Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Eat Play Love มหัศจรรย์พลังครอบครัว สู่พัฒนาการของเด็กปฐมวัย

Posted By Plook Parenting | 14 ก.พ. 63
8,535 Views

  Favorite

องค์การยูนิเซฟ ร่วมกับ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด จัดโครงการ “Central-UNICEF Together For Every Child” มีวัตถุประสงค์สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย

 

“Central-UNICEF Together For Every Child” ในปี 2563 นี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ผ่านรูปแบบงานเอ็กซ์โปภายใต้ธีม #EatPlayLove ภายใต้แนวคิด #EatPlayLove มหัศจรรย์พลังครอบครัว ที่มุ่งต่อยอดและสร้างความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงลูกตั้งแต่ 0-6 ปีแรกของชีวิต เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สมองพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

 

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวว่า “พ่อแม่ผู้ปกครองควรเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองของเด็กและธรรมชาติของเด็กว่า สมองของเด็กจะมีการพัฒนาส่วนอารมณ์เร็วกว่าส่วนของเหตุผล  หน้าที่ของพ่อแม่ คือการช่วยให้เด็กใช้สมองส่วนเหตุผลมากขึ้น ช่วยให้เขารู้จักควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นผ่านการเลี้ยงลูกเชิงบวก ซึ่งมีหลักการอยู่ 4 ข้อ ได้แก่

1) การเข้าใจธรรมชาติของเด็ก

2) การมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก เช่น ให้เวลาคุณภาพ กับเด็ก เล่น และทำกิจกรรมกับลูกรับฟังลูก

3) การสื่อสารเชิงบวก การคุยกับลูกอย่างใจเย็นให้ลูกรู้สึกตนเองเป็นที่รัก มีพ่อและแม่อยู่เคียงข้าง และ

4) การฝึกวินัยเชิงบวกเพื่อให้ลูกรู้จักกติกาและรู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ แทนที่จะลงโทษด้วยวิธีรุนแรง เช่น ตี ดุด่า ขู่ให้กลัว หรือเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งวิธีการเชิงลบนี้ จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองและอาจส่งผลต่อพฤติกรรมในระยะยาว”

 

 

โดยสิ่งสำคัญ  3 อย่างที่จะช่วยให้สมองของเด็กพัฒนาได้เต็มที่ คือ โภชนาการที่ดี การกระตุ้นพัฒนาการ และความรัก ความเอาใจใส่ใกล้ชิดจากคนรอบข้าง ซึ่งครอบครัวมีพลังมหัศจรรย์ และคือคนสำคัญที่สุดที่จะมอบสิ่งมีค่า 3 อย่างนี้ให้แก่เด็ก ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาของเด็กไปชั่วชีวิต

 

#Eat (กินให้เป็น)

งานเอ็กซ์โปในครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับบทบาทของครอบครัวในการช่วยให้ลูกมีภาวะโภชนาการที่ดี ทั้งผ่านการจัดเตรียมอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้ลูก และการฝึกให้ลูกมีวินัยในการกินอาหาร

จากการสำรวจ “สถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย” พบว่าในประเทศไทยมีเด็กเตี้ยแคระแกร็นราว 1 ใน 10 คน แม้จะเป็นตัวเลขที่ดูไม่มาก แต่ภาวะดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการในระยะยาว ซึ่งครอบครัวจำนวนมากยังขาดการตระหนักรู้ในส่วนนี้

ภาวะเตี้ย (Stunting) เป็นผลมาจากการที่ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอเป็นเวลานาน ทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้นน้อยหรือไม่เพิ่ม เจ็บป่วยบ่อย และส่งผลกระทบต่อสติปัญญา ซึ่งเป็นการตัดต้นทุนการเรียนรู้ให้กลายเป็นคนเรียนรู้ช้า  ภาวะนี้หากเกิดแล้วจนเด็กมีอายุเกิน 6-7 ปีจะไม่สามารถแก้ไขได้

ภาวะผอมแห้ง (Wasting) แม้บางคนอาจจะบอกว่าไม่น่ากลัวต่อการพัฒนาสุขภาพอนามัยเด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้วการอยู่ในภาวะผอมนาน ๆ ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเตี้ยแคระแกร็นได้

ภาวะเริ่มอ้วนและภาวะอ้วน (Overweighting and Obesity) อาจนำไปสู่ภาวะขาโก่ง หยุดหายใจขณะนอนหลับ มีโอกาสเป็นผู้ใหญ่อ้วนและเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง

 

 

#Play (เล่นให้สุด) ส่งเสริมให้เด็กได้เล่นตามวัย

การเล่น คือวิธีพัฒนาเด็กง่าย ๆ ที่ครอบครัวสามารถทำด้วยกันได้ทุกวัน “ของเล่น” ที่สำคัญที่สุดของเด็กคือพ่อแม่ แค่เพียงมีพ่อแม่อยู่ใกล้ ๆ ทำหน้าที่ในการชี้ชวนให้เด็กเล่น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือจะมีของเล่นอื่นหรือไม่ ก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญ การเล่นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ควรใช้คำว่า “ไม่มีเวลา” มาปิดกั้นโอกาสในการเล่นกับลูก เพราะเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก็สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และเปิดโอกาสให้พ่อแม่สอนกฎ กติกา และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้ลูกด้วย

เด็กควรได้สำรวจและเลือกเล่นตามที่เขาต้องการ แต่เมื่อมีผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือ แนะนำ สนับสนุนอย่างใส่ใจและใกล้ชิด ก็จะยิ่งเพิ่ม “พลัง” ให้การเล่าของลูกขึ้นอีก

การอ่านนิทานด้วยกัน เป็นสิ่งที่จะเติมพลังชั้นเลิศให้สมอง ช่วงเวลาที่ลูกได้นั่งตักพ่อแม่ อ่านนิทานและดูภาพไปด้วยกัน คือหนึ่งในช่วงเวลาที่ลูกรู้สึกมีความสุขที่สุด สมองของลูกจะพุ่งความสนใจไปที่เสียงที่ได้ยิน สมองของลูกจะจินตนาการตามเรื่องราวอย่างเต็มที่ และในขณะเดียวกันก็เก็บเกี่ยวคำใหม่ ๆ เข้าไปใน “คลังภาษา” ของลูก ช่วยให้ลูกเปิดโลกทัศน์ ให้รู้จักกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมต่าง ๆ ลงไปถึงในใจเด็ก

 

 

#Love (ไม่หยุดรัก)

บรรยากาศของการดูแลที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก การเอาใจใส่ทุกข์สุขตั้งแต่เด็กยังเล็ก จะถักทอเป็นสายใยของความรักความผูกพัน ซึ่งจะช่วยให้เขารับรู้ว่าตัวเองเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับและมีค่า รับรู้ว่ามีใครบางคนที่เชื่อใจได้และอยู่เคียงข้างเสมอเมื่อมีปัญหา นี่คือสิ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ และเป็นพลังที่คอยหนุนเสริมให้เขาเติบโต

     • พ่อแม่สามารถเสริมพลังใจให้ลูกได้โดย

     • จัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้ลองพยายามทำสิ่งต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามวัยด้วยตัวเอง

     • ชื่นชม ให้กำลังใจเด็ก ให้พยายามทำต่อไปแม้จะรู้สึกว่าสิ่งนั้นยาก แต่ไม่กดดันเด็กจนเกินไป

     • หากทำไม่สำเร็จ เด็กอาจผิดหวังท้อแท้ ร้องไห้ หรือโกรธ พ่อแม่ควรปลอบโยน ให้กำลังใจ สร้างความเชื่อมั่นในตัวลูก การได้พยายามลองผิดลองถูก จนรู้สึกถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องจำเป็น

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow