Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เล่นขีดเขียน...ให้อะไร ที่หน้าจอให้ไม่ได้

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 27 ก.ย. 62
11,395 Views

  Favorite

บทความนี้ เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องการใช้หน้าจอเลี้ยงลูกกันอีกครั้งหนึ่งค่ะ ครูพิมเคยเขียนถึงเรื่องการงดใช้หน้าจอก่อนวัย 2 ขวบมาบ่อยแล้ว แต่เชื่อว่า คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน อาจจะยังไม่เข้าใจว่า แล้วเด็กในวัยที่โตกว่านั้น ทำไมจึงยังควรจำกัดเวลาในการใช้หน้าจออยู่

 

วันนี้ครูพิมมีคำตอบมาให้แล้วค่ะ ว่าอะไรกันนะ ที่หน้าจอให้กับเด็ก ๆ ไม่ได้

 

ภาพ : Shutterstock

 

1. หน้าจอไม่ได้ช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อนิ้วมือ

เรื่องที่สำคัญที่สุดและไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือเรื่องการใช้กล้ามเนื้อนิ้วมืออย่างอิสระ หลากหลาย และครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ควรจะเป็นนั่นเองค่ะ การใช้นิ้วเพียงไม่กี่นิ้ว ทำงานในรูปแบบเดิมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน เช่น การจิ้ม การไถ การแช่ ทำให้เด็ก ๆ ไม่ได้ออกกำลังมืออย่างเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่นิ้วมือนั้น เป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ๆ เพราะนิ้วมือทั้ง 10 นั้น ประกอบด้วยเส้นประสาทจำนวนมากถึง 96 เส้น การเล่นโดยใช้นิ้วมือทั้ง 10 อย่างอิสระ จึงจำเป็นอย่างมากสำหรับการเตรียมความพร้อมในการใช้งานมือแบบหนัก ๆ (เช่นการเขียน) และการคิดสร้างสรรค์ในอนาคตนั่นเองค่ะ

2. หน้าจออาจหยุดยั้งจินตนาการ

อุปกรณ์เทคโนโลยีให้ความสะดวกสบายในการสร้างสรรค์ผลงาน แต่อาจะจะเป็นการหยุดยั้งจินตนาการของเด็ก ๆ ได้ เพราะหลาย ๆ ครั้ง โปรแกรมต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบมา อาจจะมีลักษณะที่สำเร็จรูปมากจนเกินไป จนทำให้เด็ก ๆ ไม่ได้ใช้จินตนาการของตนเองมากเท่าที่ควร แน่นอนค่ะว่า ในส่วนของข้อดี ก็คือการทำให้เด็ก ๆ ได้ถ่ายทอดจินตนาการของตนเองออกมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ได้ง่ายขึ้น แต่ความง่ายนั้น ทำให้กระบวนการที่ละเอียดอ่อน อาจจะถูกลดทอนลงไปด้วยนั่นเองค่ะ

3. เด็ก ๆ ไม่ได้จับต้องของจริง หรือลงมือทำด้วยตัวเอง

สิ่งที่ได้จากการลงมือทำด้วยของจริง วัสดุจริง ก็คือ การกระตุ้นประสาทสัมผัสให้กับเด็ก ๆ แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน จะพยายามสร้างสรรค์ความรู้สึก มิติของแสงสี ความหนักเบาของเส้นให้มีความใกล้เคียงกับของจริงมากขึ้น แต่ข้อจำกัดในส่วนของความเสมือนจริงก็ยังมีอยู่มากค่ะ การขีดเขียน ระบายสีด้วยวัสดุที่หลากหลาย เช่น สีไม้ สีเทียน สีชอล์ก สีน้ำ ฯลฯ ที่ไม่ได้กระตุ้นเพียงประสาทสัมผัสทางมือเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสายตาที่มองเห็นความแตกต่างของเนื้อสีแต่ละประเภท และยังรวมถึงการได้ใช้เชาว์ปัญญาในการเลือกใช้ประเภทของสีที่เหมาะกับชิ้นงานหรือความต้องการของเด็ก ๆ อีกด้วย

4. เด็ก ๆ ไม่รู้จักการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

การลงมือทำจริง ทำให้เด็กๆ เรียนรู้การแก้รู้จัก แก้ไข ด้วยวิธีการที่ไม่ง่ายจนเกินไป เมื่อเขียนผิดหรือมีจุดที่อยากแก้ไข ก็ต้องลบ การลบต้องเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ใด จะกดปุ่มถังขยะหรือย้อนกลับแบบในหน้าจอได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เด็ก ๆ มีความรอบคอบในการทำงาน และรู้จักยับยั้งชั่งใจมากขึ้นนั่นเองค่ะ

 

สิ่งเหล่านี้ เป็นเพียงประโยชน์ส่วนหนึ่งเท่านั้น ของการให้เวลาเด็ก ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานผ่านสื่อที่เป็นของจริง โดยส่วนตัวแล้ว ครูพิมไม่ได้แอนตี้หรือขัดขวางการใช้เทคโนโลยีของเด็กสมัยนี้แต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม การคำนึงถึงพัฒนาการเด็ก และประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งต่าง ๆ ก่อนเราจะหยิบยื่นให้ลูก ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ควรจะตระหนักถึงเสมอ เพราะพัฒนาการทางร่ายกาย ยังคงมีหลายส่วนที่ไม่อาจแทนที่ได้ด้วยเทคโนโลยีค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow