Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

4 เรื่องที่ควรสอนเด็กอนุบาลเกี่ยวกับ การสร้างเพื่อน

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 30 ก.ค. 62
10,665 Views

  Favorite

เมื่อก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนแล้ว สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักจะเป็นห่วงลูกน้อยของเรา นอกจากเรื่องการปรับตัวในโรงเรียนและเรื่องการเรียน ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของเพื่อน ๆ ใช่ไหมล่ะคะ

 

ครูพิมเองก็ได้ยินคำปรารภจากพ่อ ๆ แม่ ๆ อยู่บ่อยครั้ง ว่ากลัวลูกจะไม่มีเพื่อน จะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ บ้างกลัวจะไปแกล้งคนอื่น บ้างก็กลัวคนอื่นจะมาแกล้งลูก เรียกว่า แค่เรื่องเพื่อนเรื่องเดียว ก็เป็นกังวลกันไม่น้อยแล้ว

 

ภาพ : Shutterstock

 

บทความในวันนี้ ครูพิมจึงอยากมาชวนคุณพ่อคุณแม่ ให้เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ ด้วยการ “สอนลูก ๆ สร้างเพื่อน” นั่นเองค่ะ เพราะแม้ว่าเด็ก ๆ วัยอนุบาล จะอยากมีเพื่อนอยู่แล้วตามธรรมชาติของวัย แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะเข้าใจในเรื่องของการมีเพื่อน เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องมีการสอนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและการแสดงออกที่เหมาะสมนั่นเองค่ะ

 

1. เพื่อนกันก็ทะเลาะกันได้

“เราไม่เล่นกับเธอแล้ว” “เธอไม่ใช่เพื่อนเราแล้ว” หนึ่งในปัญหาโลกแตกของเด็ก ๆ คือการเลิกเป็นเพื่อน เพราะคิดว่าถ้ามีการทะเลาะเบาะแว้งเกิดขึ้นแล้ว คงจะเป็นเพื่อนกันอีกไม่ได้ ในเรื่องนี้ เราสามารถบอกให้เด็ก ๆ รู้ได้นะคะว่า บางครั้งเราอาจจะโกรธเพื่อน หรือเพื่อนอาจจะโกรธเราได้เหมือนกัน แต่ความโกรธนั้นจะหายไปได้ เราสามารถที่จะหยุดเล่นด้วยกันชั่วคราวได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องเลิกเป็นเพื่อนกัน

2. เพื่อนของเราก็เป็นเพื่อนของคนอื่นเช่นกัน

“วาวาเค้าไม่เล่นกับหนูแล้ว วันนี้เค้าไปเล่นกับน้ำใสแทนหนู หนูไม่ได้เป็นเพื่อนวาวาแล้วเหรอคะ” อีกหนึ่งเรื่องที่เราควรสอนให้เด็ก ๆ รู้ คือ เพื่อนของเรา ก็สามารถเป็นเพื่อนของคนอื่นได้เช่นกัน และเราไม่จำเป็นต้องโกรธที่ในวันนั้น หรือ เวลานั้น เพื่อนเลือกที่จะเล่นกับคนอื่น เพราะเราเองก็สามารถที่จะไปเล่นกับเพื่อนคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน

3. เพื่อนกันไม่จำเป็นต้องเล่นด้วยกันตลอดเวลา

“ทำไมน้องต่อไม่เล่นรถกับเรา เราจะเล่นรถ น้องต่อต้องเล่นรถกับเราสิ” อีกหนึ่งความหงุดหงิดใจของเด็ก ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเพื่อนรักไม่ยอมเล่นของเล่นที่เขาอยากเล่น หรือไม่ยอมเล่นด้วยกันกับเขา ในเรื่องนี้ เราก็สามารถสอนเด็ก ๆ ได้เช่นกันค่ะ ว่าเพื่อน ๆ เองก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจว่าเขาอยากเล่นหรือไม่อยากเล่นอะไร หากเราและเพื่อนไม่ได้อยากเล่นในสิ่งเดียวกัน เราอาจจะดูว่า จะเล่นกับเพื่อนแบบที่เพื่อนเล่น หรือจะเล่นเองคนเดียว หรืออาจจะลองชวนเพื่อนคนอื่น ๆ เล่นก็ได้ วิธีการนี้เป็นการฝึกให้เด็ก ๆ ไม่ยึดติด และรู้จักมีความคิดยืดหยุ่นนั่นเองค่ะ

4. เพื่อนกันไม่ทำร้ายกัน

ข้อนี้นับว่าเป็นอีกข้อหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ข้ออื่น ๆ เพราะปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนนั้น พบได้ตั้งแต่วัยอนุบาลเลยทีเดียวค่ะ นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่เราควรสอนกฎเหล่านี้ให้กับเด็ก ๆ ทุกคน ก่อนที่จะสอนเรื่องวิชาการให้เขาเสียด้วยซ้ำ เด็ก ๆ ควรรู้จักการยับยั้งชั่งใจ และรู้ว่าควรแสดงออกอย่างไรเมื่อไม่พอใจ หรือโกรธเพื่อน โดยที่ไม่เกิดการทำร้ายหรือทำให้ใครบาดเจ็บค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow