Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เสียงดังส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร

Posted By Amki Green | 18 พ.ค. 63
7,167 Views

  Favorite

เราใช้เสียงในการสนทนาพูดคุยกัน ความดังของเสียงแต่ละอย่างที่เราได้ยินมีความแตกต่างกันไป แต่หากเราได้ยินเสียงที่ดังเกินไปจะส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบค่ะ

 

ระดับความดังของเสียง

เสียงมีหลายระดับมีทั้งระดับที่อันตรายและไม่เป็นอันตราย ความดังของเสียงหรือระดับความเข้มเสียงมีหน่วยการวัดที่ชื่อว่า เดซิเบลเอ dB(A) เป็นหน่วยที่ใช้วัดระดับเสียงต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปเสียงที่มนุษย์สามารถได้ยินจะอยู่ที่ 0 - 120 เดซิเบลเอ ขณะที่เสียงที่หูของมนุษย์สามารถรับได้โดยไม่เกิดอันตรายคือ เสียงที่มีค่าต่ำกว่า 85 เดซิเบลเอ เช่น เสียงกระซิบ มีค่าระดับเสียงเท่ากับ 30 เดซิเบลเอ หรือเสียงสนทนาพูดคุยกันทั่วไปอยู่ที่ระดับเสียง 60 เดซิเบลเอ

 

ส่วนระดับเสียงที่อันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์คือ ระดับเสียงที่มากกว่า 85 เดซิเบลเอ ได้แก่ เสียงตามโรงงานอุตสาหกรรม เสียงขุดเจาะถนน ซึ่งมีค่าระดับเสียง 100 เดซิเบลเอ และเสียงเครื่องบินขึ้นที่มีค่าระดับเสียง 140 เดซิเบลเอ หากได้ยินเสียงในระดับที่เป็นอันตรายมาก ๆ เป็นเวลานาน ๆ จะส่งผลกระทบต่อการได้ยินและมีผลเสียต่อสุขภาพได้

ภาพ : Shutterstock

 

กระบวนการได้ยินของหู

ในหูของเราประกอบไปด้วย หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน เมื่อเสียงจากแหล่งกำเนิดผ่านตัวกลางมาถึงหูของเรา เสียงจะผ่านเข้ามาในหูชั้นนอกซึ่งประกอบไปด้วย ใบหู รูหู และเยื่อแก้วหูก่อน เมื่อเสียงเข้าไปกระทบเยื่อแก้วหูและเกิดการสั่นสะเทือน แล้วทำให้กระดูกชิ้นเล็ก ๆ 3 ชิ้นในหูชั้นกลาง ได้แก่  กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน สั่นสะเทือนไปด้วย

 

หลังจากนั้นการสั่นสะเทือนของเสียงจะส่งผ่านเข้าสู่หูชั้นใน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประสาทรับเสียง โดยในหูชั้นในจะมีของเหลวซึ่งบรรจุอยู่ในคอเคลียและเซลล์ขน เมื่อเสียงสั่นสะเทือนมาถึงของเหลวและผ่านไปยังเซลล์ขน เซลล์ขนจะเปลี่ยนการสั่นสะเทือนเป็นพลังงานไฟฟ้า และหมีหน้าที่ในการส่งพลังงานเหล่านี้ผ่านเส้นประสาทหูไปยังสมองเพื่อแปลผล ทำให้เราได้ยินเสียงต่าง ๆ ได้

ภาพ : Shutterstock

 

ผลกระทบของเสียงต่อสุขภาพ

หากเราได้ยินเสียงที่อยู่ในระดับอันตรายมากเกินไปเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้สูญเสียการได้ยิน เช่น หูอื้อ การได้ยินเสียงในหู หรืออาจเกิดอาการหูหนวกได้ การได้ยินเสียงที่อยู่ในระดับอันตรายเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เซลล์ขนภายในหูชั้นในเริ่มเสื่อมสภาพทำให้สูญเสียการได้ยินชั่วขณะหรืออาจสูญเสียการได้ยินแบบถาวรได้ นอกจากนั้นเสียงที่ดังจนเป็นอันตรายต่อหูแล้วนอกจากส่งผลทางร่างกายยังส่งผลต่อจิตใจอีกด้วย เช่น เกิดความเครียด ขาดสมาธิในการทำงาน เป็นต้น ดังนั้นหากต้องอยู่หรือทำงานในบริเวณที่มีเสียงดังมากๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม สนามบิน สถานที่ก่อสร้าง ควรหาอุปกรณ์ป้องกันเสียง เช่น ที่อุดหู ที่ครอบหู เป็นต้น

ภาพ : Shutterstock

 

หากเราต้องการให้หูของเรามีประสิทธิภาพในการได้ยินไปนาน ๆ เราควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดัง หรือถ้าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราควรใช้อุปกรณ์ในการป้องกันค่ะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow