ตัวเลขนั้นสำคัญไฉน ตอน รู้เรื่องหน่วยต่างๆ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 33.2K views



ตัวเลขนั้นสำคัญไฉน ตอน รู้เรื่องหน่วยต่าง ๆ

“พี่ตั๊กคะ วันก่อนต้อมฟังวิทยุ ได้ยินว่าปีนี้เป็นปี 2001 เท่าที่ต้อมรู้ ปีนี้ 2544 นี่คะ”

“ถูกทั้งสองอย่างแหละต้อม 2544 เป็นปีพุทธศักราช เป็นปีทางพุทธศาสนาเขียนเต็ม ๆ ว่า พุทธศักราช 2544 เขียนย่อว่า พ.ศ.2544 ส่วนปี 2001 เป็นปีคริสตศักราช เป็นปีที่เกี่ยวกับคริสตศาสนา เรียกเต็ม ๆ ว่าคริสตราช 2001 เขียนย่อว่า ค.ศ.2001

“ปีที่เกี่ยวกับศาสนาอื่นมีไหมคะ”

“มีจ้ะ นอกจากเกี่ยวกับศาสนาแล้ว ก็มีอย่างอื่นด้วย เช่น จุลศักราช แต่ที่ใช่กันแพร่หลายในประเทศไทยคือพุทธศักราชและครัสตราช ต้อมดูปฏิทินซิจ๊ะเห็นไหมว่ามีเดือนและพ.ศ. ภาษาไทย แล้วยังมีเดือนภาษาอังกฤษ และ ค.ศ.อยู่ด้วย”

“แล้วทำไม พ.ศ. กับ ค.ศ. ไม่เท่ากันล่ะคะ “ก็เริ่มนับจากปีต่างกันนี่จ๊ะ พ.ศ.นับจากปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพาน ส่วน ค.ศ.นับจากปีที่พระเยซูประสูติ”

“อ้อ อย่างนี้นี่เอง แล้วมีการพูดถึงสิ่งเดียวกัน แต่มีวิธีบอกต่างกันอีกไหมคะ”

“มีจ้ะ ต้อมเคยเห็นเทอร์โมมิเตอร์ไหม”

“ไม่แน่ใจค่ะ”



“ต้อมดูนี่ นี่แหละเทอร์มอมิเตอร์วัดว่าอากาศร้อนแค่ไหน”

“คล้าย ๆ กับที่คุณแม่ให้ต้อมอมไว้ใต้ลิ้นเวลาเป็นไข้”

“ใช่จ้ะ วัดอุณหภุมิเหมือนกัน”

“ต้อมเห็นอะไรบ้างที่เทอร์มอมิเตอร์”

“มีตัวเลข 2 แถวค่ะ ตรงกลางมีหลอดที่มีน้ำแดง ๆ”

“แล้วข้างบนมีอะไร”

“มีตัว °C  อยู่ทางซ้าย °F อยู่ทางขวาค่ะ”

“ต่อไปต้อมดูซิ น้ำแดง ๆ ขึ้นไปถึงเลขอะไรทาง °C และ °F”

“ข้างที่เขียน °C  อยู่ที่ 29 อ่านว่า ยี่สิบเก้าองศาเซลเซียส ข้างที่มี °F อยู่ที่ 84 อ่านว่า แปดสิบสี่องศาฟาเรนไฮต์”  “เข้าใจแล้วค่ะ”

“ต้อมลองนึกซิว่ามีวิธีบอกความยาวที่มีหน่วยในระบบต่างกันไหม ต้อมต้องรู้จักแน่ๆ”

“บอกใบ้หน่อยได้ไหมคะ”

“ได้จ้ะ มีเครื่องมือวัดที่มีหน่วยสองระบบอยู่ด้วยกัน”

“นึกออกแล้วค่ะ เซนติเมตร กับ นิ้ว มีในไม้บรรทัดกับสายวัดตัวค่ะ”



ตั๊กเล่าให้น้องฟังว่า นอกจากหน่วยวัดความยาวแล้ว ยังมีหน่วยที่ใช้วัดอย่างอื่นอีก เช่น น้ำหนัก ปริมาตร ความจุ พื้นที่ พร้อมยกตัวอย่าง “การบอกน้ำหนัก ก็มีหน่วยบอกหลายหน่วยมาจากระบบที่คิดขึ้นประเทศต่าง ๆ เช่นกิโลกรัม ปอนด์ บอกน้ำหนัก ลิตร ถัง แกลอน บอกความจุ ลูกบาศก์เมตร ลูกบาศก์ฟุต บอกปริมาตร ตารางเมตร ตารางวา ไร่ บอกพื้นที่”

“แหมมีมากมาย แล้วเราจะให้หน่วยไหนล่ะค่ะ”

“ก็ต้องศึกษาว่า หนึ่งหน่วยวัดอะไรได้แค่ไหน แล้วใช้ให้เหมาะสมกับสิ่งที่จะวัดจ้ะ เช่น เราจะหาว่าระยะทางจากบ้านไปโรงเรียนเป็นเท่าไร เราก็บอกเป็นกิโลเมตร เพราะระยะทางไกล แต่ถ้าเราจะวัดว่าหนังสือยาวเท่าไร เราก็วัดเป็นเซนติเมตรจ้ะ”

ตูมตามบินเข้ามาถามว่าทำอะไรกัน แล้วให้ความรู้ว่าหน่วยต่าง ๆ นั้นมีการคิดขึ้นในหลายประเทศ ในประเทศไทยก็มีหน่วยวัดความยาว น้ำหนัก ความจุ ปริมาตร เหมือนกัน แต่ตอนนี้บางหน่วยได้ค่อยได้ใช้แล้ว ส่วนมากไปใช้หน่วยของระบบเมตริกที่เริ่มคิดในประเทศฝรั่งเศส และใช้เป็นหน่วยสากล ได้รับการยอมรับจากประเทศต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่

“ต้อมรู้ไหมว่า มีหน่วยอะไรที่เป็นหน่วยที่คนไทยคิดขึ้น”

“ไม่ทราบค่ะ”

“ที่จริงเรามีหลายหน่วย เช่น
    วัดความยาว ใช้หน่วยเป็น นิ้ว คืบ ศอก วา เส้น
    วัดน้ำหนัก  ใช้หน่วยเป็น สลึง บาท ตำลึง ชั่ง หาบ
    วัดความจุ ปริมาตร ใช้หน่วยเป็น ทะนาน ถัง เกวียน
    วัดพื้นที่ เช่น ตารางวา งาน ไร่

ต้อมนั่งฟัง และคิดตาม นึกถึงสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน และพูดว่า “ต้อมเคยได้ยินค่ะ ตารางวา งาน ไร่ เกวียน ดีนะคะที่เรามีหน่วยที่เราคิดเอง คนไทยเราก็เก่งนะคะ”

“ใช่จ้ะ เราควรภูมิใจที่เป็นคนไทย และช่วยกันทำสิ่งดี ๆ ให้ประเทศจ้ะ” ตั๊กพูดเสริม

“แล้วทำไมนิยมใช้หน่วยในระบบเมตริกกันล่ะคะ พี่ตูมตาม” ต้อมถามด้วยความสงสัย “ระบบเมตริก มีหน่วยใหญ่ถัดขึ้นไปเป็น 10 เท่าของหน่วยที่เล็กกว่าจ้ะ ตอมดูบางส่วนของหน่วยวัดความยาวในระบบเมตริกนะจ๊ะ”



“เห็นไหมจ้ะว่าหน่วยวัดความยาวระบบเมตริกลงท้ายด้วยอะไร” ตูมตามถามต่อ

“ลงท้ายด้วยเมตรค่ะ เวลาเราเห็นหน่วยที่ลงท้ายว่าเมตรก็รู้ว่าวัดความยาวซิคะ”

“ใช่แล้วจ้ะ วัดน้ำหนักล่ะ ต้อมรู้ไหมว่าลงท้ายด้วยอะไร”

“รู้ค่ะ ลงท้ายด้วย กรัม แล้วมีหน่วยเล็ก หน่วยใหญ่เป็น 10 เท่า เหมือนกับหน่วยความยาวไหมคะ”

“ใช้แบบเดียวกันจ้ะ นอกจากนั้นก็มีหน่วยตวง บอกความจุ หรือปริมาตรของสิ่งที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้อมรู้ไหม ลงท้ายด้วยอะไร”

“ขอนึกก่อนนะคะ อ๋อ ลงท้ายด้วยลิตรค่ะ”

“เก่งจ้ะ ดีมากที่ต้อมจำสิ่งที่เห็น ได้ยินได้อ่านแล้วโยงมาหากันจ้ะ ทีนี้ต้อมนึกซิว่ามีอะไรที่เป็นระบบที่เพิ่มเป็น 10 เท่า เหมือนหน่วยของระบบเมตริก” ตูมตามถามโยงไปถึงระบบตัวเลขที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

“ต้อมนึกไม่ออกค่ะ อะไรคะพี่ตูมตาม”



“ระบบตัวเลขที่เราใช้กันอยู่ไงจ้ะ ต้อมคิดดี ๆซิ ค่าประจำหลักของหลักสิบเป็นกี่เท่าของหลักหน่วย ค่าประจำหลักของหลักร้อยเป็นกี่เท่าของหลักสิบ “จริง ๆด้วยค่ะ หลักสิบเป้น 10 เท่าของหลักหน่วย หลักร้อยเป็น 10 เท่าของหลักสิบ

“จ๊ะ หลักถัด ๆ ไปก็เป็นแบบเดียวกัน เช่น ค่าประจำหลักของหลักแสนเป็น 10 เท่าของหลักหมื่น หลักล้านเป็น 10 เท่าของหลักแสน”

“เข้าใจแล้วค่ะ อย่างนี้จำง่ายดี”

“จ้ะ แล้วสะดวกกับการหาความสัมพันธ์ของหลักอื่น ๆ กับหลักหน่วย เช่นเดียวกับหาความสัมพันธ์ของหน่วยต่าง ๆ ในระบบเมตริกกับหน่วยอื่น ๆ ได้ง่ายเพราะการคูณด้วย 10 นั้นผาผลลัพธ์ได้ง่าย พี่จะยกตัวอย่างให้ดู”

ระบบตัวเลข
    ค่าประจำหลักของหลักร้อย เป็น 10x10 เท่า      ซึ่งเท่ากับ  100      เท่าของหลักหน่วย
    ค่าประจำหลักของหลักพัน เป็น 10x10x10 เท่า  ซึ่งเท่ากับ  1,000   เท่าของหลักหน่วย

หน่วยวัดความยาวระบบเมตริก 
    หน่วยเมตรบอกความยาว 10x10 เท่า ซึ่งเท่ากับ 100 เท่า ของหน่วยเซนติเมตร

“ต้อมเข้าใจแล้วค่ะ ขอแบบฝึกหัดให้ต้อมทำด้วย”

“เอ้านี่จ้ะ พี่ตั๊กเขียนไว้ให้แล้ว”

จงตอบคำถามต่อไปนี้
    1. 1 ฟุต เท่ากับกี่นิ้ว
    2. 1 กิโลเมตร เท่ากับกี่เมตร
    3. 1 กรัม เท่ากับกี่มิลลิกรัม
    4. 4 ในหลักร้อย เป็นกี่เท่าของ 4 ในหลักหน่วย
    5. 7 ในหลักร้อย มีค่ามากหรือน้อยกว่า 1 ในหลักพัน

“ต้อมทำเสร็จแล้วค่ะ”
    1. 12 นิ้ว
    2. 1,000 เมตร
    3. 1,000 มิลลิกรัม
    4. 100 เท่า
    5. น้อยกว่า

“พี่ตรวจแล้วล่ะ ถูกทุกข้อจ้ะ”

“ไชโย ดีใจจังเลย ต้อมร้องด้วยความยินดีที่ได้ถูกทุกข้อ”


ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน