Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การวัดอุณหภูมิ หรือการวัดไข้ ทำอย่างไรให้ถูกวิธี

Posted By Plook Parenting | 16 เม.ย. 63
9,266 Views

  Favorite

การวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือที่เรียกติดปากกันว่า "วัดไข้" มีอยู่หลากหลายวิธี ด้วยอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาขั้นตอนการวัดไข้เด็ก การใช้เครื่องมือวัดไข้ และต้องไม่ลืมเตรียมตัวก่อนการวัดไข้เสมอ เพื่อให้ทราบอุณหภูมิที่ถูกต้อง และแม่นยำ

 

การเตรียมตัวก่อนการวัดอุณหภูมิ

ก่อนการวัดอุณหภูมิ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นต่าง ๆ อาทิ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม การอาบน้ำอุ่น การสระผมเป่าผม ฯลฯ เพราะจะทำให้อุณหภูมิที่ได้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง แนะนำว่าควรให้ร่างกายได้ผ่อนคลายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ก่อนแล้วจึงวัดอุณหภูมิ และห้ามกินยาลดไข้ก่อนการวัดอุณหภูมิ เพราะยาจะไปกดอาการไข้ต่าง ๆ ไว้ไม่ให้แสดงผล

นอกจากนี้ ควรตรวจสอบปรอทสำหรับวัดอุณหภูมิทุกครั้งว่าอยู่ต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียสหรือไม่ ถ้าอยู่สูงกว่าควรสะบัดให้สารปรอทลดลงมาก่อนจึงสามารถวัดอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำ

ข้อแนะนำ ควรทำความสะอาดปรอทวัดอุณหภูมิหรือเทอร์โมมิเตอร์ก่อนและหลังใช้งานทุกครั้ง ด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์ ตามประเภทของเทอร์โมมิเตอร์

 

ภาพ : Shutterstock

 

วิธีและขั้นตอนการวัดอุณหภูมิ

1. การวัดทางรักแร้

เป็นการวัดอุณหภูมิที่ใช้วัดอุณหภูมิได้ในคนทุกวัย โดยการวัดทางรักแร้จะต้องสอดปรอทวัดอุณหภูมิไว้ใต้รักแร้ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 นาที (หากเป็นปรอทดิจิตอลจะมีสัญญาณเตือน) เป็นการวัดอุณหภูมิที่ง่ายที่สุด แต่ใช้เวลานานเพราะหากเด็ก ๆ ดิ้นจนปลายปรอทเคลื่อน จะต้องวัดอุณหภูมิใหม่อีกครั้ง

2. การวัดทางปาก

เหมาะสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป เพราะเด็กวัยนี้อมปรอทเป็นแล้ว หากเด็กกว่านี้เด็กอาจกัดปรอทแตกได้ และควรตรวจสอบภายในช่องปากว่าไม่มีสิ่งใดตกค้างอยู่ก่อนวัดทุกครั้ง การวัดอุณหภูมิทางปากควรอมไว้ใต้ลิ้นเป็นเวลา 3 นาที ขณะวัดไม่ควรหายใจทางปาก เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิที่ได้คลาดเคลื่อนไป

3. การวัดทางหู

เป็นการวัดอุณหภูมิด้วยเครื่องดิจิตอล โดยใช้รังสีอินฟาเรดตรวจจับความร้อนภายในหู โดยจะใช้เวลาวัดเพียง 2-3 วินาที เหมาะสำหรับเด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป ขณะวัดควรดึงใบหูไปด้านหลังเล็กน้อยเพื่อให้รูหูตรง และควรวัดอย่างน้อย 2 ครั้งเพื่อหาค่าเฉลี่ยและป้องกันการคลาดเคลื่อน

4. การวัดทางทวารหนัก

เป็นการวัดที่ได้ค่าอุณหภูมิใกล้เคียงแกนกลางร่างกายที่สุด เหมาะสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี โดยทาวาสลีนที่ปรอทแล้วใส่เข้าไปทางทวารหนัก ลึก 1 นิ้ว นาน 2 นาที ผู้วัดต้องจับปลายปรอทไว้ให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้ปรอทไหลเข้าไปลึกเกินไป

5. การวัดทางผิวหนัง

การวัดอุณหภูมิทางผิวหนัง วัดได้ 2 วิธีคือการใช้เครื่องดิจิตอลปล่อยรังสีอินฟาเรดเพื่อตรวจจับความร้อนท่แผ่ออกจากร่างกายบริเวณหน้าผาก และการใช้แถบวัดอุณหภูมิ โดยต้องเช็ดเหงื่อที่หน้าผากก่อน จากนั้นแปะแถบวัดอุณหภูมิ รอประมาณ 15 นาที แต่การวัดอุณหภูมิทางผิวหนังทั้ง 2 วิธีอาจได้ค่าอุณหภูมิไม่แม่นยำเท่าการวัดทางอื่น เพราะอาจมีปัจจัยภายนอกส่งผลให้คลาดเคลื่อนได้ง่าย

 

ภาพ : Shutterstock

 

ประเภทของเครื่องวัดอุณหภูมิ

เครื่องวัดอุณหภูมิที่นิยมใช้มีอยู่หลากหลายแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทดังนี้

1. ปรอทแก้ว

เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันทุกบ้าน เพราะหาซื้อง่าย ราคาย่อมเยา และสามารถวัดอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำ แต่ใช้เวลาในการวัดค่อนข้างนาน มักนิยมใช้วัดทางปากหรือรักแร้

2. ปรอทดิจิตอล

หรือเครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิตอล ใช้งานง่ายกว่าปรอทแก้ว เพราะใช้เวลาวัดอุณหภูมิไม่นาน มีหน้าจอแสดงผลบอกอุณหภูมิชัดเจน มักนิยมใช้วัดทางปากหรือรักแร้ รวมไปถึงใช้ในการวัดอุณหภูมิทางรูทวารในเด็กเล็กด้วย

3. เครื่องวัดอุณหภูมิในช่องหู

เป็นเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด ที่ไม่สัมผัสร่างกาย ใช้เซ็นเซอร์จากรังสีอินฟราเรดวัดความร้อนที่แผ่ออกมาจากร่างกาย มีหน้าจอแสดงผลชัดเจน ทำให้อ่านค่าอุณหภูมิง่าย

4. เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก

เป็นเครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด ที่ไม่สัมผัสร่างกาย ใช้การทำงานจากเซ็นเซอร์รังสีอินฟราเรดในการวัดความร้อนที่แผ่ออกจากร่างกายเหมือนกับเครื่องวัดในช่องหู แต่เครื่องนี้สามารถถือไว้ตรงหน้าผากได้เลย ทำให้สะดวกและรวดเร็ว อ่านค่าอุณหภูมิได้ทันที แต่มีความคลาดเคลื่อนสูงเนื่องจากระยะในการวัดคลาดเคลื่อนได้ง่าย และอาจมีปัจจัยภายนอกส่งผลให้การวัดอุณหภูมิผิดเพี้ยนไป

การอ่านผลการวัดอุณหภูมิ​

โดยทั่วไปร่างกายของผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง จะมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 36-37.2 องศาเซลเซียส ส่วนในเด็กเล็กจะมีอุณหภูมิต่างกันประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส ในช่วงเช้าอุณหภูมิร่างกายจะต่ำกว่าช่วงบ่าย เพราะระหว่างวันมีปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลง หากพบว่าค่าอุณหภูมิที่วัดได้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ให้สันนิษฐานว่ามีอาการไข้ แต่ทั้งนี้ควรพิจารณาอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย

 

ภาพ : Shutterstock

 

ข้อสังเกตอื่น ๆ เกี่ยวกับการวัดอุณหภูมิ

1. อุณหภูมิตามตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายมีความแตกต่างกัน คือ

   • อุณหภูมิปกติทางปาก 35.5-37.5 องศาเซลเซียส 

   • อุณหภูมิปกติทางทวารหนัก 36.6-38 องศาเซลเซียส 

   • อุณหภูมิปกติทางรักแร้ 34.7-37.3 องศาเซลเซียส 

   • อุณหภูมิปกติทางหู 35.8-38.0 องศาเซลเซียส

หากจะพิจารณาว่ามีอาการไข้หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าวัดอุณหภูมิตำแหน่งไหนด้วยเช่นกัน

2. อายุ เพศ น้ำหนัก อัตราการเผาผลาญของร่างกาย กิจกรรมที่ทำ สภาพอารมณ์ สภาพอากาศแวดล้อม ฯลฯ ก็มีส่วนทำให้อุณหภูมิในร่างกายแตกต่างกัน ดังนั้น หากต้องการทราบว่ามีไข้หรือไม่ ในหนึ่งวันควรวัดอุณหภูมิมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อหาค่าเฉลี่ยว่าร่างกายอุณหภูมิเท่าไหร่ อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือมากกว่าเกณฑ์จนอาจมีไข้

3. ก่อนการวัดอุณหภูมิทุกครั้ง ควรให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และเว้นระยะจากกิจกรรมต่าง ๆ ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายคงที่มากที่สุด

4. สำหรับเครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ ที่วัดอุณหภูมิหน้าผาก ควรเลือกใช้งานโหมดการวัดอุณหภูมิให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพราะการใช้โหมดวัดอุณหภูมิพื้นผิว (Surface Temperature) หรือการวัดอุณหภูมิตรง ๆ บนพื้นผิวอาจไม่เสถียรและไม่แม่นยำเสมอไป บางครั้งอาจต้องวัดอุณหภูมิด้วยโหมดอื่น เพื่อนำค่าอุณหภูมิที่ได้มาวิเคราะห์ประกอบกัน จึงจะได้ค่าอุณหภูมิร่างกายที่ถูกต้อง ทางที่ดีที่สุดควรศึกษาคู่มือการใช้งานเครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติทุกครั้งก่อนใช้วัดอุณหภูมิ

5. อุณหภูมิร่างกายในช่วงเช้าจะต่ำกว่าช่วงเย็นเสมอ เพราะอุณหภูมิในร่างกายจะเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางกายภาพในแต่ละวัน

6. ควรฆ่าเชื้อโรคที่เครื่องวัดอุณหภูมิก่อนและหลังการใช้งานทุกครั้ง โดยสารที่ใช้ทำความสะอาดควรเป็นสารที่เป็นกลาง หรือตามที่คู่มือการใช้งานของเครื่องวัดอุณหภูมิระบุไว้ หากใช้ผิดประเภทอาจส่งผลกระทบต่อเครื่องวัดอุณหภูมิได้

7. เครื่องวัดอุณหภูมิ หรือเครื่องวัดไข้ต่าง ๆ นั้น สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ หากจะสั่งทางออนไลน์ก็ต้องดูความน่าเชื่อถือของร้านด้วยเช่นกัน 

 

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกหรือคนในครอบครัวมีไข้สูงนานกว่า 3 วัน และมีอาการอื่น ๆ อาทิ ปวดหัว เจ็บคอ มีผื่นขึ้นตามตัว หนาวสั่น ปวดท้อง ฯลฯ หรือบรรเทาอาการไข้แล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องโดยทันที

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow