้างแบบตัดมาตรฐาน โดยใช้อุปกรณ์ได้แก่ กระดาษสร้างแบบ ดินสอดำ ยางลบ ไม้บรรทัด กรรไกร ดินสอสีน้ำเงินหรือแดง แบบตัดมาตรฐาน ได้แก่ แผ่นหน้า แผ่นหลัง และแขนเสื้อ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1) การสร้างแบบตัดแผ่นหน้า วัดขนาดริมกระดาษสร้างแบบด้านบนลงมา 10 เซนติเมตร เป็นจุดเริ่มต้น โดยให้เส้นขนานที่ขวามือด้านริมกระดาษเป็นจุดที่ 1 หาความกว้างและลึกของตัวเสื้อ เช่น

ส่วนที่กำหนด รอบคอ=33 รอบคอ=34 รอบคอ=35
คอหน้ากว้าง 6 6 6.25
คอหน้าสูง 6.5 6.5 6.75
คอหลังกว้าง 6.5 6.5 6.75
คอหลังสูง 1.5 1.5 1.75

เอวรอบคอ ÷ 6
ถ้าหาคอหน้ากว้าง ให้เอารอบคอ ÷ 6 + 0.5 = ?
ถ้าหาคอหน้าสูง ให้เอารอบคอ ÷ 6 + 1 = ?
ถ้าหาคอหลังกว้าง ให้เอารอบคอ ÷ 6 + 1 = ?
ถ้าหาคอหลังสูง ให้เพิ่ม 1.5 ตามสัดส่วนของแต่ละคน

 


หมายเลขบอกตำแหน่งการสร้างแบบแผ่นหน้า
1–2 เท่ากับความยาวด้านหน้า
2–3 วัดต่ำลงมา 20 เซนติเมตร
1–4 เป็นจุดแบ่งครึ่งของจุด 1-2
1–5 เป็นจุดแบ่งครึ่งของจุด 1-4
1–6 เท่ากับ ของรอบอก + 4 เซนติเมตร
6–7 เท่ากับความยาวด้านหน้า หรือเท่ากับ 1–2
7–8 วัดต่ำลงมา 20 เซนติเมตร ลากเส้นจากจุด 3–8
แนวเส้นสะโพกล่าง
6–9 เป็นจุดแบ่งครึ่งของจุด 6–7 ลากเส้น 4–9 เป็นแนวเส้นอก
6–10 เป็นจุดแบ่งครึ่งของจุด 6–9 ลากเส้น 5–10 เป็นแนวเส้นบ่า
1–11 วัดเข้าไป = คอหน้ากว้าง (รอบคอ ÷ 6 = ? + 0.5)
11–12 ลากเส้นตั้งฉากขึ้นไปจากจุด 11 = คอหน้าสูง (รอบคอ ÷ 6 = ? + 1) โค้งคอจากจุด 1–12
12–13 วัดต่ำลงมา 5 เซนติเมตร ลากเส้นตั้งฉากไปทางซ้าย แล้วลากgส้นจากจุด 12–14 ให้ติดกัน ที่เส้นฉากที่ลากออกมาจากเส้นคอให้มีความยาว = ตะเข็บไหล่
9–4 แบ่งครึ่งเป็นจุด 15 จุด จากจุด 15 ลากเส้นตรงลงมาถึงชายเสื้อ และลากเส้นให้สูงขึ้นไปจา เส้นอก = 2 เซนติเมตร จากจุดนี้ลากเส้นตั้งฉากออกไปทั้งสองข้าง
5–16 = ของบ่าหน้า ลากเส้นตั้งฉากลงมาเป็นจุด 17 จากจุด 17 ลากเส้นเฉียงออกไป = 2 เซนติเมตร โค้งวงแขนจาก 14 ผ่าน 16 ถึง 15

2) การสร้างแบบตัดแผ่นหลัง
หมายเลขบอกตำแหน่งการสร้างแบบแผ่นหน้า
7–18 เท่ากับความยาวหลัง
18–19 ลากเส้นตั้งฉากเข้าไป = (รอบคอ ÷ 6 = ? + 1)
19–20 วัดลงมา = คอหลังสูง (วัดลงมา 1.5 เซนติเมตร)
19–21 วัดขึ้นไป = คอหลังสูง (ผลต่างของความยาวด้านหลัง-ด้านหน้า)
10–22 ของบ่าหลัง ลากเส้นตรงลงมาถึงจุด 23 แล้วลากเส้นเฉียงออกไป 2.5 เซนติเมตร แล้วลากเส้นตรงขึ้นไปแนวเดียวกับจุด 21 เป็นจุด 24 จากจุด 24 วัดออกมาทางขวามือ 1 เซนติเมตรเป็นจุด 25
20–25 ลากเส้นต่อกันเป็นแนวตะเข็บไหล่ โค้งวงแขนหลังจากจุด 25 ผ่านจุด 22 ถึงจุด 15
หมายเหตุ ถ้าสะโพกคับหรือเล็กไปจะต้องเพิ่มเนื้อที่เข้าไปในตะเข็บข้าง

 


3) การสร้างแบบแขนเสื้อ ต้องวัดความยาวแขน แล้ววางแขนแผ่นหน้าและแผ่นหลังที่ตัวเสื้อ



หมายเลขบอกตำแหน่งการสร้างแบบแขนเสื้อ
1–2 เท่ากับความยาวของแขนเสื้อ
2–3 ของรอบวงแขนที่สัดได้แผ่นหน้าและแผ่นหลังรวมกันลบออก 2.5 เซนติเมตร เช่น
22 + 23 = 45 ÷ 2 = 22.5 – 2.5 = 20 เซนติเมตร ฉะนั้น 2–3 ลากเส้นตั้งฉากลงมา 20 เซนติเมตร
3–4 ลากเส้นตั้งฉากจากจุด 3 = 8–10 เซนติเมตร
2–4 ลากเส้นต่อกัน แล้วแบ่งครึ่งเป็นจุด 5 จุด แล้วโค้งแนวโค้งของแขนให้แนวโค้งตัดกันที่จุด 5 หรือต่ำลงมานิดหน่อยก็ได้
1–6 ของรอบปลายแขนหรือให้น้อยกว่า 2–3 = 2 เซนติเมตร แล้วแต่งตะเข็บให้ใต้ท้องแขนจากจุด 4 ถึงจุด 6

4. การตัดผ้าตามแบบ วางแบบกระดาษลงบนผ้าที่วางบนโต๊ะเรียบ สำหรับผ้าลาย ก่อนตัดควรดูให้แน่ใจก่อนเพื่อเวลาที่ต่อลายจะได้เนียนสนิท จากนั้นใช้เข็มหมุดกลัดกระดาษให้ติดกับผ้าแล้วเผื่อเย็บโดยรอบด้วยการกดลูกกลิ้งลงบนกระดาษกดรอยไว้ทุกด้าน ประมาณด้านละ 2 เซนติเมตร หรือ 1 นิ้ว และตัดผ้าเป็นชิ้น ๆ ตามแบบที่กลัดไว้
5. การทำเครื่องหมายบนผ้า มีอุปกรณ์สำคัญ คือ ลูกกลิ้ง กระดาษกดรอย และชอล์กเขียนผ้า ทำเครื่องหมายที่ต้องการให้ปรากฏบนผ้าส่วนใหญ่ ได้แก่ กลางหน้าและกลางหลังของเสื้อ ตะเข็บต่าง ๆ เกล็ดกระโปรง กางเกง หรือเสื้อ รอยเผื่อเย็บ ตำแหน่งติดกระเป๋า เป็นต้น ถ้ามีจักรเย็บผ้าก็ให้เย็บกันลุ่ยผ้าแต่ละชิ้นก่อน
6. การเนาผ้า เป็นการทำแนวเย็บผ้าและยึดผ้าแต่ละชิ้นให้ติดกันเพื่อป้องกันการเลื่อนของตำแหน่งผ้าเวลาเย็บ ซึ่งเมื่อเย็บเสร็จก็จะเลาะด้ายที่เนาไว้แล้วออกไป
7. การเย็บประกอบรูปร่าง โดยใช้เข็มสอยกับด้าย หรือใช้จักรเย็บผ้า รวมถึงการติดกระดุม เย็บรังดุม ติดตะขอ ซิป และสอยเก็บริม

ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานตัดเย็บเสื้อผ้า
1. ศึกษาวิธีการใช้ให้ละเอียดก่อนทุกครั้ง
2. ขณะใช้อุปกรณ์การตัดเย็บเสื้อผ้าควรแต่งกายให้รัดกุม
3. ถ้าง่วงนอนหรือร่างกายอ่อนเพลียให้หยุดทำงานทันที
4. ถ้าอุปกรณ์การตัดเย็บเสื้อผ้าผิดปกติหรือชำรุดให้รีบซ่อมทันทีก่อนนำมาใช้
5. เมื่อใช้งานเสร็จควรเก็บไว้ในที่มิดชิดและแยกประเภทให้เป็นระเบียบเพื่อความสะดวกใช้งาน
6. อุปกรณ์การตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีความแหลมคม ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ
7. อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ต้องใช้ไฟฟ้า เช่น เตารีด จักรเย็บผ้าไฟฟ้า ควรถอดปลั๊กและเก็บสายไฟฟ้าให้เรียบร้อยหลังใช้งาน

การตัดเย็บเสื้อผ้าอย่างง่ายด้วยตนเอง
ตัวอย่างการตัดเย็บเสื้อผ้า
การตัดเย็บเสื้อกั๊ก
1. การวิเคราะห์งาน
ลักษณะงาน ต้องศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเลือกผ้า การวัดตัว การสร้างแบบ ขั้นตอนการตัดเย็บ จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือในการตัดเย็บ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง
คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงาน ควรเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการตัดเย็บผ้า การออกแบบ เสื้อผ้ามีความประณีต ละเอียด รอบคอบ สามารถตัดสินใจ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
2. การวางแผนในการทำงาน
โดยสร้างแผนที่ความคิดเพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงาน ดังนี้



3. การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน
1. เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ        5. เย็บกันลุ่ยริมผ้า
2. วัดตัวและสร้างแบบตัด                     6. เนาและลองสวมใส่
3. วางแบบตัดและทำรอยเผื่อเย็บ            7. เย็บเสื้อกั๊กตามลำดับขั้นตอน
4. ตัดผ้าและทำเครื่องหมายบนผ้า           8. ตรวจสอบความเรียบร้อยของผลงาน

วิธีการสร้างแบบเสื้อกั๊ก วัดตัวและสร้างแบบพอดีตัว ความยาวเท่าเส้นเอวตำแหน่งที่วัดตัว
1) วัดรอบคอ                                   5) วัดความกว้างของบ่าหน้า
2) วัดรอบอก                                   6) วัดความกว้างของบ่าหลัง
3) วัดความยาวของช่วงตัวด้านหน้า       7) วัดความยาวไหล่
4) วัดความยาวของช่วงตัวด้านหลัง       8) วัดรอบรักแร้

การสร้างแบบแผ่นหน้า ขยายข้างคอหน้ากว้าง 1 เซนติเมตร คอลึก 5 เซนติเมตร แล้ววาดคอหน้าใหม่ อกเพิ่มตลอดข้าง 2 เซนติเมตร วาดแขนต่ำลง 7 เซนติเมตร บ่าหน้าเพิ่ม 1 เซนติเมตร
การสร้างแบบแผ่นหลัง ขยายคอหลังกว้างออก 1 เซนติเมตร และลึกลง 1.5 เซนติเมตร อกเพิ่มตลอดข้าง 2 เซนติเมตร วาดลงแขนต่ำลง 7 เซนติเมตร


    

 

การสร้างแบบแขนเสื้อ กำหนดความยาวแขนตามต้องการ วัดจากปุ่มไหล่ลงมา 1 เซนติเมตร วัดรอบวงแขน ÷ 2 แล้วนำมาตีเฉียงแบ่งเป็น 3 ส่วน โดย 2 ส่วนแรกโค้งขึ้น 1.5 เซนติเมตร ส่วนที่เหลือโค้งลง 0.5 เซนติเมตร จากนั้นโค้งวงแขนมาหาวงแขนเดิม

 


ขั้นตอนการเย็บเสื้อกั๊ก
1) เย็บเข้าไหล่และเย็บพับสาบหน้า
2) กุ๊นรอบวงแขนแล้วเย็บเข้าข้าง
3) กุ๊นรอบคอ สาบหน้า และชายเสื้อ
4) รีดให้เรียบแล้วตรวจดูความเรียบร้อย

4. การประเมินผลการทำงาน ถ้าพบว่าตะเข็บไม่เรียบร้อย ควรเลาะออกแล้วเย็บใหม่ หรืออาจตกแต่งเสื้อกั๊กด้วยกระดุมโลหะ ควรประเมินผลการปฏิบัติงานโดยภาพรวม หากพบรายการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ก็บันทึกไว้เพื่อนำไปแก้ไขในการทำงานครั้งต่อไป

การตัดเย็บกางเกงนอน
1. การวิเคราะห์งาน
ลักษณะงาน ต้องศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเลือกผ้า การวัดตัว การสร้างแบบ ขั้นตอนการตัดเย็บ จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือในการตัดเย็บ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3–4 ชั่วโมง
คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงาน ควรเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการตัดเย็บผ้า การออกแบบ เสื้อผ้ามีความประณีต ละเอียด รอบคอบ สามารถตัดสินใจ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง
2. การวางแผนในการทำงาน โดยสร้างแผนที่ความคิดเพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงาน ดังนี้

 


3. การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน
1. เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ        5. เย็บกันลุ่ยริมผ้า
2. วัดตัวและสร้างแบบตัด                     6. เนาและลองสวมใส่
3. วางแบบตัดและทำรอยเผื่อเย็บ            7. เย็บกางเกงนอนตามลำดับขั้นตอน
4. ตัดผ้าและทำเครื่องหมายบนผ้า           8. ตรวจสอบความเรียบร้อยของผลงาน

วิธีการสร้างแบบกางเกงนอน
ตำแหน่งที่วัดตัว
1) วัดรอบเอวให้พอดีแล้วลบ 10 เซนติเมตร สำหรับคำนวณหายางยืด
2) วัดรอบสะโพก วัดสะโพกล่างเผื่อหลวมได้
3) วัดความยาวของกางเกง จากเอวถึงขา
4) วัดรอบปลายขา
การสร้างแบบแผ่นหน้า
1–2 เท่ากับความยาวกางเกง
1–3 เท่ากับ ของรอบสะโพก + 3 เซนติเมตร
1–6 เท่ากับรอบสะโพก + 3 เซนติเมตร
3–5 เท่ากับ 1-6
3–4 เท่ากับรอบสะโพก + 6 เซนติเมตร
5–0 เท่ากับวัดขึ้น 7–8 เซนติเมตร
2–7 เท่ากับ 1–6 (หรือน้อยกว่าได้เล็กน้อยในกรณีที่ต้องการปลายแคบ)

การสร้างแผ่นหลัง โดยสร้างต่อจากแผ่นหน้า (ดูตามเส้นประ)
6–8 เท่ากับ 3 เซนติเมตร
8–9 เท่ากับ 3 เซนติเมตร
4–10 เท่ากับ 3.5 เซนติเมตร
7–11 เท่ากับ 3.5 เซนติเมตร
โค้งตามเส้นประจากจุด 1–9 และ 10–11
*หมายเหตุ เส้นดำ คือ แผ่นหน้า เส้นประ คือ แผ่นหลัง
การเผื่อตะเข็บเย็บ
เอวเผื่อ 1.5 เซนติเมตร
เป้าและใต้ท้องขาเผื่อ 1.5 เซนติเมตร
ตะเข็บข้าง 2 เซนติเมตร
ชายกางเกงเผื่อ 3.5 เซนติเมตร
หมายเหตุ แผ่นหลังเผื่อตะเข็บเย็บเช่นเดียวกับแผ่นหน้า
การคำนวณผ้า
ความยาวกางเกง + เผื่อตะเข็บเย็บ x 2 (ใช้ผ้าหน้า 36-46 นิ้ว)
ความยาวกางเกง + เผื่อตะเข็บเย็บ x 2 (ใช้ผ้าหน้า 60 นิ้ว)
การวางผ้า


ขั้นตอนการเย็บกางเกงนอน
1) เย็บกันยืดที่เส้นเอวทั้งแผ่นหน้าและแผ่นหลัง
2) นำแผ่นหน้าและแผ่นหลังชิ้นที่ 1 มาประกบกันแล้วเย็บตะเข็บข้าง เย็บตะเข็บใต้ท้องขา จะได้ขากางเกง 1 ข้าง
3) นำแผ่นหน้าและแผ่นหลังชิ้นที่ 2 มาเย็บเช่นเดียวกับข้อ 2) จะได้ขากางเกงข้างที่ 2 และให้โพล้งกันลุ่ยตะเข็บคู่ทั้งตะเข็บข้างและตะเข็บใต้ท้องขา
4) นำขากางเกงที่ได้ทั้ง 2 ข้างมาเย็บตรงเป้ากางเกงเข้าด้วยกัน โดยเดินจักร 2 เส้น จะได้ทนทาน
5) โพล้งเป้ากางเกงเป็นตะเข็บคู่เพื่อกันลุ่ย
6) กลับขากางเกงออกด้านนอก พับขอบลงมา 2 เซนติเมตร เว้นไว้ 1.5 เซนติเมตร เพื่อใส่ยางยืด
7) ใส่ยางยืด โดยใช้ยางยืดที่ยางน้อยกว่ารอบเอว 10 เซนติเมตร
8) รีดให้เรียบแล้วตรวจดูความเรียบร้อย

4. การประเมินผลการทำงาน ถ้าพบว่ายางยืดที่ขอบกางเกงแน่นหรือหลวมไป ควรเลาะออก วัดขนาดให้พอดีแล้วเย็บใหม่ ควรประเมินผลการปฏิบัติงานโดยภาพรวม หากพบรายการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ก็บันทึกไว้เพื่อนำไปแก้ไขในการทำงานครั้งต่อไป

การดัดแปลงเสื้อผ้า
วิธีการดัดแปลงเสื้อผ้า
แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. เสื้อผ้าที่ยังมีสภาพดี ต้องการดัดแปลงเพื่อหนีความจำเจ หรือเพื่อให้ทันสมัย
2. เสื้อผ้าที่มีรอยชำรุด จำเป็นต้องนำมาดัดแปลงเพื่อแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงสภาพที่ชำรุด
ขั้นตอนการดัดแปลงเสื้อผ้า
1. ออกแบบเสื้อ กางเกง หรือกระโปรงตัวใหม่ก่อนโดยยึดหลักความคงทน และประโยน์ใช้สอย
2. เลือกวิธีการดัดแปลงแก้ไขบางส่วนที่เหมาะสมกับเสื้อผ้า
3. เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือที่จะใช้ในการตัดเย็บและดัดแปลงเสื้อผ้าให้พร้อม
4. ลงมือดัดแปลงตามแบบ
5. ตกแต่งเสื้อผ้าที่ดัดแปลงให้เรียบร้อยสวยงาม
วิธีดัดแปลงเสื้อผ้า
1. การตัดให้สั้น
1) เสื้อแขนยาวทำเป็นเสื้อแขนสั้น โดยการตัดแขนทั้งสองข้างให้เท่ากัน แล้วเย็บตะเข็บด้วยจักรเย็บผ้าหรือเย็บมือให้มั่นคงแข็งแรงสวยงาม

 

 

2) กระโปรงยาวตัดชายให้สั้น โดยตัดชายให้สั้นตามต้องการ แล้วสอยชายให้เรียบร้อย

 

 

3) กางเกงขายาวทำเป็นกางเกงขาสั้น นำมาตัดขาแล้วเย็บปลายขาให้เป็นกางเกงขาสั้น

 


2. การต่อให้ยาว ใช้ดัดแปลงกระโปรง โดยนำมาตกแต่งด้วยลูกไม้ หรือจีบระบายที่ชายกระโปรง

 


3. การเปลี่ยนสัดส่วน เสื้อผู้ใหญ่นำมาเปลี่ยนสัดส่วนดัดแปลงเป็นเสื้อเด็ก โดยออกแบบตัดเย็บหลบเลี่ยงรอยขาด หรือรอยต่อตะเข็บของเสื้อตัวเดิม

 


4. การแก้ไขบางส่วน เช่น เสื้อปกขาดแก้เป็นเสื้อคอกลม แขนเสื้อขาดแก้เป็นไม่มีแขน มีวิธีดังนี้
1) เลาะปกเก่าออก แล้วรีดตะเข็บตัวเสื้อตรงรอยเลาะให้เรียบ
2) เย็บโดยพับสอย หรืออาจใช้ผ้ากุ๊นรอบคอเสื้อเพื่อให้สวยงามยิ่งขึ้น

 


5. การตกแต่งเพิ่มเติม โดยนำมาติดโบ ติดลูกไม้ หรือปักลวดลายต่าง ๆ

 


6. การเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอย เสื้อผ้าที่ใส่มานานแล้ว แต่เนื้อผ้ายังดี สามารถนำมาดัดแปลงได้
1) เสื้อชุดเก่าเปลี่ยนเป็นผ้ากันเปื้อน โดยตัดแบบผ้ากันเปื้อนวางบนตัวเสื้อด้านหน้า แล้วตัดตามแบบ นำมาเย็บริม ผ้าคล้องคอ ผ้าผูกเอวตัดจากเสื้อด้านหลัง นำมาเย็บติดกัน และกุ๊นด้วยผ้าสีสวย ๆ

 


2) ผ้าเช็ดตัวเปลี่ยนเป็นผ้าจับหูกระทะ ผ้าเช็ดตัวที่มีรอยขาดนำมาตัดตามแบบ 4 ชิ้น นำ 2 ชิ้นประกบกันเย็บริมโดยรอบแล้วกุ๊นด้วยผ้าสีสวย ๆ อาจตกแต่งเพิ่มเติมหรือเย็บหูสำหรับแขวนด้วยก็ได้

 


แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th/