บทเรียนออนไลน์ วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เรื่อง การทำงานร่วมกัน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 57.1K views



ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้



การทำงานร่วมกันในครอบครัว
ความหมายและความสำคัญของครอบครัว
ครอบครัว หมายถึง กลุ่มของบุคคลที่อยู่ร่วมกัน มีความสัมพันธ์และผูกพันกันทั้งด้านร่างกาย จิตใจ การเงิน และกฎหมาย
ปัจจุบันสภาพสังคม การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวเปลี่ยนไปด้วย จากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) อาจมีผู้ช่วยทำงานบ้านอยู่ด้วย บางครอบครัวไม่ค่อยมีความใกล้ชิดกัน การไปมาหาสู่ระหว่างญาติก็ห่างเหิน เพื่อนสำคัญกว่าคนในครอบครัว ส่งผลให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น 

สัมพันธภาพในครอบครัว
รูปแบบสัมพันธภาพในครอบครัว แบ่งตามวิธีการอบรมเลี้ยงดู
1. แบบเผด็จการ สัมพันธภาพรูปแบบนี้ บุตรจะไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบิดามารดา ขาดความอบอุ่น ความมั่นคงปลอดภัย และต้องปฏิบัติตามคำสั่งเป็นประจำ ทำให้บุตรขาดความคิดสร้างสรรค์และความเชื่อมั่นในตนเอง มีปมด้อย เก็บกด

2. แบบประชาธิปไตย สัมพันธภาพรูปแบบนี้บุตรจะมีความรับผิดชอบสูงมีเหตุผล สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีความมั่นใจในตนเองกล้าคิดกล้าทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

 


3. แบบปล่อยตามสบาย สัมพันธภาพรูปแบบนี้บุตรจะมีนิสัยเอาแต่ใจตนเอง ขาดความรับผิดชอบ ขาดระเบียบวินัย และความเสียสละ มองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้ใจผู้อื่น ไม่มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เกเร ก้าวร้าว

แนวทางการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว
1. ทำกิจกรรมร่วมกัน เมื่อมีเวลาว่างควรหาเวลาพูดคุยหรือปรึกษาหารือปัญหาที่เกิดขึ้นกับสมาชิกแต่ละคน หรือจัดกิจกรรมในครอบครัวเสมอเพื่อช่วยให้สมาชิกได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และสร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัว
2. พูดจาภาษาดอกไม้ มีการหยอกล้อกันด้วยคำพูดเพื่อสร้างอารมณ์ขัน รู้จักใช้คำว่า “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ
3.สร้างแนวทางการปฏิบัติตนร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว ต้องปฏิบัติด้วยความเต็มใจ และมีการประเมินผลและคิดหาแนวทางพัฒนาครอบครัวให้มีความสุขและมีคุณภาพเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ
4. เผื่อแผ่ มีน้ำใจให้กัน รู้จักช่วยเหลือ ดูแลกันยามเจ็บป่วย
5. รู้จักประนีประนอม การอยู่ร่วมกันในครอบครัวต้องรู้จักประนีประนอม ให้อภัย
6. มีความเสมอภาค ไม่ลำเอียง ให้เกียรติและยกย่องทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่ใช่ลับหลัง ไม่แสดงความรักหรือปฏิบัติตนพิเศษกับใครคนใดคนหนึ่ง
 

หน้าที่และบทบาทสมาชิกที่ดีของครอบครัว
การดูแลและบริการสมาชิกในครอบครัว เพื่อสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างสมาชิก มีประโยชน์ดังต่อไปนี้
1. ฝึกให้เป็นคนรู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบ
2. ได้ใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างนิสัยให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ครอบครัว และสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง
3. ช่วยประหยัดแรงงานและประหยัดรายจ่ายของครอบครัว ไม่ต้องเสียค่าจ้างคนดูแลบ้าน
4. ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดี ทำให้ผู้ปฏิบัติมีคติประจำใจ คิดดี ประพฤติดีต่อบุคคลอื่น ๆ ตลอดไป

หลักการดูแลและบริการสมาชิกในครอบครัว
1. การดูแลและบริการด้านอาหาร หัวหน้าครอบครัวควรดูแลจัดหาอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอกับจำนวนสมาชิกในครอบครัว อาจจะมีอาหารว่างเสริมระหว่างมื้ออาหาร และฝึกนิสัยและมารยาทในการรับประทานอาหารให้แก่สมาชิกในครอบครัวที่เป็นเด็กและควรให้ช่วยงานในครัว

 


2. การดูแลและบริการด้านที่อยู่อาศัย หัวหน้าครอบครัวควรจัดระบบภายในบ้านให้ถูกสุขลักษณะ เป็นสัดส่วนพอเหมาะกับจำนวนสมาชิก สะดวกสบายและปลอดภัย ต้องคำนึงถึงเพศ วัย และสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวด้วย ควรจัดตกแต่งบริเวณต่าง ๆ ของบ้านอยู่เสมอโดยให้ช่วยกันทำ

 


3. การดูแลและบริการด้านเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย โดยหัวหน้าครอบครัวมีหน้าที่เลือกซื้อ ตัดเย็บ ซ่อมแซม และจัดสรรเสื้อผ้าให้แก่สมาชิกแต่ละคนเป็นส่วนตัว ส่วนการทำความสะอาด การซัก การรีด หรือการซ่อมแซมเสื้อผ้าด้วยวิธีง่าย ๆ สมาชิกแต่ละคนอาจทำด้วยตนเอง
4. การดูแลและบริการด้านสุขภาพอนามัย สมาชิกแต่ละคนควรปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ ดังนี้
1. ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
2. รักษาฟันให้แข็งแรง
3. ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย
4. รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด
5. งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนัน และสำส่อนทางเพศ
6. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
7. ป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท
8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี
9. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
10. มีสำนึกต่อส่วนรวมและร่วมสร้างสรรค์สังคม 



5. การดูแลด้านมารยาทและความประพฤติ ต้องฝึกตั้งแต่เด็ก ๆ โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ให้การอบรม พร้อมกับปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดี

วิธีการดูแลและบริการสมาชิกในครอบครัว มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. การดูแลเด็กเล็ก อายุระหว่าง 2–5 ขวบ มีหลักปฏิบัติดังนี้
1) การจัดอาหาร ควรจัดให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ให้อาหารเสริมที่เหมาะสมกับวัย ให้ความรู้เกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และฝึกสุขนิสัยในการรับประทาน
2) การจัดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว เด็กวัยใกล้ 3 ขวบส่วนใหญ่จะพยายามสวมหรือถอดเสื้อผ้าเอง ในระยะแรกอาจแต่งได้ไม่เรียบร้อยนัก ผู้ใหญ่ควรช่วยติดกระดุมหรือรูดซิปให้บ้าง
3) การดูแลสุขภาพ โดยการพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำตรวจฟันทุก 6 เดือน ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นระยะ และฉีดกระตุ้นตามที่แพทย์กำหนด ดูแลอย่าให้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อ
4) การดูแลเกี่ยวกับการเล่น ควรจัดหาของเล่นที่เหมาะสมและปลอดภัยไว้ให้ โดยมีผู้ใหญ่คอยดูแลในขณะที่เล่น และแนะนำให้เล่นทีละอย่างในเวลาที่เหมาะสม
5) การส่งเสริมทางสติปัญญา ให้เด็กได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ด้วยวิธีต่าง ๆ ขณะที่ทำกิจกรรมก็ปลูกฝังความคิดที่ถูกต้อง จะช่วยให้เติบโตทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย

 


2. การดูแลผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีหลักการดูแลดังนี้
1) การจัดอาหาร ควรจะเน้นพวกอาหารประเภทปลา นม ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง ผัก ผลไม้ เป็นอาหารที่รสไม่จัดและย่อยง่าย
2) การจัดที่อยู่และที่นอน ควรดูแลให้สะอาด เป็นสัดส่วน ระบายอากาศได้ดี
3) การจัดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว ดูแลให้สะอาด เป็นระเบียบ และมีของใช้ส่วนตัวครบถ้วนตามความจำเป็น
4) การดูแลสุขภาพ ควรส่งเสริมให้มีการออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพประจำปี ผู้มีโรคประจำตัวต้องดูแลทานยาให้ตรงตามเวลาที่แพทย์กำหนด และให้กำลังใจเสมอ



สิ่งที่ควรปฏิบัติในการดูแลผู้สูงอายุ
1. ดูแลเอาใจใส่ รู้จักใช้ถ้อยคำสำเนียงในการพูด และระวังกิริยา
2. ยกย่องให้เกียรติว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อครอบครัว
3. พาไปเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่าง ๆ หรือพาไปฟังเทศน์หรือทำบุญเลี้ยงพระที่วัด
4. แสดงความระลึกถึงตามโอกาสต่าง ๆ และแสดงสัมมาคารวะด้วยความจริงใจ
5. ควรจัดให้มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะลูกหลาน หรือจัดหางานอดิเรกให้ทำตามความสนใจและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย



3. การดูแลสมาชิกที่เจ็บป่วย
1) การจัดอาหาร โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ เหมาะสมกับสภาพร่างกายและสภาพการรักษาโรค ควรเอาใจใส่ดูแลหรือป้อนอาหารเพื่อให้รับประทานได้มาก ๆ จะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็ว
2) การจัดที่อยู่และที่นอน ควรแยกสถานที่เอาไว้และจัดห้องที่มีอากาศปลอดโปร่ง มีแสงสว่างเพียงพอปราศจากกลิ่นและเสียงรบกวน จัดแต่งห้องให้สดชื่นและดูแลทำความสะอาดห้องนอนอยู่เสมอ
3) การจัดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว เตรียมทุกอย่างให้พร้อม และคอยดูแลรักษาให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น
4) การดูแลสุขภาพ ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ และจัดยาให้รับประทานตามที่แพทย์แนะนำ พูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วยอยู่เสมอ



การทำงานร่วมกับเพื่อนและบุคคลในขุมชน
หลักการอยู่ร่วมกับเพื่อน
1. มีความรัก ความห่วงใย เมตตากรุณาต่อกันด้วยความจริงใจ
2. มีน้ำใจต่อกัน มีการให้และรับตามความเหมาะสม
3. มีความเกรงใจกัน เคารพในสิทธิส่วนบุคคล รู้จักกาลเทศะ
4. รับฟังความคิดเห็นของเพื่อน เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับเพื่อนต้องช่วยเสนอแนะแนวทางแก้ไข
5. มีความยุติธรรม ไม่ลำเอียงเข้าข้างเพื่อน ต้องปฏิบัติต่อเพื่อนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
6. รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความขยัน ซื่อสัตย์ อดทน



การทำงานร่วมกับเพื่อน
การทำงานร่วมกับเพื่อนตามกระบวนการกลุ่ม มีวิธีการดังนี้
1. การเลือกหัวหน้ากลุ่ม โดยเลือกผู้ที่มีความซื่อสัตย์ จริงใจ มีความรับผิดชอบ
2. การกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบว่าการปฏิบัติงานตรงกับวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ ถ้าไม่ตรงจะได้ร่วมกันปรับปรุง
3. การวางแผนในการทำงาน จะกำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน
4. การแบ่งงานตามความสามารถ แต่ละคนมีความรู้ความสามารถไม่เหมือนกัน
5. การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ สมาชิกจะทราบหน้าที่ในการทำงาน
6. การประเมินผลและปรับปรุงงาน หลังจากตรวจสอบแล้วถ้าพบว่าไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์อาจต้องปรับปรุงแก้ไขวิธีการหรือกำหนดคุณภาพของงานให้น้อยลง เพื่อให้งานสำเร็จตามความต้องการ



แนวปฏิบัติในการทำงานร่วมกับบุคคลในชุมชน
1. มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน ถ้ามีทัศนคติในแง่ลบจะไม่อยากให้ความร่วมมือในการทำงาน นินทาว่าร้ายหรือก้าวร้าว ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน
2. สร้างความประทับใจด้วยรอยยิ้ม หากเราทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ทำสีหน้าเบื่อหน่าย ก็ไม่มีใครอยากจะร่วมงานด้วย
3. แสดงความจริงใจ ให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่าง ๆ แก่ผู้ร่วมงาน ทำให้เรามีความพยายามในการหาวิธีการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน
4. สร้างความสามัคคีด้วยการประนีประนอม ช่วยลดปัญหาและทำให้สถานการณ์ในการทำงานดีขึ้น
5. มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ได้รับการยอมรับและให้ความร่วมมือในการทำงาน ควรมีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง กระตือรือร้น เป็นผู้ฟังที่ดี ปรับตัวเก่ง อดทน ซื่อสัตย์ และมีวาจาไพเราะ
6. สร้างความสามารถในการสื่อสาร ถ้าหากพูดหรือให้ข้อมูลที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือปัญหาในการทำงานได้

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช www.wpp.co.th