Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เคมีบำบัดคืออะไร ทำไมจึงรักษาโรคมะเร็งได้

Posted By Plook Etc | 10 ก.ย. 62
12,027 Views

  Favorite

ทำความเข้าใจให้มากขึ้นกับเคมีบำบัด คืออะไร ? และทำไมจึงรักษาโรคมะเร็งได้ ?

 

โรคมะเร็ง พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะพบในคนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ส่วนในวัยเด็กพบน้อยกว่าในผู้ใหญ่ประมาณ 10 เท่า โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อย 10 ลำดับ ได้แก่ โรคมะเร็งตับ ปอด ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง เม็ดเลือดขาว กระเพาะปัสสาวะ ช่องปาก กระเพาะอาหาร และหลอดอาหาร ซึ่งมะเร็งคือเซลล์ที่มีการแบ่งตัวและเจริญอย่างควบคุมไม่ได้ และมีพฤติกรรมรุกรานแบบร้าย ได้แก่ การรุกรานเนื้อเยื่อข้างเคียง และการแพร่กระจาย เป็นต้น  สาเหตุของการมีพฤติกรรมเช่นนี้เกิดจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม แล้วเคมีบำบัดคืออะไร ? ทำไมจึงรักษาโรคมะเร็งได้ ? ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ได้ให้ข้อมูลเป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้ 

 

 

เคมีบำบัด มีคุณสมบัติฆ่าเซลล์มะเร็งหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีทั้งรูปแบบยารับประทาน และยาฉีดเข้าสู่กระแสเลือด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งจะเป็นผู้เลือกยาตามโรค และระยะของโรค เพื่อให้ได้ผลดีต่อผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกัน โดยวัตถุประสงค์การให้เคมีบำบัด คือ

1. รักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคมะเร็งและไม่กลับมาเป็นซ้ำ

2. ควบคุมโรคให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงหรือไม่โตขึ้น และไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น

3. บรรเทาอาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

4. ช่วยให้การรักษาควบคู่กับวิธีอื่น ๆ ได้ผลดียิ่งขึ้น เช่น รังสีรักษา หรือการผ่าตัด

 

 

ทั้งนี้ ก็ยังมีคำถามมากมายว่า เคมีบำบัด มีผลข้างเคียงหรือไม่ ? เคมีบำบัดแทบทุกชนิดจะก่อให้เกิดภาวะข้างเคียงต่าง ๆ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สาเหตุเกิดจากเคมีบำบัดจะไปทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติของร่างกาย ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเช่น คลื่นไส้อาเจียน ความอยากอาหารลดลง ผมร่วง ชาปลายมือปลายเท้า ภาวะเม็ดเลือดต่ำ เป็นต้น อาจมีอาการขณะกำลังได้รับยาเคมีบำบัดหรือภายหลังจากได้รับยา ซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดของยาและภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรแจ้งผลข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นให้กับแพทย์ผู้รักษาทราบทุกครั้ง เพื่อปรับขนาดของยาให้เหมาะสม

ซึ่งการประเมินก่อนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนั้น ผู้ป่วยจะต้องผ่านการประเมินโรค สภาพร่างกาย และได้รับการตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาที่ดีที่สุดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วยและญาติ เพื่อพร้อมที่จะเข้ารับการรักษา โดยแพทย์และพยาบาลจะประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายผู้ป่วย โดยการตรวจเลือดเพื่อดูความเพียงพอของเม็ดเลือดและผลเลือดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคและยาสูตรที่ผู้ป่วยจะได้รับ อีกทั้งต้องชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเพื่อการคำนวณปริมาณยา ทำการตรวจร่างกายและค้นหาภาวะข้างเคียง เพื่อการป้องกันและจัดการ โดยที่แพทย์จะต้องอธิบายถึงแผนการรักษาและให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะข้างเคียงของการรักษาให้แก่ผู้ป่วย 

 

 

การให้บริการเคมีบำบัดโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่มีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญในการให้เคมีบำบัดเป็นผู้ดูแลตามมาตรฐานการพยาบาล ผสมยาในห้องปลอดเชื้อโดยเภสัชกรที่มีความชำนาญ ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง รวมถึงการรักษาโรคมะเร็งแบบออกฤทธิ์แบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) โดยให้ยาหรือสารไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้ การรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัดนั้น ถึงแม้ว่าจะมีผลข้างเคียง แต่ถ้าแลกมาด้วยโอกาสในการหายจากโรคมะเร็งได้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่า โดยผู้ป่วยจะต้องมีกำลังใจที่ดีและมีทัศนคติที่ดีในการรักษา เพื่อต่อสู้กับโรคร้าย พร้อม ๆ กับกำลังใจที่ดีจากครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยอย่างดีเยี่ยมในการต่อสู้กับโรคมะเร็งให้ประสบความสำเร็จ

 

 

หากมีข้อสงสัยสามารถขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ) โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ 1 และ 2 (จังหวัดนครสวรรค์) โรงพยาบาลพิษณุเวช (จังหวัดพิษณุโลก) โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ (จังหวัดอุตรดิตถ์) โรงพยาบาลสหเวช (จังหวัดพิจิตร) และโรงพยาบาลศิริเวชลำพูน (จังหวัดลำพูน) และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ www.princhealth.com

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Etc
  • 4 Followers
  • Follow