การปฏิบัติตนในศาสนพิธี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 108.9K views



การปฏิบัติตนในศาสนพิธี

วิธีปฏิบัติตนและพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ศาสนพิธี คือ พิธีกรรมหรือระเบียบแบบแผนต่างๆที่ดีงาม ที่พึงปฏิบัติในทางพระศาสนา ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องห่อหุ้มศาสนาไว้ไห้ ศาสนิกชนทั่วไปได้เห็นและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้พิธีกรรมต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธาของผู้พบเห็นและเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านจิตใจของผู้นับถือพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนามากขึ้น

 

ศาสนพิธีมี 4 หมวดใหญ่

 

ในพระพุทธศาสนาแบ่งศาสนพิธีออกเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ ดังนี้

 

    1. กุศลพิธี เป็นพิธีเกี่ยวกับการอบรมความดีงามทางพระพุทธศาสนาเฉพาะบุคคล เช่น การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ การเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และการรักษาศีลประเภทต่างๆ เป็นต้น

 

   2. บุญพิธี เป็นพิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีในครอบครัวซึ่งเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปมี 2 ประเภท คือ

 

        2.1 พิธีทำบุญในงานมงคล ได้แก่การทำบุญในโอกาสต่างๆ

 

       2.2 พิธีทำบุญในงานอวมงคล เช่น บุญหน้าศพ เป็นต้น

 

   3. ทานพิธี เป็นพิธีถวายทานต่างๆ เช่น การถวายทาน เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น

 

   4. ปกิณกะพิธี เป็นพิธีเบ็ดเตล็ด ได้แก่ การอาราธนาศีล การประเคนของพระ เป็นต้น

 

 พุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนและเข้าร่วมพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนี้
  • ตอนเช้าทำบุญตักบาตรที่วัด รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และเจริญจิตภาวนา
  • ตอนค่ำประชาชรมาร่วมพิธีเวียนเทียนโดยมาพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ  ในขณะที่เวียนเทียนให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

             นอกจากวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 6 วัน ดังกล่าวแล้วยังมีวันธรรมสวนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระ” เป็นวันขึ้น 8 ค่ำ แรม 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ ของทุกเดือน เป็นวันที่ชาวพุทธมาบำเพ็ญกุศลให้กับตนเอง วันธรรมสวนะนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล ซึ่งถือเป็นวันบำเพ็ญกุศลของชาวพุทธทั่วไป การปฏิบัติตนวันธรรมสวนะ หรือวันพระ คือ

  • ชาวพุทธที่ไปทำบุญที่วัดในวันพระ คือ เมื่อถึงวันพระ ชาวพุทธก็ไปทำบุญที่วัด เตรียมอาหารคาว หวาน จัดใส่ปิ่นโต พร้อมนำดอกไม้ ธูป เทียนบูชาพระประธานที่วัด
  • ชาวพุทธไปรักษาศีลอุโบสถ รักษาศีล 5 ศีล 8 จะค้างที่วัด ชาวพุทธจะไปรักษาศีลอุโบสถที่วัด นิยมสวมชุดสีขาว เพื่อระวังจิตใจของตนเองให้ขาวสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนผ้าสีขาวที่ใส่หรือสวมชุดสุภาพเรียบร้อย

วันวิสาขบูชานับว่าเป็นวันสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนาเป็นวันที่ก่อให้เกิดพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้พระธรรมและนำมาสั่งสอนแก่สรรพสัตว์  และพระสงฆ์สาวกผู้สืบพระศาสนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอันได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ด้วยบทสวดมนตร์ตามลำดับดังนี้คือ

บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ   ด้วยบท " อิติปิโสภควา  อรหังสัมมาสัมพุทโธ...พุทโธภควาติิ"

บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ  ด้วยบท " สวากขาโต  ภควตาธัมโม...วิญญูหิติ"

บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ ด้วยบท " สุปฏิปันโน ภควโตสาวกสังโฆ...โลกัสสาติ "

จากนั้นก็จะกระทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ    รอบแรกจะสวดบทสรรเสริญพระพุทธคุณ รอบที่สองจะสวดบทสรรเสริญพระธรรมคุณ และรอบที่สามสวดบทสรรเสริญพระสังฆคุณ เมื่อครบ 3 รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน

จากนั้นก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ ซึ่งปกติจะมีเทศน์ ปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน  พิธีเริ่มตั้งแต่ประชุมฟังพระทำวัตรสวดมนต์ แล้วจึงฟังเทศน์ซึ่งจะมีไปตลอดรุ่ง

วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชน ได้บำเพ็ญประโยชน์ตน และสืบต่อพระพุทธศาสนา ให้ดำรงคงอยู่อย่างถูกต้องตรงทาง เพื่อประโยชน์สุขของตนและของผู้อื่นตลอดชั่วกาลนาน

วันอาสาฬหบูชานี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันมาน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุได้แก่พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในวันวิสาขบูชา การแสดงธรรมในวันนี้จะเทศน์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร วันอาสาฬหบูชาจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกันน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยศึกษา พระธรรมวินัยอันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงทางแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นต่อไปชั่วกาลนาน

วันมาฆบูชานี้พุทธศาสนิกชนก็จะไปประกอบศาสนกิจ เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เช่นเดียวกับที่ประพฤติปฏิบัติในวันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา คือ นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญ อันได้แก่  พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมาเป็นต้น และฟังพระธรรมเทศนาการแสดงธรรมในวันนี้ จะแสดงธรรมในเรื่องพระโอวาทปาฏิโมกข์

วันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง 3 เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม   สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย

สำหรับการปฏิบัติอื่นๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

วันออกพรรษาตามประวัติกล่าวว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ได้เสด็จไปจำพรรษาและแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาการเสด็จลงจากดาวดึงส์ครั้งนั้น ได้เสด็จลงมา ณ เมืองสังกัสสะ  บรรดาพุทธศาสนิกชนจึงพากันไปตักบาตรแด่พระพุทธเจ้า เรียกว่า ตักบาตรเทโว คำเต็มคือ ตักบาตรเทโวโรหนะ  คำว่าเทโวโรหนะ แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก            สำหรับพิธีตักบาตรเทโวนั้นโดยทั่วไปจะทำกันในบริเวณพระอุโบสถ มีการอัญเชิญพระพุทธรูป ซึ่งประดิษฐานบนบุษบกมีล้อเลื่อน มีบาตรตั้งอยู่หน้าพระพุทธรูป แล้วใช้คนลากนำหน้าพระภิกษุสงฆ์จะเดินตามพระพุทธรูป บรรดาพุทธศาสนิกชนจะเรียงรายอยู่เป็นแถวสองข้างทางที่พระพุทธรูปและพระสงฆ์เคลื่อนผ่าน เพื่อตักบาตรอาหารที่นิยม นำมาตักในวันนี้มี ข้าวสุก ข้าวต้มมัดใต้ และข้าวต้มลูกโยน

ในที่บางแห่งมีปูชนียวัตถุ เช่น พระธาตุเจดีย์ สร้างไว้บนภูเขา หรือสิ่งก่อสร้างที่สูงๆ เช่นที่ วัดสังกัส จังหวัดอุทัยธานี วัดเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี และภูเขาทองวัดสระเกศ ที่กรุงเทพ ฯ ก็จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปลงจากภูเขา บรรดาพุทธศาสนิกชนก็มาคอยตักบาตร โดยตั้งแถวสองแถวเรียงรายรออยู่ที่เชิงเขา เพื่อให้ดูใกล้ความจริงว่า  พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากที่สูง

 

การบำเพ็ญกุศลนอกจากนี้ก็มีการถวาย ผ้าจำนำพรรษา และพิธีทอดกฐิน ซึ่งจะกระทำกันหลังวันออกพรรษาไปได้อีกถึง วันเพ็ญ กลางเดือน 12

 

ที่มา: https://www.thaigoodview.com/library/teachershow/poonsak/budda/performance.html
        https://www.dmc.tv/pages/buddha_biography/