น่ารู้ เพลงชาติไทย และ ธงชาติไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 13.3K views



น่ารู้ เพลงชาติไทย และ ธงชาติไทย


ประวัติเพลงชาติไทยน่ารู้

เพลงชาติไทย เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ แสดงความเป็นเอกราชของชาติ ไม่เป็นเมืองขึ้นของใคร เป็นแหล่งรวมใจของคนในชาติให้เป็นจุดเดียวกันสร้างความรู้สึก สำนึก ในความเป็นพี่น้อง สร้างความภูมิใจในศักดิ์ศรีสิทธิเสรีภาพระหว่างคนในชาติ และเพื่อปลุกใจให้เกิดความรักชาติ

ความคิดเรื่องเพลงประจำชาติ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ โดยได้รับ อิทธิพลตะวันตก ซึ่งมีเพลง ประจำชาติมาก่อน โดยเฉพาะอิทธิพลจากประเทศอังกฤษ โดย นายทหารอังกฤษ ๒ คน ซึ่งเข้ามาเป็นครูฝึกทหารเกณฑ์ ในวังหลวงและวังหน้าในปลาย รัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ชื่อร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) และร้อยเอกน๊อกซ์ (Thomas G. Knox) นายทหารอังกฤษทั้ง ๒ นายนี้ ได้ใช้เพลง กอดเสฟเดอะควีน (God Save the Queen) เป็นเพลงฝึกสำหรับทหารแตร และอังกฤษได้ใช้เพลงกอดเสฟเดอะควีนนี้ เป็นเพลง ประจำชาติ

 

ในการฝึกทหารของไทยสมัยนั้น ใช้แบบอย่างของประเทศอังกฤษหมด ดังนั้นเพลงกอด เสฟเดอะควีน (God Save the Queen)จึงใช้เป็นเพลงเกียรติยศ ถวายความเคารพต่อพระ มหากษัตริย์ ใช้สำหรับกองทหารไทยในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ถึง ๒๔๑๔ เรียกกันว่า "เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ"

พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่โดยใช้ เนื้อ เพลงกอดเสฟเดอะควีนเดิม และตั้งชื่อเพลงขึ้นใหม่ว่า "จอมราชจงเจริญ"นับเป็นเพลงชาติฉบับแรกของประเทศสยาม

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาส เมืองสิงค โปร์ ในขณะนั้นสิงคโปร์ยังเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษอยู่ กองทหารดุริยางค์ สิงคโปร์ บรรเลงเพลงกอดเสฟเดอะควีน เพื่อถวายความเคารพ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักดีว่าประเทศมีความจำเป็น จะต้องมีเพลงชาติที่เป็นของตัวเองขึ้น เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกราชของชาติครั้นเมื่อทรง เสด็จกลับถึงพระนคร จึงได้โปรดให้ตั้งคณะครูดนตรีไทยขึ้น เพื่อทรงปรึกษา หาเพลงชาติที่มีความเป็นไทยมาใช้แทนเพลงกอดเสฟเดอะควีน คณะครูดนตรีไทย ได้เลือก เพลงทรง พระสุบันหรือเรียกอีกอย่างว่า เพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โดยนำมาเรียบเรียงใหม่ ให้มีความเป็นสากลขึ้น โดย เฮวุดเซน(Heutsen) นับเป็น เพลงชาติไทยฉบับที่สอง ใช้บรรเลงในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๓๑

สำหรับเพลงชาติไทยฉบับที่สาม คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี(ฉบับปัจจุบัน)ประพันธ์ โดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้(Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย คำร้องเป็นพระนิพนธ์ ของสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติ ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๗๕

เพลงชาติไทยฉบับที่สี่ คือ เพลงชาติมหาชัย ใช้เป็นเพลงชาติ ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง การปกครองปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยอาศัยทำนองเพลงมหาชัย ส่วนคำร้องนั้น ประพันธ์โดย เจ้า พระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อใช้ขับร้อง และบรรเลงปลุกเร้าใจ ประชาชนก่อให้เกิดความรักชาติและสร้างความสามัคคี ในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลง ทางการเมือง

เพลงชาติไทยฉบับที่ห้า คือ เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ ผู้ประพันธ์ทำนองมีคำร้องประ พันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา(สง่า กาญจนาคพันธุ์) ใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๗

เพลงชาติฉบับที่หก คือ เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ ที่เพิ่มคำร้องของนายฉัน ขำวิไล เข้าต่อจากคำร้องของขุนวิจิตรมาตรา ใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๘๒ เป็นเพลงชาติที่เป็นฉบับของทาง "ราชการ" ฉบับแรก

เพลงชาติฉบับปัจจุบัน คือ เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ ที่เปลี่ยนคำร้องประพันธ์โดย พันเอกหลวงสารานุประพันธ์(นวล ปาจิณพยัคฆ์) ใช้เป็นเพลงชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ กระทั่งปัจจุบัน ครั้งนั้นทางรัฐบาลได้ประกาศประกวด เพลงชาติขึ้นใหม่ ในเดือน กันยายน ผลประกวดปรากฏ ผู้ชนะได้แก่ นายพันเอกหลวง สารานุประพันธ์(นวล ปาจิณพยัคฆ์) ซึ่งส่ง ในนามของ กองทัพบก

รัฐบาล ได้ประกาศใช้เพลงชาติไทย ฉบับปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอขอบคุณแหล่งที่มา
https://www.kiddeetumdee.net/book/book_44.html
https://www.ประเพณีไทยๆ.com/เพลงชาติไทย/


ประวัติธงชาติไทยน่ารู้



สยามหรือธงชาติไทยมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด เท่าที่พบหลักฐานเชื่อกันได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะปรากฏเรื่องราวอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งเศส โดยได้กล่าวไว้ว่าเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๓ เรือรบของฝรั่งเศสชื่อ เลอรโวตูร์ โดยมี มองซิเออร์ คอนูแอน เป็นนายเรือ ได้นำเรือเข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเจริญพระราชไมตรีและการค้า นายเรือได้สอบถามทางกรุงศรีอยุธยาว่า ถ้าจะยิงสลุต (ยิงปืนให้ความเคารพ) ให้แก่สยาม เมื่อเรือผ่านป้อมวิไชเยนทร์ (ปัจจุบันคือป้อมวิชัยสิทธิ์) ตามประเพณีของชาวยุโรป จะเป็นการขัดข้องหรือไม่ สมเด็จพระนารายณ์ทรงอนุญาต และรับสั่งให้เจ้าเมืองบางกอก คือ ออกพระศักดิ์สงคราม ให้ทางป้อมยิง สลุตตอบด้วย และในการที่เรือรบฝรั่งเศลได้ยิงสลุตให้นั้น ทางป้อมก็ชักธงชาติขึ้น แต่ในห้วงเวลานั้นธงชาติสยามยังไม่มี จึงได้ชักธงชาติฮอลันดาขึ้นแทน แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมยิงสลุต เพราะเห็นว่าไม่ใช่ธงของชาติสยาม จึงแจ้งให้ทราบว่า หากสยามประสงค์จะให้ฝรั่งเศสยิงสลุตให้ ก็เอาธงฮอลันดาลงเสีย แล้วชักธงอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นแทน เผอิญในสมัยนั้นธงสีแดงถือเป็นธงที่สยามใช้สำหรับเป็นธงนำทัพอยู่แล้ว สยามจึงนำธงแดงชักขึ้น จากนั้นฝรั่งเศสจึงยิงสลุตให้ ด้วยเหตุนี้สยามจึงถือเอาธงสีแดงเป็นธงชาติสยาม

ความหมายของธงชาติ

เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นชาติของประเทศชาติต่างๆ ที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งแต่ละประเทศ ธงชาติจะมีสีที่แตกต่างกันละคล้ายคลึงกันบ้าง (ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน นิยามคำว่า ธงชาติ ไว้ว่า ธงชาติ น. ธงที่มีความหมายถึงประเทศและชาติใดชาติหนึ่ง

"ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย"

เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยหรือชาติไทยที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย ซึ่งมีความหมายแสดงความเป็นเอกราชอธิปไตยของชาติ รวมทั้งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ธงชาติจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ต้องได้รับความเคารพอย่างสูง และยังมีความสำคัญทางจิตใจที่แสดงถึงความรักชาติ ความรู้สึกที่มีร่วมกันของคนในชาติ นอกจากนั้นยังเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจลบหลู่ และสามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ เพื่อจะได้ดำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของประเทศไทยให้ยั่งยืนตลอดไปชั่วกาลนาน


ขอขอบคุณบทความดีๆจาก
https://www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/thaiflag/newsite/detail.php?id=4