ลักษณะของคำไทยแท้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 1.1M views



     ลักษณะของคำไทยแท้
     1.คำไทยแท้ส่วนมากเป็นคำพยางค์เดียว เรียกว่าเป็น ภาษาคำโดด แต่ละคำมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง เช่น ปู่ ย่า แขน ขา หมา แมว ฟ้า ฝน มีด ตู้ ฯลฯ  ส่วนคำไทยแท้ที่มีหลายพยางค์ เช่น มะพร้าว กระโจน สะใภ้ ตะวัน มีสาเหตุดังนี้
          1.1.การกร่อนเสียง คือ คำ 2 คำ เมื่อพูดเร็ว ๆ ทำให้ออกเสียงคำแรกสั้นลงกลายเป็นคำ 2 พยางค์ เช่น
                ตาวัน        เป็น     ตะวัน
                หมากม่วง   เป็น     มะม่วง
                สายดือ      เป็น     สะดือ                     

          1.2.การแทรกเสียง คือ การเติมพยางค์ลงไปตรงกลางระหว่างคำ 2 คำ  เช่น
                นกจอก      เป็น    นกกระจอก
                ลูกเดือก     เป็น    ลูกกระเดือก

          1.3.การเติมพยางค์หน้า คือ การเติมพยางค์ที่หน้าคำมูลโดยให้มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น
                 ทำ     เป็น     กระทำ
                 โจน    เป็น    กระโจน
                 เดี๋ยว  เป็น     ประเดี๋ยว

     2.คำไทยแท้เป็นคำที่มีตัวสะกดเดียว ไม่มีตัวตามและสะกดตรงตามมาตรา คือ
               แม่กก      สะกดด้วยตัว  ก   เช่น  กัก เด็ก ลูก จอก
               แม่กง      สะกดด้วยตัว  ง   เช่น   เก่ง นั่ง พิง ถัง
               แม่กด     สะกดด้วยตัว  ด   เช่น   กด ปิด อวด ปูด
               แม่กน     สะกดด้วยตัว  น   เช่น   กิน นอน ฉุน เห็น
               แม่กบ     สะกดด้วยตัว  บ   เช่น   กับ แคบ จบ ซูบ
               แม่กม     สะกดด้วยตัว  ม   เช่น   ชาม หอม ดื่ม ตุ่ม
               แม่เกอว   สะกดด้วยตัว  ว   เช่น   แมว หิว ข้าว หนาว
               แม่เกย    สะกดด้วยตัว  ย   เช่น   คอย ขาย ปุ๋ย ตาย

     3.คำไทยแท้จะไม่ใช้พยัญชนะ ฆ ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ ฬ
          ยกเว้นบางคำต่อไปนี้ที่เป็นคำไทย ได้แก่ ฆ่า  เฆี่ยน  ระฆัง  ฆ้อง  ตะเฆ่  ใหญ่  หญ้า  เฒ่า  ณ  ธ  ธง  เธอ  สำเภา  ภาย  เศร้า  ศึก  ศอก  ศอ  ศก

      4.คำไทยจะใช้ “ใ” (ไม้ม้วน) มี 20 คำ คือ
               ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่       ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
           ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ              มิหลงใหลใครขอดู
               จะใคร่ลงเรือใบ          ดูน้ำใสและปลาปู
           สิ่งใดอยู่ในตู้                  มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
               บ้าใบ้ถือใยบัว            หูตามัวมาใกล้เคียง
           เล่าท่องอย่าละเลี่ยง         ยี่สิบม้วนจำจงดี

      5.คำไทยจะมีรูปวรรณยุกต์กำกับ ทำให้ออกเสียงต่างกัน มีความหมายต่างกัน เช่น
               ปา     หมายถึง   ซัดไปด้วยอาการยกแขนขึ้นสูงแล้วเอี้ยวตัว
               ป่า     หมายถึง   ที่ที่มีต้นไม้ต่าง ๆ ขึ้นมา
               ป้า     หมายถึง   พี่สาวของพ่อหรือแม่ คำเรียกหญิงที่ไม่รู้จักแต่มักมีอายุแก่กว่าพ่อหรือแม่  

     6.คำไทยไม่นิยมใช้ตัวการันต์และคำควบกล้ำ เช่น เด็ก วิ่ง เล่น ใน สวน