บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง บ้านน่าอยู่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 26.2K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



การดูแลรักษาบ้าน
การทำความสะอาดส่วนประกอบของบ้าน
1. เพดาน
ก่อนทำควรย้ายสิ่งของขนาดเล็กออกจากห้องก่อน ส่วนที่ขนย้ายไม่ได้ให้เอาผ้าคลุมให้มิดชิด ใช้ไม้กวาดด้ามยาวกวาดบริเวณที่มีหยากไย่และพื้นที่ทั่ว ๆ ของเพดาน ขณะปฏิบัติควรใช้ผ้าปิดจมูก การทำความสะอาดควรทำสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานมาก



2. ฝาผนัง
1) ฝาผนังไม้ ใช้ไม้กวาดปัดให้สะอาด ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดเช็ดบริเวณที่สกปรก แล้วใช้ไม้
กวาดขนไก่ปัดเบา ๆ แล้วใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาดเช็ดอีกครั้ง
2) ฝาผนังคอนกรีต ใช้ผ้านุ่มหรือฟองน้ำชุบน้ำผสมผงซักฟอกเช็ดถู ส่วนบริเวณที่สกปรกมากให้ใช้แปรงลวดขัดด้วยผงซักฟอกแล้วล้างด้วยน้ำสะอาด
3) ฝาผนังปูนที่ทาด้วยสีพลาสติก (สีน้ำ) ใช้ผ้าแห้งกับผงขัดเช็ดถูบริเวณที่มีรอยเปื้อนโดยไม่ต้องใช้น้ำ ถ้ามีคราบติดแน่น ใช้ผ้าชุบน้ำผสมผงซักฟอกหรือสบู่เช็ดถู
4) ฝาผนังกระเบื้องเคลือบหรือฝาผนังปูนที่ทาด้วยสีน้ำมัน ใช้ผ้านุ่มหรือฟองน้ำชุบน้ำผสมผงซักฟอก บริเวณที่สกปรกมากให้ใช้น้ำยาขัดกระเบื้องเคลือบขัดให้ทั่วแล้วล้างออก เช็ดให้แห้ง

3. ประตูและหน้าต่าง การทำความสะอาดประตูและหน้าต่างควรทำพร้อมกัน
1) ทำด้วยไม้ ใช้ไม้กวาดดอกหญ้าหรือไม้กวาดขนไก่ปัดฝุ่นออกแล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้สะอาด
2) ทำด้วยกระจก ใช้น้ำยาทำความสะอาดกระจกฉีดให้ทั่ว แล้วใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เช็ด แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดซ้ำอีกครั้ง ถ้าหน้าต่างเป็นบานเกล็ด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำพันไม้เช็ดตามซอกบานเกล็ด
3) ทำด้วยเหล็กดัด ใช้ไม้กวาดขนไก่ปัดฝุ่นออกแล้วใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้สะอาด ควรทาสีเพื่อกันสนิม แต่ถ้ามีรอยถลอกเป็นสนิมควรขัดด้วยกระดาษทรายแล้วทาสีใหม่ทับ

4. พื้นบ้าน
1) พื้นไม้ธรรมดาไม่ขัดเงา ใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดตามร่องแล้วใช้ไม้กวาดดอกหญ้ากวาดอีกครั้งให้สะอาด จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด ถ้าพื้นขัดเงาหรือเป็นพื้นปาร์เกต์ ให้ใช้ไม้กวาดดอกหญ้ากวาด แล้วใช้ผ้าแห้งถูให้สะอาด ถ้าพื้นสกปรกมากให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดเช็ดเบา ๆ
2) พื้นซีเมนต์หรือหินขัด ใช้ไม้กวาดดอกหญ้ากวาดให้สะอาด แล้วใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดถูให้ทั่ว ถ้าพื้นสกปรกมากให้ใช้ผ้าชุบน้ำผสมน้ำยาขัดพื้นหรือผงซักฟอก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดเช็ดให้สะอาด จากนั้นกวาดด้วยไม้กวาดทางมะพร้าว แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดอีกครั้งหนึ่ง
3) พื้นกระเบื้องยางและเสื่อน้ำมัน ใช้ไม้กวาดดอกหญ้ากวาดให้สะอาด แล้วใช้ผ้าชุบน้ำผสมน้ำยาทำความสะอาดหรือสบู่บิดหมาดเช็ดถูพื้นให้ทั่ว แล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดพื้นให้แห้ง ถ้าบริเวณใดสกปรกมากใช้แปรงขนนุ่มขัดเบา ๆ แล้วเช็ดด้วยผ้าแห้ง ข้อควรระวัง อย่าให้น้ำถูกพื้น

การทำความสะอาดบริเวณบ้าน
1. รั้วบ้าน
รั้วสังกะสี รั้วไม้ หรือรั้วปูน ใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวปัดฝุ่น ถ้าประตูรั้วมีเสียงดังเวลาเคลื่อนที่ให้หยอดน้ำมันหรือจารบี สำหรับรั้วบ้านที่เป็นต้นไม้ ควรตัดแต่งให้สวยงามอยู่เสมอ
2. สนามหญ้า
ใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดเศษขยะ ดูแลหญ้าและต้นไม้ที่ปลูก ควรตัดตกแต่งให้เรียบร้อยอยู่เสมอ สำหรับสนามหญ้าที่ต้องเดินบ่อย ๆ ควรหาแผ่นอิฐหรือแผ่นปูนมารอง

 


3. ลานบ้านและทางเดิน
เป็นพื้นปูนควรกวาดด้วยไม้กวาดทางมะพร้าว ซีเมนต์ควรทำความสะอาดด้วยแปรงขัดกับน้ำผสมผงซักฟอกแล้วใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดน้ำออก เป็นกรวด ดิน หรือทราย ควรกวาดไม้กวาดทางมะพร้าว ก่อนกวาดควรพรมน้ำเพื่อลดการเกิดฝุ่น
4. สวนดอกไม้
ควรรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดแมลงศัตรูพืช ตัดแต่งใบไม้ให้สวยงาม กวาดเศษขยะ และรักษาบริเวณโคนต้นไม้ให้โปร่งอยู่เสมอเพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ
5. ทางระบายน้ำ
1) แบบร่องดิน ทำความสะอาดโดยใช้จอบหรือเสียมโกยดินออกจากร่องน้ำ ปรับแต่งโดยใช้ไม้กั้นบริเวณด้านข้างร่องดิน แล้วบดอัดดินให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้กินพังทลาย
2) แบบร่องซีเมนต์ ทำความสะอาดโดยใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดขยะหรือตะไคร่น้ำที่ค้างอยู่ออกให้หมดก่อน แล้วใช้แปรงพลาสติกแข็งขัดและล้างด้วยน้ำจนสะอาด ถ้ามีคราบไขมันควรใช้สบู่หรือผงซักฟอกล้างขณะที่กวาด นอกจากนี้ควรดูแลรักษาตระแกรงเหล็กปิดกั้นปากทางระบายน้ำ
3) แบบท่อซีเมนต์หรือท่อพลาสติก วิธีป้องกัน คือ ใส่ตระแกรงเหล็กปิดกั้นปากท่อน้ำ หรือใช้น้ำร้อนราดลงไปเป็นครั้งคราวเพื่อขจัดคราบไขมันตามผนังท่อ และหมั่นกวาดเศษขยะบริเวณตระแกรงที่ปิดกั้นท่อน้ำ 
6. ขยะ ทำได้ดังนี้
1) จัดเตรียมภาชนะรองรับขยะให้เพียงพอ ไม่รั่วซึม มีขนาดพอเหมาะ เคลื่อนย้ายสะดวก มีถุงพลาสติกรอง และควรมีฝาปิดมิดชิด
2) นำขยะไปกำจัด ทำได้หลายวิธีดังต่อไปนี้
(1) นำขยะมาเทรวมในถุงพลาสติกใบใหญ่โดยแยกเป็นประเภท
(2) นำขยะไปใช้เลี้ยงสัตว์ โดยนำเศษเหลือทิ้งไปให้สัตว์กิน แต่ต้องระวังการบูดเน่าเสีย
(3) กำจัดขยะโดยการเผา เหมาะสำหรับกระดาษ ไม้ ควรระวังอย่าให้ไฟลามไปที่อื่น
(4) กำจัดขยะโดยการฝัง เหมาะสำหรับแก้ว กระป๋องโลหะ เป็นต้น โดยเลือกบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง อยู่ไกลจากบ้านหรือแหล่งน้ำอย่างน้อย 30 เมตร ขุดกว้าง 4–5 ฟุต ลึก 5–6 ฟุต เทขยะลงหลุมจนสูง 2–3 ฟุต เกลี่ยให้เรียบ เทดินกลบหน้าหนา 1 ฟุต กระทุ้งดินให้แน่น ถ้าต้องการเทขยะลงไปอีกให้เทดินกลบทุกครั้งที่เทขยะ เมื่อหลุมเต็มเทดินกลบครั้งสุดท้ายให้หนาเพื่อกันดินยุบ 

ตัวอย่างการทำความสะอาดบริเวณบ้าน
1. การวิเคราะห์งาน เป็นการศึกษาข้อมูลและคุณสมบัติของผู้ทำความสะอาด
ลักษณะงาน ต้องร่วมมือกันทำ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที
คุณสมบัติของผู้ที่ทำความสะอาดบริเวณบ้าน คนเป็นคนที่มีความรู้ด้านการทำความสะอาด มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบมีทักษะการวางแผน สามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหาต่างๆได้ด้วยตนเอง
2. การวางแผนในการทำงาน สร้างแผ่นที่ความคิดเพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงาน



3. การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน
1) ทำความสะอาดสนามหญ้า โดยใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดเศษขยะแล้วโกยใส่บุ้งกี๋เพื่อนำไปทิ้งขยะ
2) นำเสียมและช้อนปลูกมาขุดหลุดปลูกต้นไม้ซ่อมแซมต้นที่หายไป
3) นำจอบมาถากหญ้าเพื่อทำเป็นทางเดินผ่าสนาม
4) นำกรรไกรตัดกิ่งมาตัดตกแต่งกิ่งไม้
5) นำบัวรดน้ำตักน้ำมารดต้นไม้ พรวนดินด้วยส้อมพรวน และใส่ปุ๋ยรอบๆ โคนต้นไม้
4. การประเมินผลการทำงาน เป็นการตรวจสอบบริเวณบ้านว่าสะอาดหรือไม่ และควรประเมินผลการปฏิบัติงานโดยภาพรวมหากพบรายการที่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ควรบันทึกผลไว้เพื่อนำไปแก้ไขในงานครั้งต่อไป 

การจัดตกแต่งบ้าน
การจัดตกแต่งบ้านควรคำนึงถึงหลักการ
1. ความปลอดภัย ควรจัดวางให้เป็นระเบียบ เช่น การเดินท่อน้ำและสายไฟภายในบ้าน เมื่อกำหนดจุดติดตั้งก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง
2. ความสะอาด ควรจัดให้ถูกสุขลักษณะและหมั่นทำความสะอาด เพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัย
3. ความสะดวกสบาย ควรคำนึงถึงสิ่งนี้ เพื่อให้พักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างสะดวก
4. ความสวยงาม การจัดวางให้เป็นระเบียบ จะช่วยให้รู้สึกสดชื่น และผ่อนคลายความเครียด
5. ความประหยัด ควรคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ พิจารณาจากวิธีทำความสะอาด และราคา

การวางแผนจัดตกแต่งบ้าน
1. สำรวจสภาพพื้นที่โดยรอบ
2. วางแผนในการจัดตกแต่ง กำหนดวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย กำหนดรูปแบบ ทำแผนผัง ศึกษาวิธีการ ขั้นตอนการจัด และจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ให้พร้อม

การจัดตกแต่งบริเวณบ้าน
บริเวณบ้านแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. บริเวณหน้าบ้าน สำหรับรั้วบ้านการจัดตกแต่งให้สวยงามมีวิธีการดังต่อไปนี้
1) รั้วไม้ รั้วสังกะสี หรือรั้วคอนกรีต ควรทำความสะอาดอยู่เสมอ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับตกแต่ง หรือประดับโคมไฟสนามเพื่อความสวยงามและความสว่างสำหรับรั้วคอนกรีต
2) รั้วพุ่มไม้หรือไม้ประดับ ควรตกแต่งให้เสมอกันหรือตัดเป็นรูปทรงต่างๆ และรักษาความสะอาดอยู่เสมอ และอาจปลูกสนามหญ้าเพื่อเพิ่มความสว่างและสดชื่นให้กับบ้าน
2. บริเวณข้างบ้าน ใช้เป็นถนนทางเดิน ถ้ามีพื้นที่มากพออาจปลูกไม้ยืนต้น เพื่อช่วยบังแดด ทำให้ตัวบ้านเย็น ส่วนที่ค่อนมาทางหน้าบ้านอาจทำเป็นสวนหย่อม จะช่วยให้มองดูแล้วสดชื่นและสบายใจ



3. บริเวณหลังบ้าน ไว้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ถ้ามีพื้นที่ไม่มากควรดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของสัตว์มีพิษ หรือเป็นแหล่งเพาะเชื้อ

การจัดตกแต่งสวน โดยทั่วไปมี 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
1. สวนหย่อมแบบธรรมชาติ จัดตกแต่งโดยย่อส่วนธรรมชาติลงมา โดยจัดให้เหมาะกับพื้นที่
2. สวนหย่อมที่จัดโดยเน้นรูปทรงตามหลักศิลปะ ต้องมีความรู้ในหลักศิลปะถึงจะจัดได้
3. สวนหย่อมที่จัดเป็นแบบแผน ใช้รูปทรงเลขาคณิตมากำหนดเป็นรูปแบบโดยรวม พันธุ์ไม้และองค์ประกอบต่างๆ จะถูกกำหนดชัดเจน สวนลักษณะนี้จะใช้พื้นที่น้อย



ข้อควรคำนึงในการจัดตกแต่งสวนหย่อม มีดังต่อไปนี้
1. รสนิยมของผู้อยู่อาศัยในบ้าน
2. สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายลักษณะ เช่น ใช้สำหรับพักผ่อน
3. เลือกรูปแบบการจัดตกแต่งที่สามารถทำเองได้
4. ดูแลรักษาง่าย และพื้นที่ใช้สอยควรเป็นชนิดถาวร เช่น พื้นซีเมนต์
5. รูปแบบสวยงาม ทนทาน มีอายุการใช้งานนาน
6. เลือกใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น รางไม้ ยางรถยนต์
การปรับปรุงบ้านให้น่าอยู่แบบประหยัดพลังงาน
1. ทำให้กระแสลมพัดเข้ามาในบ้าน มีวิธีการทำดังนี้
1) สร้างบ้านโดยให้ตัวอาคารขวางทิศทางหลักของลม
2) เปิดช่องประตูหน้าต่างให้มีลมทั้งทางเข้าและทางออก
3) หากบ้านไม่มีช่องเปิดขวางทิศทางลม สามารถใช้หน้าต่างบานเปิดเป็นเครื่องดักลม
4) ปรับบริเวณรอบบ้านให้ร่มรื่นเย็นสบาย โดยลดพื้นที่ที่เป็นคอนกรีต
5) ทำความสะอาดหน้าต่าง มุ้งลวดหรือมู่ลี่อย่างสม่ำเสมอ
6) จัดสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้ดีขึ้นและถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการกำจัดขยะ
7) หลีกเลี่ยงการวางเฟอร์นิเจอร์ที่ขวางทิศทางลม เพราะจะระบายอากาศได้น้อยลง
2. การลดอุณหภูมิภายในบ้าน มีวิธีการดังนี้
1) ทำช่องระบายอากาศบนหลังคา
2) ทำช่องระบายอากาศใต้หลังคา
3) เปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศเย็นเข้ามาในบ้าน ซึ่งช่วยประหยัดไฟและยังกำจัดเชื้อโรคไรฝุ่น
4) ติดผ้าม่านหรือมู่ลี่เพื่อช่วยลดความร้อนจากแสงแดด
5) หลีกเลี่ยงการวางเครื่องเรือนขวางทิศทางลม
6) ทำร้านปลูกไม้เลื้อยใบเล็กทางทิศใต้ของตัวบ้าน
นอกจากนี้ การปรับปรุงตัวบ้านและบริเวณบ้านก็สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้เช่นเดียวกัน ดังนี้



1. การปรับปรุงตัวบ้าน มีวิธีดังนี้
1) บุฉนวนกันความร้อนที่หลังคาและฝาผนัง
2) ทาสีผนังนอกบ้านด้วยสีอ่อน และใช้วัสดุที่มีผิวมันและกันความชื้น
3) ใช้กระเบื้องหลังคาสีอ่อน เพราะสะท้อนแสงได้ดี
4) สำหรับฝาผนังด้านที่มีระเบียงยื่น ควรเลือกใช้ประตูหรือหน้าต่างบานเกล็ด
5) ติดตั้งหน้าต่างกระจกเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น โดยให้เพียงพอในการรับแสง

2. การปรับปรุงบริเวณบ้าน มีวิธีการดังนี้
1) ปลูกต้นไม้ทรงสูงเพื่อบังแสงแดด ควรปลูกในทิศตะวันออกและทิศตะวันตก
2) ควรเลือกชนิดต้นไม้ที่มีตามท้องถิ่นสำหรับใช้เป็นร่มเงา
3) นำหลักภูมิสถาปัตย์มาใช้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมรอบ ๆ บริเวณบ้านให้เย็นสบาย
4) ถมดินบริเวณรอบบ้านให้สูง เพื่อให้พื้นและฝาผนังบ้านบางส่วนต่ำกว่าดิน
5) ถ้าบริเวณบ้านมีพื้นที่จำกัด อาจปลูกไม้ดัดหรือไม้เลื้อยตามระเบียงหรือรั้วเพื่อลดลมร้อน
6) ถ้าต้องการทำที่จอดรถ ควรทำที่จอกรถพร้อมหลังคาในด้านทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก

การดูแลรักษาและจัดตกแต่งห้องเรียน
การทำความสะอาดห้องเรียน
ควรทำเป็นประจำทุกวันเพื่อฝึกความรับผิดชอบและสร้างนิสัยที่ดีในการทำงาน มีวิธีดังนี้
1. การวิเคราะห์งาน
ลักษณะงาน เป็นหน้าที่ของนักเรียนทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน ต้องศึกษาการทำความสะอาด การเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ใช้เวลา 20 นาที
คุณสมบัติของผู้ที่ทำความสะอาดห้องเรียน ควรเป็นผู้มีความรู้ด้านการทำความสะอาด มีระเบียบวินัย รับผิดชอบ ขยัน และสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆได้ด้วยตนเอง
2. การวางแผนในการทำงาน โดยสร้างแผนที่ความคิดเพื่อให้เห็นภาพรวม ดังนี้

 


3. การปฏิบัติงานตามลำดับขั้นตอน ตามวิธีการต่อไปนี้
1) ย้ายโต๊ะและเก้าอี้ออกไปวางนอกห้องเรียน
2) นำไม้กวาดเสี้ยนตาลมากวาดหยากไย่บนเพดานห้อง
3) นำไม้กวาดดอกหญ้ากวาดพื้นห้องเรียน โดยกวาดมารวมกัน แล้วกวาดใส่ที่ตักผง
4) นำไม้กวาดขนไก่มาปัดกวาดบริเวณหน้าต่างและประตู
5) นำผ้าขี้ริ้วผืนที่ 1 ชุบน้ำบิดหมาดเช็ดกระดานดำและบริเวณที่วางชอล์กให้สะอาด
6) นำผ้าขี้ริ้วผืนที่ 2 ชุบน้ำบิดหมาดมาใส่กับไม้ถูพื้น แล้วนำมาถูห้องเรียนให้สะอาด
7) ย้ายโต๊ะและเก้าอี้มาวางไว้ในห้องเรียน
4. การประเมินผลการทำงาน ถ้าพบว่าพื้นห้องเรียนสกปรกให้นำผ้าขี้ริ้วชุบน้ำบิดหมาดมาเช็ดอีกครั้ง หรือถ้าต้องการให้พื้นเป็นเงางาม ควรนำผ้าชุบขี้ผึ้งหรือแวกซ์มาขัดถู ควรประเมินผลโดยภาพรวม หากพบรายการที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน ควรบันทึกผลไว้ 

การจัดตกแต่งห้องเรียน
ประโยชน์ของการจัดตกแต่งห้องเรียน มีดังต่อไปนี้
1. ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น ห้องเรียนที่ไม่คับแคบเกินไปจะทำให้นักเรียนเกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรม
2. ช่วยสร้างลักษณะนิสัยที่ดีและมีระเบียบวินัยแก่นักเรียน
3. ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่นักเรียน
4. ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และความสนใจในบทเรียน เช่น การจัดมุมวิชาการต่าง ๆ
5. ทำให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เช่น การฝึกให้มีกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน
6. ช่วยสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนและการมาโรงเรียน ทำให้มีความสุขในการเรียนและเป็นคนใฝ่หาความรู้

วิธีการจัดตกแต่งห้องเรียน สามารถปฏิบัติได้ดังต่อไปนี้
1. การจัดโต๊ะและเก้าอี้ของนักเรียน ควรจัดให้มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างและวัย ให้มีรูปแบบที่แตกต่างกัน และควรจัดให้โต๊ะแถวหน้าห่างจากกระดานดำพอสมควร

 


2. การจัดโต๊ะและเก้าอี้ของครู ควรอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม จัดอุปกรณ์ใส่เครื่องเขียน หรือนำดอกไม้มาปักใส่แจกันแล้ววางประดับตกแต่งไว้บนโต๊ะ
3. การจัดป้ายนิเทศ ควรมีเนื้อหาตรงกับบทเรียน หรือผลงานของนักเรียน โดยตกแต่งและออกแบบให้สวยงามเพื่อดึงดูดความสนใจ ควรจัดป้ายนิเทศให้ใหม่อยู่เสมอ
4. การจัดมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน มีลักษณะดังนี้
1) มุมหนังสือ ควรจัดเรียงให้เรียบร้อย เพื่อให้หยิบสะดวก และเปลี่ยนบ่อย ๆ เพื่อทันเหตุการณ์
2) มุมแสดงผลงานนักเรียน อาจนำผลงานนักเรียนไปติดป้ายนิเทศ เพื่อให้มองเห็นชัดเจนทำให้เจ้าของภูมิใจ
3) มุมสื่อการเรียนการสอน ควรจัดวางให้เป็นระเบียบหรือจัดไว้ในตู้เก็บของ เพื่อให้หยิบสะดวก
4) มุมเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดห้องเรียน ควรจัดให้เป็นระเบียบ และหมั่นทำความสะอาด
การจัดตกแต่งห้องเรียนควรคำนึงถึงหลักความสะอาด เรียบง่าย เป็นระเบียบ ประหยัด มีประโยชน์ และสวยงาม เราสามารถประดิษฐ์ของตกแต่งจากวัสดุเหลือใช้เพื่อนำมาตกแต่งห้องเรียน
  

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th