Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยุงลายเป็นพาหะไข้เลือดออกได้อย่างไร

Posted By Amki Green | 24 ก.ย. 62
10,036 Views

  Favorite

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง ในหลายปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเชื้อนั้นมากับยุงลาย เมื่อยุงลายที่มีเชื้อโรคไข้เลือดออกมากัด ก็ทำให้ผู้ที่ถูกกัดป่วยได้ แต่ทำไมยุงลายจึงเป็นพาหะของไข้เลือดออกได้ วันนี้เราจะมารู้ไปพร้อมกันค่ะ

 

ความเสี่ยงในการติดโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มมากขึ้นตั้งแต่ปี 1940 อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของการเดินทาง การเติบโตของจำนวนประชากร และการอยู่กันอย่างสังคมเมือง การขาดสุขอนามัย ความไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและกำจัดยุง ขาดการเฝ้าระวังและการรายงานเมื่อพบผู้ป่วยไข้เลือดออก

 

ไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก และตะวันออกกลาง ในปัจจุบัน ประมาณ 40% ของประชากรที่อาศัยอยู่ในทั่วภูมิภาคของโลกมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (สาเหตุของโรคไข้เลือดออก) และเนื่องจากมีประชากรจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออก จึงทำให้โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นในหลาย ๆ ที่ นั่นหมายความว่า มันมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำและพบผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกบ่อยครั้ง โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นมากกว่า 100 ประเทศในแอฟริกา อเมริกา เอเชีย แคริบเบียนและแปซิฟิก

 

เพราะเหตุใดโรคไข้เลือดออกจึงมีการกระจายไปอย่างมากมายเช่นนี้?

 

โรคไข้เลือดออกสามารถส่งผ่านไปสู่คนได้โดยการกัดของยุงที่ติดเชื้อเดงกี่ มียุงเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกได้ แล้วพาหะคืออะไร? พาหะคือสิ่งที่นำพาและส่งผ่านโรคไปสู่สิ่งมีชีวิตที่เป็นโฮสต์ พาหะอาจเป็นสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่สามารถทำหน้าที่ในการแพร่กระจายเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ พาหะส่วนใหญ่มักเป็นสัตว์ประเภทที่มีข้อ ปล้อง (Arthropods) เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีโครงร่างแข็งภายนอก เรียกว่า Exoskeleton สัตว์ประเภทที่มีข้อ ปล้องนี้ จะรวมไปถึงยุง เห็บ เหา แมลงวัน และหมัด ก็สามารถทำหน้าที่เป็นพาหะของโรคต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่าง เห็บเป็นพาหะของโรคไลม์ (Lyme disease) หรือยุงบางชนิดสามารถเป็นพาหะของโรคไข้เหลือง มาลาเรียได้อีกด้วย

 

เมื่อยุงกัดคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่ในเลือด ยุงจะได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่เข้าสู่ร่างกาย จากนั้นไวรัสจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ระบบทางเดินอาหาร ช่องท้อง หลอดลม เนื้อเยื่อบริเวณหัวและต่อมน้ำลายของยุง หลังจากนั้นยุงก็จะสามารถแพร่เชื้อไวรัสนี้สู่คนต่อไป โรคไข้เลือดออกไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้โดยตรง ดังนั้น ยุงจึงเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยให้โรคไข้เลือดออกสามารถแพร่กระจายได้

ภาพ : Shutterstock

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ยุงทุกชนิดที่สามารถเป็นพาหะของไข้เลือดออกได้ เชื้อเดงกี่สามารถติดเชื้อได้เฉพาะกับยุงในสกุล (Genus) Aedes เท่านั้น  ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Aedes aegypti โดยยุงสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์หลักที่เป็นตัวการในการทำให้เกิดการส่งต่อและแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออก ส่วนยุงสายพันธุ์อื่น ๆ ในสกุล Aedes ได้แก่ Aedes albopictus,  Aedes polynesiensis และ Aedes scutellaris จะมีความสามารถจำกัดในการเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก

 

Aedes aegypti เป็นยุงที่มีขนาดเล็ก สีดำ โดยเอกลักษณ์ของยุงสายพันธุ์นี้คือ จะมีแถบสีขาวที่ขาและมีเกล็ดสีขาว - เงิน อยู่บริเวณลำตัว ซึ่งทำให้ดูเหมือนพิณ (เครี่องดนตรีชนิดหนึ่ง) ส่วนใหญ่เรามักพบยุงสายพันธุ์ Aedes aegypti ในเขตร้อนและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมักอยู่ระหว่างละติจูดที่ 35°N และ 35°S ในที่ที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 10 °C ถึงแม้ว่ายุงบางตัวจะสามารถเดินทางได้ไกล ไม่ว่าจะเป็นทางเหนือหรือทางใต้ของละติจูดเหล่านี้ แต่ยุงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาพอากาศหนาว เนื่องจาก Aedes aegypti ต้องอยู่ในสภาพอากาศที่อุ่นเท่านั้น จึงจะทำให้พวกมันสามารถทำงานได้ นอกจากนี้พวกมันไม่สามารถอาศัยอยู่ในที่ที่สูงกว่า 1,000 เมตรได้ เพราะบริเวณนั้นมีอากาศหนาวเกินไปสำหรับร่างกายของพวกมัน ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้ว่ายุงเหล่านี้จะอาศัยบริเวณที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยของมนุษย์และฟักไข่ออกมา

 

เมื่อ Aedes aegypti ดูดเลือดจากคนที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี่ ส่งผลให้ยุงตัวนั้นมีเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่ในตัว และจะกลายเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกทันที เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายของยุง ไวรัสจะแพร่กระจายไปทั่วทั้งร่าง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8-12 วัน หลังจากนั้นยุงที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่กระจายอยู่ทั่วร่างกายก็จะสามารถส่งผ่านเชื้อไวรัสดังกล่าวไปสู่คนโดยการกัด ส่งผลให้บุคคลนั้นได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่เข้าสู่ร่างกายโดยทันที

ภาพ : Shutterstock

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนคงทราบเหตุผลแล้วว่า เพราะเหตุใดยุงจึงเป็นพาหะของโรคไข้เลือด หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ แล้วเจอกันใหม่บทความหน้าค่ะ

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- แอนติบอดีชนิดใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบอาจจะเป็นทางออกในการจัดการไวรัสซิกาและไวรัสเด็งกี่
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow