Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เกิดอะไรขึ้นบ้างในห้วงอวกาศระหว่างปี 2019

Posted By Rezonar | 09 ม.ค. 63
32,233 Views

  Favorite

ท้องฟ้าที่ทุกคนคุ้นเคย ไกลและลึกลงไปในห้วงอวกาศ ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีวัตถุใกล้โลกที่มีขนาดตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ ไปจนขนาดใหญ่นับร้อยเมตรเคลื่อนที่ผ่านโลกเราไป หรือแม้กระทั่งดาวหางจากต่างระบบสุริยะที่โคจรเข้ามา และอาจจะกลับมาอีกในอนาคต เรื่องราวมากมายที่เป็นข่าวสารจากบนท้องฟ้า ผู้เขียนขอสรุปเรื่องราวสำคัญ ๆ มาให้ได้อ่านกัน

 

ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่าตึกสูงเคลื่อนที่ประชิดโลก

ในราวกลางเดือนกันยายน ดาวเคราะห์น้อยนามว่า 2000 QW7 มีความกว้างราว 300-600 เมตร  หรือมีขนาดเป็นสองเท่าของตึกมหานคร ได้เคลื่อนที่ผ่านโลกของเราไปด้วยความเร็วประมาณ 23,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ระยะห่างในขณะที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดนั้นอยู่ที่ 5 ล้านกิโลเมตรเท่านั้น ทั้งนี้ องค์การนาซา (NASA) ได้เฝ้าติดตามการเดินทางของมันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และยังคงเฝ้าติดตามต่อไป โดยผลจากการคำนวณ ดาวเคราะห์น้อย 2000 QW7 จะโคจรกลับมาเฉียดโลกอีกครั้งในปี ค.ศ. 2038 (หรืออีก 19 ปีข้างหน้า)

ภาพ : Shutterstock

 

การโจมตีจากวัตถุนอกโลกจำนวน 3 ชิ้น

เรื่องน่าตื่นเต้นนี้เกิดขึ้น ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน เมื่อนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา (NASA)ได้ค้นพบว่า หินอวกาศจำนวน 3 ชิ้น กำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกอย่างมาก โดยอยู่ในระยะห่างเพียง 500,000 กิโลเมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ด้วยอิทธิพลของแรงดึงดูดโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ก็ส่งผลให้วัตถุทั้ง 3 เกิดการเบี่ยงเบนทิศทางการโคจร และเคลื่อนที่ผ่านโลกไปโดยไม่เกิดการพุ่งชนแต่อย่างใด

ภาพ : Shutterstock

 

ดาวหางผู้เดินทางมาจากระบบสุริยะอื่น

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายเกนนาดี โบรีซอฟ (Gennady Borisov) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวยูเครน ได้สังเกตพบดาวหางดวงหนึ่ง มีลักษณะการโคจรที่แตกต่างไปจากดาวที่เป็นบริวารของดวงอาทิตย์ เมื่อพิจารณาจากวงโคจรที่มีลักษณะเป็นไฮเพอร์โบลาและความเร็วในการโคจรแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่า ดาวหางดวงดังกล่าวต้องเดินทางมาจากที่ไกลมากๆ หรือมาจากนอกระบบสุริยะของเรานั่นเอง ภายหลังได้รับการยืนยันจึงได้ชื่อว่าดาวหาง C/2019 Q4 (Borisov) ถือเป็นวัตถุที่มาจากนอกระบบสุริยะลำดับที่สองถัดจาก โอมูอามูอา (Oumuamua) ที่ถูกสังเกตพบในปี 2017

 

ลำแสงพลังงานสูงจากดวงดาวที่กำลังจะพบจุดจบ

ย้อนกลับไปต้นปี 2019 ในเดือนมกราคม นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจและจับตาดูปรากฏการณ์ “วาระสุดท้ายของดวงดาว” อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เมื่อวัตถุเช่นดวงดาวหมดอายุและถึงจุดจบ จะเกิดการระเบิดอย่างรุนแรงและปลดปล่อยแสงที่มีพลังงานสูงอย่างยิ่งยวดออกมาด้วย เรียกกันว่า “การระเบิดปล่อยรังสีแกมมา (gamma-ray burst :  GRB) พลังงานที่ปล่อยออกมาจะอยู่ในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าย่านรังสีแกมมาซึ่งเป็นพลังงานที่สูงที่สุด แต่ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยตาเหมือนกับแสง โดยในการสังเกตครั้งนี้ เป็นดวงดาวที่อยู่ห่างออกไปจากโลก 7.5 พันล้านปีแสง แสงที่ปล่อยออกมามีค่ามากกว่าพลังงานของโฟตอนที่มาจากดวงอาทิตย์ถึงล้านล้านเท่า ถึงแม้ว่าการระเบิดปล่อยรังสีแกมมาไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นนั้นอาจยาวนานเป็นนาที หรือบางครั้งก็เพียงเสี้ยววินาที นักวิทยาศาสตร์จึงต้องให้การจับจ้องอยู่ตลอด และคาดหวังว่าจะสามารถบันทึกภาพจากการสังเกตได้มากขึ้นอีกในอนาคต

ภาพ : Shutterstock

 

ดาวเคราะขาวสามารถเปล่งแสงสว่างมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในช่วงปี 2018 จนถึง 2019 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ดาวแคระขาวในกาแล็กซีของเราเริ่มที่จะเปล่งแสงสว่าง มากขึ่นเรื่อย ๆ และยังคงสว่างมาจนถึงปัจจุบัน ในปี 2019 ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์จึงได้ตั้งทฤษฎีขึ้นว่า ดาวเคราะห์น้อยจำนวนมหาศาลได้ติดอยู่ในสนามโน้มถ่วงของดาวแคระ และผลของสนามโน้มถ่วงนั้นได้ฉีกดาวเคราะห์น้อยออกเป็นเศษชิ้นน้อยใหญ่ จนมีลักษณะคล้ายม่านโลหะ พลังงานแสงจากดาวแคระขาวที่เปล่งออกมาจะทำให้ชิ้นส่วนดาวเหล่านั้นได้รับความร้อนจนกระทั่งตัวมันเองเปล่งแสงได้เอง และนี่คือเหตุผลที่โลกสังเกตเห็นดาวแคระน้อยสว่างขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

ดาวเคราะห์น้อยขนาดเท่าพีระมิดเคลื่อนที่ผ่านโลก

วัตถุใกล้โลกขนาดมหึมา นามว่า 2019 SX5 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของมันอยู่ที่ราว 60-140 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับพีระมิดคีออปส์ (หรือนิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า มหาพีระมิดแห่งกีซา : The Great Pyramid of Giza)  ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้แล่นผ่านโลกของเราไปในวันที่ 10 ตุลาคมด้วยความเร็ว 78,900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะห่างในขณะที่ผ่านโลกไป อยู่ที่ราว 6.76 ล้านกิโลเมตร

 

ก่อนหน้านั้นประมาณ 2 วัน ก็มีดาวเคราะห์น้อยถึง 7 ดวงพุ่งผ่านโลกของเราไปเช่นกัน รวมไปถึงดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อว่า 2019 TW1 ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 16 เมตร หรือขนาดเป็นสองเท่าของรถบัสในกรุงลอนดอนเลยทีเดียว

 

ฝนดาวตกยูนิคอร์น

ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นปกติในทุก ๆ ปี ดาวตกที่สามารถสังเกตเห็นได้นั้น เกิดจากสะเก็ดดาวที่พุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้า ซึ่งโดยปกติแล้ว สะเก็ดดาวนั้นมีปริมาณเพียงน้อยนิด แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้พยากรณ์ถึงการเกิดฝนดาวตกที่หาชมได้ยาก เนื่องจากมีปริมาณสะเก็ดดาวมากถึง 1,000 ดวง สว่างไสวบนท้องฟ้า โดยบริเวณที่เกิดฝนดาวตกนั้น อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวยูนิคอร์น และยังเป็นที่มาของฝนดาวตกในครั้งนี้อีกด้วย

 

สะเก็ดดาวตกนั้นเกิดจากฝุ่นที่มาจากดาวหาง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางจะหลุดเข้ามาในวงโคจรของโลกเป็นครั้งคราว โดยที่ยิ่งเข้าใกล้วงโคจรมากเท่าใด สะเก็ดดาวก็จะยิ่งมากเท่านั้น

ภาพ : Shutterstock

 

การชนกันของหลุมดำขนาดยักษ์

ในเดือนกันยายน นาซา (NASA) ได้เผยแพร่ภาพจากกล้องโทรทรรศน์ Chandra X-ray Observatory และกล้องโทรทรรศน์ติดดาวเทียมตัวอื่น ๆ แสดงให้เห็นถึงการค้นพบระบบกาแลกซี SDSS J084905.51+111447.2 ความน่าพิศวงคือ กาแล็กซีดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวกันของกาแล็กซี 3 กาแล็กซี และแต่ละกาแล็กซีต่างก็มีหลุมดำที่มีมวลมหาศาลเป็นของตัวเองทั้งสิ้น หากมองไปยังเส้นขอบฟ้า เหตุการณ์ของหลุมดำทั้งสาม จะพบว่ามันกำลังกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่โดยรอบ รวมไปถึงหลุมดำทั้ง 3 เองก็กำลังฉีกทึ้งกันและกันจนเกิดเป็นฝุ่นและแก๊สกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ
 
ระบบกาแล็กซีดังกล่าว อยู่ห่างออกไปจากโลกราว 1 พันล้านปีแสง  หรือกล่าวได้ว่า นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 1 พันล้านปีที่ผ่านมาแล้ว เป็นข้อความจากอดีตที่ส่งผ่านมา และมีประโยชน์ในการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับจักรวาลได้เป็นอย่างดีต่อไป

ภาพ : Shutterstock

 

ลูกไฟปริศนาตกจากท้องฟ้าที่ชิลีและจีน

เหตุการณ์เกิดขึ้นวันที่ 25 กันยายน เมื่อลูกไฟประหลาดพุ่งมาจากท้องฟ้า ก่อนจะตกลงในพื้นที่ถึง 7 แห่งในประเทศชิลี โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า อาจเป็นอุกกาบาตหรือเศษขยะอวกาศที่ตกลงมาจากจรวดหรือดาวเทียม หลังจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการตรวจสอบ กลับไม่พบร่องรอยใด ๆ ของอุกกาบาตเลย ส่วนความเป็นไปได้ที่จะเป็นขยะอวกาศนั้น ก็ได้รับการยืนยันจากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics หรือ CfA) ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีขยะอวกาศใด ๆ เข้าข่ายที่จะตกลงมาได้เลย ในขณะที่เรื่องนี้ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้นั้น 1 เดือนถัดมาก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกันในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนเช่นกัน โดยคราวนี้ลูกไฟได้ทำให้ท้องฟ้ายามค่ำคืนสุกสว่างราวกับเวลากลางวันเลยทีเดียว

 

เรื่องราวมากมายที่ยังคงเป็นปริศนาอยู่ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับดวงดาวและจักรวาล ปริศนาจากมุมหนึ่งในกาแล็กซีอันไกลโพ้นอาจให้คำตอบต่อคำถามที่เกิดขึ้นกับกาแล็กซีของเราในอนาคตข้างหน้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น ปี 2020 ยังคงเป็นปีที่น่าติดตามความก้าวหน้าของความรู้ ความลึกลับ และความงดงามที่ซ่อนอยู่ในท้องฟ้าเบื้องบนอยู่เช่นเคย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow