กำหนดการ – หมายกำหนดการ ควรใช้อย่างไร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 54.4K views



กำหนดการ-หมายกำหนดการ ควรใช้อย่างไร
     มีหลายคนเข้าใจผิดว่า กำหนดการ และ หมายกำหนดการ มีความหมายเหมือนกัน จึงมักนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น ป้ายปิดประกาศงานทั่ว ๆ ไปใช้คำว่า หมายกำหนดการ เพื่อบอกขั้นตอนของงานนั้น เป็นการใช้ที่ผิด

     พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำทั้ง 2 คำนี้ไว้ดังนี้
     หมายกำหนดการ หมายถึง เอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีที่จะต้องอ้างพระบรมราชโองการ จะขึ้นต้นด้วยข้อความว่า ‘นายกรัฐมนตรีหรือเลขาธิการพระราชวัง รับสนองพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า’ เสมอ
 

     ดังนั้น หมายกำหนดการ จึงใช้เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีโดยเฉพาะ  ลักษณะของเอกสารจะต้องอ้างพระบรมราชโองการ และในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่จะต้องนำหมายกำหนดการดังกล่าวนี้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เช่น หมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2558 รวม 3 วัน


ภาพประกอบจาก สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
 

     กำหนดการ หมายถึง ระเบียบการที่บอกถึงขั้นตอนของงานที่จะต้องทำตามลำดับ

     ดังนั้น กำหนดการ จึงใช้เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานทั่ว ๆ ไปที่ทางราชการหรือส่วนเอกชนจัดขึ้นเอง แม้ว่างานนั้น ๆ จะเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน เช่น งานสวนสนามของทหารรักษาพระองค์เพื่อแสดงความจงรักภักดี จะใช้ กำหนดการ เพราะเป็นงานที่ทางราชการทหารจัดขึ้น หรือ กำหนดการกิจกรรม Bike For Dad ปั่นเพื่อพ่อ ซึ่งเป็นงานที่รัฐบาลจัดขึ้น

     
     โปรดจำไว้ว่า
ถ้างานนั้นมิได้เป็นงานพระราชพิธีซึ่งกำหนดขึ้นโดยพระบรมราชโองการแล้ว เรียกว่า กำหนดการ ทั้งสิ้น

เรียบเรียงจาก สำนักงานราชบัณฑิตยสภา