Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

SPF และ PA ในครีมกันแดด คืออะไร

Posted By Amki Green | 25 มี.ค. 63
7,233 Views

  Favorite

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน หากเราต้องการจะเลือกซื้อครีมกันแดด หลายคนอาจจะเคยเห็นตัวอักษร SPF หรือ PA บนผลิตภัณฑ์กันใช่ไหมคะ สงสัยกันหรือไม่ว่าตัวอักษรเหล่านี้หมายถึงอะไร วันนี้เรามาไขคำตอบกันค่ะ

 

SPF และ PA ทั้งสองตัวนี้มีความแตกต่างกันแต่เราจะเห็นว่าครีมกันแดดขวดหนึ่ง มีทั้ง SPF และ PA แต่ก่อนอื่นที่เราจะมารู้ความหมายเกี่ยวกับสองตัวนี้ เรามารู้จักรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งมากับแสงแดดกันก่อน

 

ชนิดของรังสีอัลตราไวโอเลต

รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet : UV) เป็นรังสีที่สามารถทำลายชั้นผิวหนังของมนุษย์ได้ รังสีอัลตราไวโอเลตประกอบด้วย 3 รังสีหลัก ๆ คือ UVA (Ultraviolet A), UVB (Ultraviolet B) และ UVC (Ultraviolet C) รังสีแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ซึ่งรังสี UVC เราจะไม่ค่อยได้ยินกันเท่าไรนัก เนื่องจากเป็นรังสีที่อยู่บริเวณชั้นโอโซน รังสีชนิดนี้เป็นรังสีที่อันตรายมากที่สุด แต่โชคดีที่รังสีนี้มาไม่ถึงยังพื้นโลก ส่วนรังสีที่เราได้ยินกันบ่อย คือ รังสี UVA และ UVB ซึ่งทั้งสองรังสีนี้จะมาถึงยังพื้นโลก

ภาพ : Shutterstock

 

ทั้งรังสี UVA และ UVB เป็นรังสีที่ทำลายเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง ทั้งสองรังสีนี้มีลักษณะต่างกัน ดังนี้
1. UVA รังสีนี้เป็นรังสีที่มีอยู่มากและถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เนื่องจากรังสีนี้สามารถทะลุเมฆได้ นอกจากนั้นยังทะลุสิ่งกีดขวางอื่น ๆ เช่น กระจกรถยนต์ เสื้อผ้า เป็นต้น สามารถทะลุทะลวงลึกเข้าสู่ชั้นไขมันของผิวหนัง เป็นสาเหตุของการที่ผิวหนังเกิดริ้วรอย ผิวอ่อนแอ จุดด่างดำและรอยแดงได้ ซึ่งก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังตามมา

2. UVB เป็นรังสีที่อันตรายน้อยกว่า UVA โดยรังสี UVB ไม่ได้มีแค่อันตรายเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์เช่นกัน รังสีนี้มีหน้าที่ในการสร้างวิตามิน D ให้แก่ผิวหนังมนุษย์ เราจะพบรังสีนี้ในช่วงฤดูร้อนและวันที่มีแสงแดด รังสีนี้จะทำลายผิวแค่ผิวหนังชั้นนอก หรือผิวหนังกำพร้าเท่านั้น แต่ก็ทำให้ผิวหนังอ่อนแอ เกิดรอยไหม้และเกิดความหมองคล้ำได้ ถึงอย่างไรก็ตาม UVB ก็ยังคงเป็นอันตรายต่อผิวหนังและทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน

ภาพ : Shutterstock

 

มารู้จักค่า SPF กัน

ค่า SPF คือ ความสามารถของครีมกันแดดที่สามารถป้องกันรังสี UVB ที่ก่อให้เกิดผิวไหม้แดงได้ (Sun Protection Factor) ค่า SPF จะป้องกันรังสี UVB เท่านั้น เมื่อเราทาครีมกันแดดที่มี SPF ตัวเลข SPF จะแสดงถึงระยะเวลากี่เท่าที่สามารถปกป้องผิวหนังเราได้ เช่น หากเราตากแดดเป็นระยะเวลา 10 นาทีและผิวเริ่มไหม้แดง นั้นหมายความว่า ผิวของเราสามารถทนแดดได้ 10 นาที

ภาพ : Shutterstock

 

ระยะเวลาของการป้องกันขึ้นอยู่กับค่า SPF ที่เราทา เช่น หากเราทาครีมกันแดด SPF 20 หมายความว่า ครีมกันแดดนี้สามารถปกป้องแสงแดดได้ 20 เท่า ผิวเราจะทนแดดได้นานขึ้นกว่าปกติ คือ  10x20 = 200 นาที หรือประมาณ 3 ชั่วโมง นั่นเอง ดังนั้นยิ่งเราใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มาก ยิ่งเพิ่มระยะเวลาการป้องกันแสงแดดจากการไหม้มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพผิวหนังของแต่ละบุคคล บางคนหากใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เนื่องจากยิ่งค่า SPF มาก ยิ่งมีการใส่สารเคมีที่มากขึ้น

ภาพ : Shutterstock


ค่า PA คืออะไร

ค่า PA (Protection grade of UVA) เป็นค่าที่ใช้ป้องกันรังสี UVA โดยค่าการป้องกัน UVA มี 3 ระดับ ดังนี้
1. PA+          มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA น้อย
2. PA++        มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ปานกลาง
3. PA+++      มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูง
จะสังเกตได้ว่ายิ่งผลิตภัณฑ์ใดมี PA+ มากเท่าไร ยิ่งแสดงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ได้มากขึ้นเท่านั้น

 

ดังนั้นหากจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดจะต้องดูความเหมาะสมของกิจกรรมที่เราออกแสงแดดและสภาพผิว  เช่น หากเราจะต้องทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการออกแดดเป็นเวลานาน อย่างการว่ายน้ำ เล่นกระดานโต้คลื่น เป็นต้น เราก็ควรเลือกครีมกันแดดที่สามารถป้องกันน้ำได้ (Water-Proof) หรือหากต้องการครีมกันแดดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อปกป้องเหงื่อและน้ำฝน ควรเลือกครีมกันแดดแบบ Water–resistant และควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดประมาณ 30 นาทีและควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันแสงแดดสูงสุดละป้องกันการถูกทำลายของเซลล์ผิวหนังอีกด้วย

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ทำไมสัตว์ไม่ต้องทาครีมกันแดด
- เราแพ้แดดได้ด้วยหรือ
- ทำไมครีมกันแดดจึงสำคัญต่อตัวคุณ
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow