Classroom : ตอน เรขาคณิต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 10.9K views



เรขาคณิต

 

สวัสดีค่ะ เดือนนี้เป็นเดือนที่น้องๆ ได้ปิดเทอมกันแล้ว อย่ามัวแต่นั่งหน้าจอโทรทัศน์หรือเอาแต่เล่นเกมนะคะ ออกนอกบ้านมาเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารจากสภาพแวดล้อมจริงๆ กันดีกว่า เพราะในชีวิตประจำวันของพวกเรามีสิ่งต่างๆ ให้เรียนรู้อยู่เต็มไปหมด

น้องๆ เคยสังเกตไหมคะว่า ข้าวของเครื่องใช้ของเรา รวมไปถึงผลผลิตจากธรรมชาติ ต่างก็มีรูปทรงที่แตกต่างกัน  ในวิชาคณิตศาสตร์เราเรียกรูปทรงต่างๆ ว่า “เรขาคณิต” ปิดเทอมทั้งที พี่เปิ้ลขอสอนเรื่องรูปทรงเรขาคณิตแบบเบาๆ โดยเริ่มจากการเรียนรู้เรื่อง “มิติ” กันดีกว่าค่ะ

มีการให้คำนิยามของมิติไว้ว่า มิติคือสิ่งที่บ่งบอกคุณสมบัติของวัตถุว่ามีความกว้าง ความยาว ความลึก เท่าใด มาลองดูตัวอย่างกันหน่อย

จุด (Point) จุดมีกี่มิติ จุดไม่มีความกว้าง ไม่มีความยาว ฉะนั้น จุดไม่มีมิติ 

เส้น (Line) เส้นคือการนำจุดมากมายหลายจุดมาเชื่อมต่อกันจนเกิดเป็นเส้น เส้นเริ่มมีความยาวแล้ว เส้นจึงมี 1 มิติ เมื่อมีมิติก็มีหน่วย ดังนั้น เส้นจึงมีหน่วยของความยาว เช่น เซนติเมตร เมตร นิ้ว

ระนาบ (Plane) มีทั้งความกว้าง และความยาว ระนาบมี 2 มิติ หน่วยของระนาบจะเริ่มยุ่งยากแล้ว ต้องจำไว้เสมอว่า หากเอาความกว้างคูณกับความยาว เราจะได้สิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่” หน่วยเป็นตารางเมตร ตารางเซนติเมตร ตารางนิ้ว เรื่องหน่วยเป็นเรื่องที่เด็กๆ มักจะผิดกันบ่อยๆ หวังว่าจะไม่ผิดกันอีกแล้วนะคะ

รูปทรง (Solid) มีทั้งความกว้าง ความยาว และความลึก โจทย์มักจะถามถึงสิ่งที่เรียกว่า “ปริมาตร” ไม่ว่ารูปทรงแบบใด สูตรจะเป็นแบบใด สังเกตได้เลยว่าการคำนวณปริมาตรจะเป็นการคูณกันของด้าน 3 ด้านเสมอ ฉะนั้นมี 3 มิติค่ะ หน่วยปริมาตรได้แก่ ลูกบาศก์เมตร ลูกบาศก์เซนติเมตร ลูกบาศก์นิ้ว

ลองมาทดสอบความเข้าใจเรื่องรูปทรงจากรูปภาพเหล่านี้

                                        

ไอศกรีม ทรงกลม              กระป๋อง ทรงกระบอก       กล่อง ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก         รูปทรงปริซึมฐานหลายเหลี่ยม

                        

ไอศกรีมโคน ทรงกรวย         ปิระมิด ทรงปิระมิด                 ลูกเต๋า ทรงลูกบาศก์

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พอมีความเข้าใจเรื่อง มิติ ความยาว พื้นที่ ปริมาตร ชัดเจนขึ้นบ้างไหม ส่วนสูตรต่างๆ น้องสามารถท่องหรือฝึกทำโจทย์ได้จากเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมค่ะ ขอแค่อย่าท้อแท้ ขนาด “ไอน์สไตน์” ตอนเป็นเด็กก็มีความจำไม่ดี ตอนหลังเมื่อค้นพบว่าตัวเองชอบเรขาคณิต ขนาดที่ว่ามีหนังสือเรขาคณิตเป็นหนังสือเล่มโปรด ทำให้เขาสนใจค้นคว้าจนกลายเป็นอัจฉริยะนับแต่นั้น

เห็นไหมคะว่าคณิตศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติรอบตัวเราทั้งนั้น จะเก่งคณิตศาสตร์ต้องสนใจสังเกต แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจ และหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ เพียงเท่านี้คณิตศาสตร์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

เรื่องโดย : ครูพี่แนน-อลิสรา ธนาปกิจ

ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้น "Memolody" เทคนิคเฉพาะเพื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ แห่งโรงเรียน Enconcept E-Academy เจ้าของผลงานหนังสือสอนภาษาอังกฤษหลายเล่ม อาทิ แนนเนรมิต English is Alive, English Adventure กับครูพี่แนน