Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อลูกต้องเลือกทางเดินของชีวิต Part 2

Posted By Plook Parenting | 28 พ.ย. 62
4,276 Views

  Favorite

วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเริ่มต้นในการเลือกทางเดินของชีวิตตนเอง

 

ในทางพัฒนาการของวัยรุ่นแล้ววัยนี้ถือเป็นวัยที่มีการสร้าง อัตลักษณ์ (Self-Identity)

 

อัตลักษณ์คืออะไร ?

อัตลักษณ์ คือ การเข้าถึงหรือได้มาซึ่งวุฒิภาวะทางด้านตัวตน บุคคลมีความรู้ความเข้าใจตัวตนของตนเอง เด็กรู้ว่าเขาทำ มี เป็นอะไรในปัจจุบัน และรู้ว่าเขาจะทำ จะมีและจะเป็นอะไรในอนาคต ใช้ชีวิตแบบใด อยู่ในสังคมอย่างไรจึงจะเหมาะสม อาจเรียกได้ว่าอัตลักษณ์คือ เอกลักษณ์ด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัย บุคลิกภาพ ความสามารถทางสติปัญญา การประกอบอาชีพ ทัศนคติ ความเชื่อ มาตรฐานและค่านิยมที่คนเรามี เช่น อัตลักษณ์ด้านความสามารถทางการเรียนก็คือ เรามองว่าเราเรียนดีวิชาอะไรบ้างหรือเราเก่งอะไร จะเห็นได้ว่าแต่ละคนจะมีเอกลักษณ์ด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันและมีระดับที่แตกต่างไป และมันก็คือภาพรวมที่สร้างให้เกิดความโดดเด่นในแต่ละบุคคล

วัยรุ่นจึงต้องพยายามหาอัตลักษณ์ของตนเองที่เป็นที่ยอมรับของสังคม และในขณะเดียวกันเอกลักษณ์นั้นก็ทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าตนมีความโดดเด่นและแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ อัตลักษณ์ที่เด่น ๆ ในช่วงวัยรุ่นเห็นจะไม่พ้นไปจากความเก่งด้านการเรียนและอาชีพที่จะทำในอนาคต

ทั้งนี้ในทางจิตวทยามีนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงด้านพัฒนาการด้านอัตลักษณ์ท่านหนึ่งคือ เจมส์ มาร์เซีย (James Marcia, 1980) ได้เสนอแนวคิดว่าการที่บุคคลจะพัฒนาอัตลักษณ์ได้จะต้องมีองค์ประกอบของการพัฒนาอัตลักษณ์ 2 องค์ประกอบด้วยกัน คือ การเข้าถึงหรือทำได้ (Commitment) และวิกฤติหรือปัญหา (Crisis)

 

เด็กวัยรุ่นเป็นช่วงที่ต้องผ่านประสบการณ์มากมาย บางอย่างพวกเขาทำได้สำเร็จ บางครั้งพวกเขาก็ล้มเหลว ความล้มเหลวทำให้พวกเขาเผชิญกับวิกฤติหรือปัญหาที่ทำให้เขาต้องมาทบทวนความสามารถ ศักยภาพ ความชอบ ความถนัดและความเป็นไปได้ของอนาคตที่เขาจะเป็น จากนั้นมาร์เซียจึงนำกระบวนการทั้งสองรูปแบบมาจัดเป็นสถานะทางอัตลักษณ์ได้ 4 สถานะ ได้แก่

1. ความสับสนทางอัตลักษณ์ (Identity diffusion)

สถานะทางอัตลักษณ์ที่บุคคลยังไม่เคยตั้งคำถามหรือเจอวิกฤติในตัวเอง และไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าตนจะป็นคนเช่นไร ทำอาชีพอะไร ชอบอะไรบ้าง บุคคลจะสับสนในอัตลักษณ์ของตนเอง

2. การยึดเอาอัตลักษณ์ (Foreclosure)

สถานะทางอัตลักษณ์ที่เกิดจากบุคคลเข้าถึงสิ่งที่ตนคิดว่าต้องการและความคิดในอุดมคติ แต่บุคคลไม่เคยผ่านการตั้งคำถามหรือผ่านวิกฤติอะไรบางอย่าง อาจทำให้วัยรุ่นยังไม่สามารถเข้าถึงตัวตนและอัตลักษณ์ที่แท้จริง

3. การเฟ้นหาอัตลักษณ์ (Moratorium)

สถานะทางอัตลักษณ์ที่บุคคลกำลังเผชิญกับวิกฤติหรือการตั้งคำถาม บุคคลอยู่ในช่วงการสร้างทางเลือกที่อยากทำ มี และเป็น แต่เขายังไม่สามารถเลือกทางเลือกและเข้าถึงอัตลักษณ์ได้

4. การได้มาซึ่งอัตลักษณ์ (Identity Achievement)

สถานะทางอัตลักษณ์ที่บุคคลสามารถเข้าถึงอัตลักษณ์ของตนเองได้ ประสบความสำเร็จในการหาตัวตนของตนเอง บุคคลเคยเผชิญวิกฤติและตั้งคำถามเกี่ยวกับตนเอง พยายามข้ามผ่านวิกฤติต่าง ๆ ไปได้

 

เมื่อวิเคราะห์ระบบการเรียนการสอนของประเทศไทยก็จะพบว่า วัยรุ่นมีความจำเป็นที่ค่อนข้างเร่งด่วนในการสร้างอัตลักษณ์ทางการเรียนและอาชีพ เพราะเมื่อเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ต้องมานั่งเครียดกันแล้วว่าจะเรียนสายสามัญหรือสายอาชีพ ไม่พอต้องมาเลือกว่าจะเรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์อีกด้วย

แต่เมื่อมองสภาพแห่งความเป็นจริงก็กลับพบว่าวัยรุ่นไทยหลายคนก็ยังหาตัวเองไม่พบและยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วตนต้องการอะไร ตนอยากเรียนอะไร อยากทำอาชีพอะไรในอนาคต เห็นได้จากตัวอย่างที่ยกมาในช่วงแรก ซึ่งจากการศึกษาในอดีตก็พบว่าเด็กวัยรุ่นอายุช่วงอายุ 12-18 ปีจะมีสถานะทางอัตลักษณ์เป็นแบบความสับสนด้านอัตลักษณ์ (Identity diffuse) และการยึดเอาอัตลักษณ์ (Foreclose) จนกว่าพวกเขาอายุ 21 ปีขึ้นไปจึงจะมีอัตลักษณ์เป็นแบบการเฟ้นหาอัตลักษณ์ (Moratorium) หรือ การได้มาซึ่งอัตลักษณ์ (Identity achievement)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการค้นหาตัวเองและการหาอัตลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่ยากและต้องใช้เวลา มีการศึกษาวิจัยทางจิตวิทยาหลายงานที่พบว่าวัยรุ่นที่ไม่สามารถเข้าถึงอัตลักษณ์จะเกิดปัญหาทางพฤติกรรมและสุขภาพจิต วัยรุ่นบางคนมีอาการวิตกกังวลหรือมีอาการซึมเศร้า รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า บางคนอาจมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น วัยรุ่นบางคนอาจรู้สึกว่าตนเองเป็นแกะดำของสังคม ทำตัวแปลกแยกจางสังคม และอาจไปเข้าร่วมในกลุ่มที่เป็นเด็กที่ปัญหาทางพฤติกรรมเช่นเดียวกัน

 

เป็นเพราะอะไร ? วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับจากเพื่อน ครอบครัว ครูและสังคม จะสังเกตได้ว่าวัยรุ่นพยายามค้นหาตัวเองทั้งในด้านความเก่ง ความถนัด ความสามารถ และบุคลิกภาพที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ การยอมรับทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีความภาคภูมิใจในตัวเองและมีความมั่นใจในทุกย่างก้าวของชีวิต...

 

 

อ. ดร.สุภลัคน์ ลวดลาย
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow