ผืนป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 16.6K views





อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปางสีดา ทับลาน ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงรัก ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ "ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 เมื่อปีพุทธศักราช 2548 ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ 
 

ป่าดงพญาไฟ 


       แหล่งมรดกโลกผืนนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งแต่ก่อนเป็นป่าดงดิบที่ทึบหนา มีสัตว์มากมายทั้ง เสือ กระทิง และช้าง ชุกชุมไปด้วยไข้มาเลเรีย ไม่มีถนนหนทางตัดฝ่าผืนป่า ดั่งเช่นในปัจจุบัน การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น   จึงยากลำบากอย่างยิ่ง หลายคนต้องเสียชีวิตด้วยไข้ป่า หรือสัตว์ป่า จนไม่ค่อยจะมีใครกล้าเข้ามาในดินแดนแถบนี้ ผู้คนจึงตั้งชื่อให้ผืนป่าแห่งนี้ว่า "ป่าดงพญาไฟ"
 


ป่าดงพญาเย็น

 
          คำว่า "ป่าดงพญาเย็น" นั้นได้ถูกกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จากหลักฐานจากบทพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง เที่ยวตามทางรถไฟ ได้ทรงเล่าถึงป่าดงพญาไฟไว้ว่า

               "ดงพญาไฟนี้ เป็นช่องสำหรับข้ามไปมาระหว่างเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมา แต่โบราณ
ไปได้แต่โดยเดินเท้า จะใช้ล้อเกวียนหาได้ไม่ ด้วยทางต้องเดินตามสันเขาบ้าง ตามไหล่เขาบ้าง
คนเดินตามปกตินั้นตั้งแต่ตำบลแก่งคอย ต้องค้างคืนในป่านี้ถึง ๒ คืนถึงจะพ้น"

 
    "สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยพระราชดำริไว้ว่า ไม่ควรเรียกดงพญาไฟเพราะให้คนครั่นคร้าม จึง ทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้เปลี่ยนชื่อจาก "ดงพญาไฟ" เป็น "ดงพญาเย็น" แต่คนหลายๆ คนก็ยังคงเรียกว่า "ป่าดงพญาไฟ" อยู่ดั่งเดิม"

        หลังจากมีการสร้างทางรถไฟและถนนมิตรภาพ จากภาคกลางไปสู่ภาคอีสาน ดงพญาไฟก็ถูกผ่าออกทันที ผู้คนเริ่มที่จะอพยพเข้าไป แล้วถากถางป่าทำไร่ทำนา โดยเฉพาะบริเวณฟาร์มโชคชัย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นับตั้งแต่นั้นมาป่าที่เคยดุร้ายดงพญาไฟ ก็ได้กลายมาเป็นป่าที่ต้องอยู่เงียบๆ ป่าดงพญาเย็นอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา
 

ตำบลเขาใหญ่


               เมื่อราว 70-80 ปีก่อน ชาวบ้านจากบ้านท่าชัย และบ้านท่าด่าน จังหวัดนครนายก อพยพมาบุกเบิกพื้นที่ทำกันบริเวณริมหนองขิง กลางผืนป่าเขาใหญ่ อันเป็นทำเลที่ดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ถากถางเพื่อทำไร่พริกและนาข้าว เมื่อเห็นว่าสถานที่นี้ดีก็กลับไปชวนญาติๆ ตามขึ้นมาถากถาง จนกลายมาเป็นชุมชนกลางป่าที่มีราว 40 หลังคาเรือน ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีชาวบ้านจากจังหวัดรอบๆ ยิ่งขึ้นมาถากถางมากขึ้น จนพื้นที่ราว 18,750 ไร่ หรือราว 30 ตารางกิโลเมตร ถูกถากถางไป

               ในราวปีพุทธศักราช 2465  ชุมชนนี้ได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นตำบลเขาใหญ่   ขึ้นกับอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ชื่อ "เขาใหญ่"  จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้นมา ทั้งที่ไม่มียอดเขาแห่งใดที่มีชื่อคำว่า "เขาใหญ่" เลย มีแต่ เขาเขียว เขาร่ม เขาแหลม และเขาสามร้อยยอดเท่านั้น

               ด้วยเหตุที่ว่าตำบลเขาใหญ่นี้อยู่กลางใจป่า ไม่มีถนนที่สามารถเข้าไปได้อย่างสะดวก จึงทำให้ชุมชนนี้กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของเหล่าโจรผู้ร้าย ดังนั้นเมื่อปี พุทธศักราช 2475 ทางจังหวัดนครนายก จึงได้ส่งคน นามว่า ปลัดจ่าง มาปราบกวาดล้างโจรบนเขาใหญ่ และก็สามารถปราบได้ โดยใช้เวลานับเดือน แต่ตัวปลัดนั้นก็ต้องมาเสียชีวิตด้วยไข้ป่า ผู้คนจึงเชิดชูด้วยความกล้าหาญของท่าน พวกเขาจึงสร้างศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ขึ้น เป็นศาลที่ให้ผู้คนกราบไหว้มาจนถึงปัจจุบัน

               เมื่อปราบปรามโจรเสร็จ ทางจังหวัดนครนายกเห็นว่าหากปล่อยให้มีการตั้งตำบลเหมือนเดิม นานเข้าก็จะกลายเป็นชุมโจรอีก จึงได้สั่งให้อพยพชาวบ้านกว่า 1,000 คนลงมายังพื้นราบ และสั่งให้ยกเลิกตำบลเขาใหญ่ ปล่อยให้กลายเป็นทุ่งหญ้ารกร้าง และป่าให้เห็นดั่งเช่นปัจจุบันอย่างเดิม

 

 

อุทยานแห่งชาติแห่งแรก

               ในปี พุทธศักราช 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้เดินทางไปตรวจราชการในบริเวณดังกล่าว ท่านได้มีโอกาสนั่งเฮลิคอปเตอร์สำรวจป่า และปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ได้ห่วงกับการทำลายป่าซึ่งมีมากขึ้นทุกวัน ท่านจึงมีคำสั่งให้ทางกระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันสำรวจเพื่อจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พุทธศักราช 2504 ซึ่งนับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย
 


            รัฐบาลชุดต่อๆ มา ก็ได้ประกาศให้ป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยาเป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา ในปีพุทธศักราช 2524 พุทธศักราช 2525 และพุทธศักราช 2539 ตามลำดับ รวมทั้งประกาศให้ป่าดงใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับป่าทับลาน ป่าปางสีดา และป่าตาพระยาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ในปีพุทธศักราช 2539

            จากการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทั้ง 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง บริเวณดงพญา-เย็นของเทือกเขาพนมดงรัก ทำให้พื้นที่ป่าบริเวณนี้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติขนาดใหญ่ จนได้รับการขนานนามว่า “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ซึ่งเชื่อว่าสามารถเอื้อต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์นานับประการต่อประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก หากมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและถูกหลักการ
 


            ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ
่ ประกอบด้วยพื้นที่คุ้มครอง (Protected Areas) หรือพื้นที่อนุรักษ์สภาพธรรมชาติ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ มีเนื้อที่รวมกันทั้งสิ้น 3,845,082.53 ไร่ หรือ 6,152.13 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูด ที่ 14 ํ00' – 14 ํ33' เหนือ และหว่างเส้นลองจิจูด ที่ 101 ํ05' – 103 ํ 14' ตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ โดยเฉพาะด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าบันทายฉมอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ (Protected Landscape) ของราชอาณาจักรกัมพูชา
 

คุณค่าความสำคัญที่โดดเด่นของผืนป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่


           นอกจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งสะท้อนถึงประวัติความเป็นมา และวิวัฒนาการอันยาวนานของโลกในบริเวณนี้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คุณค่าความสำคัญที่โดดเด่นของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตามสภาพความเป็นจริงและที่เสนอขอขึ้นบัญชีแหล่งมรดกทางธรรมชาติยังคงโดดเด่นในด้านต่างๆ ดังนี้
 

ด้านอุทกวิทยา

        เนื่องจาก “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีฝนตกมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบริเวณโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1,000-3,000 มิลลิเมตรต่อปี จึงทำให้ผืนป่าแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ และเป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตของชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคโดยรอบทั้งแม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี ลำตะคอง ห้วยมวกเหล็ก และแม่น้ำมูล ต่างมีจุดกำเนิดมาจากผืนป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ทั้งสิ้น   

       โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำมูล จัดว่าเป็นลำน้ำที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชนในเขตพื้นที่ซึ่งนับได้ว่าแห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย อีกทั้งแม่น้ำมูลนี้ยังไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสากลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่า 60 ล้านคนในประเทศจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
 


ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

               ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งสงวนระบบนิเวศตามธรรมชาติอันหลากหลาย ตั้งแต่ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบแล้ง ไปจนถึงป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังมีทุ่งหญ้าเขตร้อนกระจายตัวอยู่ทั่วไป รวมทั้งป่าบนเขาหินปูนและป่าริมห้วยลำธาร
 

 
            จากระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติที่หลากหลาย ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่าจำนวนมาก จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยนั้นพบชนิดพันธุ์พืชทั้งหมดราว 15,000 ชนิด โดยพบในพื้นที่ดงพญาเย็น-เขาใหญ่จำนวนไม่น้อยกว่า 2,500 ชนิด หรือประมาณ 1 ใน 6 ของชนิดพันธุ์ที่ปรากฏในประเทศ โดยมีชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น 16 ชนิด และมีสัตว์ป่ามากถึง 805ชนิด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 112 ชนิด นก 392 ชนิด และมีสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รวมกัน 205 ชนิด

           โดยมี 9 ชนิด ที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น ได้แก่ ตะพาบหัวกบหรือกราวเขียวหรือกริวดาว  จิ้งจกหินเมืองกาญจน์  ตุ๊กแกเขาหินทราย  กิ้งก่าภูวัว  จิ้งเหลนด้วงตะวันตก  จิ้งเหลนเรียวโคราช งูดินโคราช งูกินทากลายขวั้น และจระเข้น้ำจืด และในจำนวนสัตว์ป่าที่พบทั้งหมดมีหลายชนิดที่มีความสำคัญในระดับโลก และมี 3 ชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ได้แก่ ช้างป่า เสือโคร่ง และวัวแดง
 


               นอกจากนี้ยังพบว่ามีสัตว์ป่าที่มีสถานภาพมีแนวโน้มสูญพันธุ์ไปจากโลก (vulnerable) อาศัยอยู่ในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้แก่ ลิงกังหรือลิงก้นแดง ชะนีมงกุฎ เม่นใหญ่ หมาไน หมีควาย  เสือลายเมฆ  กระทิง  เลียงผา  นกลุมพูแดง ไก่ฟ้าพญาลอ นกยูง และนกฟินฟุต
 
 

ด้านการท่องเที่ยวและการศึกษาเรียนรู้

 
                แนวผาสูงยาวต่อเชื่อมกันบริเวณด้านทิศตะวันตกของผืนป่าดงพยาเย็น-เขาใหญ่ นับเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสภาพภูมิทัศน์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนมากที่สุดและมีฝนตกชุกที่สุด จึงพบว่ามีลำธาร และน้ำตกจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วบริเวณ เป็นสิ่งดึงดูดให้มีผู้มาเยือนนับล้านคนในแต่ละปี การเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ  การศึกษาหาความรู้  และการสัมผัสกับธรรมชาติ   เพื่อให้หลุดพ้นจากภารกิจประจำวันที่ต้องแข่งขันและจำเจจึงเป็นประสบการณ์ที่จะได้รับจากการมาเยือนผืนป่าแห่งนี้

         นอกจากนี้ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ยังเป็นแหล่งธรรมชาติอันสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ จึงมีโอกาสพบเห็นชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญ หรือที่หายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ อาทิ   เสือโคร่ง ช้างป่า กระทิง วัวแดง ชะนีมือขาว ชะนีมงกุฎ นกกก นกแก๊ก รวมถึงจระเข้น้ำจืด ซึ่งคนทั่วไปเชื่อกันว่าได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยแล้ว

 

 

ภาพและเนื้อหาเรียบเรียงจาก 

https://www.thaiwhic.go.th/heritage_nature2.aspx
https://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/18967-00/