ตัวเลขนั้นสำคัญไฉน ตอน ร่วมวางแผน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 29.3K views



ตัวเลขนั้นสำคัญไฉน ตอน ร่วมวางแผน



“อีกไม่นานก็จะถึงวันปีใหม่แล้ว เรามาวางแผนกันดีกว่าว่า จะไปเยี่ยมคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย เมื่อไรและจะไปอย่าง”

“ดีค่ะ คุณพ่อ ติ๊กคิดถึงท่านจังเลยเวลาไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าที่กรุงเทพฯ เราแวะไปวัดพระแก้วด้วยนะคะ ติ๊กอยากไปไหว้พระแก้วมรกตและจะได้ดูภาพรามเกียรติ์อีก”

“ติ๊กดีใจจังเลย จะได้ไปกรุงเทพฯ อีก จะได้พบคุณปู่ คุณย่า คุณลุง คุณป้า พี่น้อย พี่นิด ตั๊กขอไปท้องฟ้าจำลองเป็นของแถมด้วยนะครับ”

“ต้อมจะไปสวนสัตว์เขาดินวนา นะคะคุณพ่อแล้วไปนั่งรถไฟฟ้าด้วยค่ะ”

“แหม ลูก ๆ ของแม่มีรายการจะไปกันทุกคนเลย เราต้องช่วยกันคิดแล้วว่าจะไปที่ไหน เมื่อไหร่ เพราะนอกจากไปเยี่ยมคุณปู่ คุณย่าที่กรุงเทพฯ แล้ว เราจะเลยไปเยี่ยมคุณตาคุณยายที่ชลบุรีด้วย”

“ต้อมก็คิดถึงคุณตาคุณยายค่ะ”

“ตอนไปบ้านคุณตาคุณยาย เราไปแวะสวนสัตว์เขาเขียว ได้ไหมครับ”

“คงได้จ้ะ ถ้าเราจัดเวลาดี ๆ ตั๊กไปหยิบปฏิทินมาดูซิลูก”



“เอาล่ะ ได้ปฏิทินแล้ว ดูซิว่าเราได้หยุดวันปีใหม่กี่วัน เราต้องจดรายการไว้ ใครจะเป็นคนจดจ้ะ”

“ติ๊กค่ะ”

“โชคดีจังเลยครับคุณพ่อ จะได้หยุดปีใหม่ติดต่อกันกับวันเสาร์อาทิตย์”

“หยุดปีใหม่ วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2544 ถึงวันอังคารที่ 1 มกราคม 2545 ต้อมรู้ไหมว่ารวมเป็นกี่วัน”

“สี่วันค่ะแม่ ต้อมอยากไปทั้งสี่วันเลย”



“ตั๊กก็เหมือนกัน เราไปและกลับโดยรถไฟดีไหมครับ นั่งสบายดี”

“คนอื่นว่าอย่างไรกันจ๊ะ ถ้าไม่มีคนคัดค้าน พ่อจะสรุปว่าเห็นด้วยนะ ต้องดุว่าจะไปรถขบวนไหนกลับขบวนไหน จะได้เตรียมตัวเดินทางกันดี ๆ ตั๊กไปหยิบตารางรถไฟมาหน่อยลูก”

“ติ๊กเขียนบนกระดานเลยจ้ะ เราจะออกจากนครสวรรค์ไปกรุงเทพฯ วันที่ 29 ธันวาคม 2544 กลับจากกรุงเทพฯ วันที่ 1 มกราคม 2545 ทีนี้ตั๊กดูซิลูกว่ารถธรรมดาออกจากสถานีนครสวรรค์เวลาใดบ้าง”



“ตั๊กอ่านแล้วดูเหมือนว่ามี 3 ขบวนครับ ขบวน 208 ออกห้านาฬิกา ขบวน 212 ออกเจ็ดนาฬิกาสิบนาที และขบวน 202 ออกแปดนาฬิกาสี่สิบนาที ตั๊กอ่านถูกแล้วใช่ไหมครับ”

“ใช่ลูก เก่งมากแล้วเราจะไปขบวนไหนดี”

“แม่ว่าเราไปขบวนที่สองดีไหม ถ้าไปขบวนแรกต้องตื่นเร็วมาก ขบวนที่สามก็สายไป”

ลูกๆ รีบตอบ “ดีครับ ดีค่ะ”



“ติ๊กจดเลยนะคะว่าวันที่ 29 ธันวาคม 2544 ออกจาสถานีนครสวรรค์ด้วยรถไฟขบวน 212 เวลา 07.10 น.”

“ตั๊กลองดูซิลูก รถไฟขบวน 212 ถึงกรุงเทพฯ เวลาใด ต้องคิดก่อนว่าจะลงสถานีไหนดี”

“บ้านคุณปู่คุณย่าอยู่ถนนระนอง ลงที่สถานีสามเสนไหมครับ ใกล้ดี”

“แล้วเรานั่งรถแท๊กซี่ต่อใช่ไหมคะ”

“ใช่จ้ะต้อม เราไปกันหลายคน และมีของด้วย นั่งรถแท๊กซี่สะดวกกว่า ถ้านั่งรถประจำทางจะต้องเดินไกลและนั่งรถหลายต่อ ค่าใช้จ่ายพอ ๆ กับค่าโดยสารรถแท็กซี่”

“เอาล่ะ ตอนนี้มาดูเวลากลับ ตั๊กดูซิลูก ตอนบ่ายมีรถออกี่ขบวนและเวลาใดบ้าง”

“มีสองขบวนครับ ขบวน 211 ออกเวลาสิบสามนาฬิกาสิบห้านาที ขบวน 207 ออกเวลาสิบสี่นาฬิกาสิบสามนาที”

“พ่อว่า เรากลับขบวนแรกดีไหม จะได้ถึงบ้านเร็วหน่อย”

“จ้ะพ่อ เราจะได้เตียมตัวไปทำงานกัน”

“ติ๊กจดนะคะ”



“ต้อมดูที่พี่ติ๊กจด มีตัวเลขเต็มไปหดม งงจังเลย”

“พี่ตูมตามจะอธิ บายเกี่ยวกับตัวเลขให้ต้อมฟังจ้ะ แต่ต้องคุยกันเรื่องสัญลักษณ์ก่อนจ้ะ ต้อมดูแผ่นกระดาษนี้ซิจ้ะ เห็นอะไรบ้าง”

คำศัพท์ : สัญลักษณ์คือสิ่งที่กำหนดนิยมกันขึ้นเพื่อให้ใช้หมายความแทนอีกสิ่งหนึ่ง



“แถวแรกเป็นอักษรไทย แถวที่ 2 เป็นอักษรภาษาอังกฤษ แต่แถวที่ 3 ต้อมไม่ทราบว่าเป็นอะไรค่ะ”

“พี่ติ๊กช่วยจ้ะ รูปแรกของแถวที่ 3 เป็นสัญลักษณ์ของธนาคารออมสิน รูปต่อไปเป็นรูปหัวใจซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ถัดมาเป็นรูปเสมาธรรมจักรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกระทรวงศึกษาธิการ และรูปสุดท้ายเป็นสัญลักษณ์แทนเพศหญิงในวิชาชีววิทยาจ้ะ”

“แถวที่ 4 และ 5 ต้อมทราบค่ะ เป็นเครื่องหมายบวก ลบ คูณ หาร และตัวเลขอารบิกค่ะ”

“เก่งมากจ้ะเด็กๆ สิ่งต่าง ๆ ที่พวกเราเห็นนี่ เรียกว่าสัญลักษณ์ จ้ะ”

“คุณพ่อคะ อะไร ๆ ก็เป็นสัญลักษณ์ได้หรือคะ” ต้อมถามด้วยความสงสัย

“คนเรากำหนดสัญลักษณ์ขึ้นแทนสิ่งต่าง ๆ อาจเป็นรูปภาพ จุด ขีด ดังเช่นตัวอย่างที่ตูมตามนำมาให้ดูบางทีก็กำหนดแค่ตัวเดียว บางทีก็กำหนดเป็นชุด และมีระบบการนำสัญลักษณ์เหล่านี้ไปใช้ ดังเช่น ในภาษาไทยเรากำหนดพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เพื่อมาประสมให้เกิดคำ” คุณพ่อธิบาย

“ในการบอกจำนวน มนุษย์ก็กำหนดสัญลักษณ์ และระบบการนำมาผสมกันให้เกิดตัวเลขแบบต่าง ๆ บอกจำนวน ดูที่พี่ตูมตามเตรียมมาซิจ้ะ” คุณแม่เสริม

“หยุดพักผ่อนก่อนได้ไหมคะ ต้อมขอไปยืดเส้นยืดสายให้สมองแจ่มใสก่อนนะคะ”

“ดีแล้วจ้ะ พวกเราแยกย้ายไปทำอะไรตามใจชอบสักครึ่งชั่วโมง แล้วค่อยกลับมาคุยกันต่อ”


ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน