Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เที่ยววัดบวรฯ ชมพระอารามแสนงามในวันพักผ่อน

Posted By ไกด์เตยหอม | 15 ก.ค. 62
40,956 Views

  Favorite

นอกจากวัดพระแก้วอันสำคัญยิ่ง ด้วยเป็นวัดในวัง เมืองไทยเรานี้ก็ยังมีวัดสวยทรงคุณค่าอีกมากมายให้ไปเที่ยวชมและเรียนรู้กัน ดังเช่นวัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามธรรมยุตแห่งแรก ที่เคยมีเจ้าอาวาสเป็นถึงสมเด็จเจ้าฟ้า และเป็นจุดกำเนิดของมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยอีกด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

วัดบวรฯ หรือชื่อเต็มคือ วัดบวรนิเวศวิหาร นั้น คำว่า “บวรนิเวศ” คือ ที่อยู่ของวังหน้า ซึ่งหมายถึงพระมหาอุปราช นั่นเอง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะรัตนโกสินทร์ สร้างโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพฯ เรียกกันว่า “วัดใหม่” ต่อมาวัดสร้างเสร็จ สมเด็จฯ วังหน้าพระองค์นั้นเสด็จสวรรคตแล้ว ล้นเกล้าฯ ร.3 ก็ทรงอาราธนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามกุฎสมมติวงศ์ พระวชิรญาณมหาเถร (ต่อมาคือล้นเกล้าฯ ร.4) มาเป็นเจ้าอาวาส และไม่ได้ทรงตั้งวังหน้าอีกเลย  

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อเดินเข้าประตูเสี้ยวกางฝั่งถนนพระสุเมรุหน้าพระอุโบสถ จะเห็นทวารบาลหน้าตาแบบจีนแต่แต่งกายอย่างขุนศึกไทย ใส่ชฎาด้วย คาดว่าน่าจะมาจากคำว่า “โส่ว เกิง(守更)” แปลว่าการอยู่ยามในเวลากลางคืน ข้างบนมีดาวเพดานอย่างไทยกับโคมฝรั่งที่ประดับเครื่องแขวนไทยเป็นระย้าลงมา เพียงก้าวเท้าเข้ามาเราก็ได้เห็นถึงการเปิดกว้างรับเอาความงดงามทางศิลปะอันหลากหลายมาผสมผสานกันอย่างลงตัวในวัดแห่งนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ข้างในระหว่างประตูหน้าและประตูในมีประติมากรรมนักรบจีนปิดทองตั้งอยู่ จะเห็นตรงปากเป็นรอยปื้นสีดำ ๆ เพราะแต่ก่อนนี้มีชาวบ้านเล่าลือกันว่ามีชาวจีนติดฝิ่นคนหนึ่งมาลงแดงตายอยู่หน้าวัด ทางวัดจึงช่วยทำพิธีศพให้ ก็เลยมาเข้าฝันว่าจะมาช่วยเฝ้าประตูวัดให้ แล้วผู้คนก็มาลองขอพรกัน ปรากฎว่ามีคนได้สมปรารถนาเลยเอาฝิ่นหรือของที่มีสีดำ ๆ มาป้ายปากเป็นการตอบแทน (แก้บน)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มองมาทางด้านหน้าพระอุโบสถตรงกลางเป็นพระแท่นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกผนวช จะเห็นความเป็นไทยในรูปแบบของศิลปะการแกะไม้ปิดทองตามกรอบประตูหน้าต่าง แต่มีลายดอกพุดตานอิทธิพลศิลปะจีน ซึ่งไทยเราได้แรงบันดาลใจมาจากลายดอกโบตั๋น หรือสำเนียงจีนกลางคือ หมู่ตัน(牡丹)รวมถึงกลิ่นอายศิลปะตะวันตกจากเสาหินอ่อนด้านหน้าที่เซาะร่องเป็นเส้น ๆ รอบเสา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในพระอุโบสถมีซุ้มประดับพระมหามงกุฎ ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย 2 องค์ ในสุดคือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต/หลวงพ่อเพชร) ซึ่งชะลอมาจากเพชรบุรี เมืองสำคัญสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระพักตร์เหลี่ยมกว่า พระโอษฐ์หนากว่า พระศก (ผม) ขนาดเล็กกว่าพระพุทธชินสีห์ที่อยู่ด้านหน้า ซึ่งสร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราชและพระศรีศาสดา มีพุทธศิลป์แบบสุโขทัยตอนปลาย อัญเชิญมาจาก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก และในฐานพระเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารล้นเกล้าฯ ร.6 และ ร.9

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เสาไล่สีเข้มไปอ่อนเช่นเดียวกับที่ วัดปทุมวนาราม แต่ดอกไม้ที่นี่เป็นดอกพุดตานไม่ใช่ดอกบัว และต้นเสาจะมีภาพ ฉฬาภิชาติ หรือบุคคล 6 ประเภทด้วย ตั้งแต่เสาสีดำซึ่งมีภาพคนไปจับปลาล่าสัตว์ ฯลฯ เสาสีเขียวก็ได้แก่ภาพการนำคนที่ถูกกล่าวหาไปพิจารณาคดีก่อน เป็นต้น คือมีความยุติธรรมมากขึ้น ยิ่งใกล้พระก็ยิ่งสว่างคือยิ่งดีงาม ส่วนภาพระหว่างช่องหน้าต่างเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวไทยพุทธ เทศกาลงานประเพณี และขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างในภาพล่างนี้คือชาวบ้านไปทำบุญที่วัด  

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จะเห็นว่าในภาพการให้แสงเงา และมีระยะใกล้-ไกล เป็นจิตรกรรมแบบเปอร์สเปคทีฟ (Perspective) ยุคแรก ๆ ของไทยเลยค่ะ ผลงานของท่านขรัวอินโข่ง ภิกษุเป็นศิลปินดังในสมัยนั้น ส่วนด้านบนเหนือหน้าต่างต้องแหงนคอกันหน่อย แต่งดงามแปลกตามาก ๆ ด้วยภาพปริศนาธรรมที่ตัวละครในภาพแต่งกายอย่างตะวันตก ยืนกันอยู่หน้าวังอาบน้ำและประดับเครื่องประดับให้เจ้าชาย เปรียบได้กับพระพุทธเจ้าที่ทรงให้พระธรรมดุจเครื่องทำให้สะอาดและเครื่องประดับให้งาม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนในภาพล่างนี้จะเห็นได้ว่าใบเสมาที่นี่ไม่ได้อยู่ในซุ้มใบเสมาอย่างวัดอื่น ๆ ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว แต่ฝังติดอยู่กับผนังพระอุโบสถ ตรงบัวหัวเสาที่เห็นลิบมีลายใบไม้อย่างวิหารฝรั่งด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อเดินมาทางประตูวัดฝั่งถนนบวรนิเวศน์ก็จะเห็นศาลาประดิษฐานพระพุทธบาทคู่ สลักจากหินขนาดใหญ่ ที่ฐานมีจารึกภาษามคธอักษรขอมเล่าว่าแผ่นหินนี้นำมาตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 3 แต่สลักตามแบบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏในลังกาทวีปในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 4 แห่งสุโขทัย ถือเป็นศิลาจารึกหลักที่ 12 

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ใกล้ ๆ กันมีห้องน้ำและป้ายบอกทางสำหรับผู้มาสักการะพระไพรีพินาศ พระศรีศาสดา พระไสยา หลวงพ่อดำ และพระสรีรางคารของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ก่อน ซึ่งสถิตอยู่ที่วัดนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากทางเดินจะเห็นยอดปรางค์มุมพระเจดีย์ ซึ่งมีกลิ่นอายศิลปะเขมร และหลังคากระเบื้องแบบจีน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

มีภาพไซอิ๋วด้วย ซี่งเป็นวรรณกรรมจีนเล่าเรื่องราวการเดินทางไปนำพระไตรปิฎกจากชมพูทวีปกลับไปยังแผ่นดินจีนของพระถังซัมจั๋ง หรือสำเนียงจีนกลางคือ เสวียนจั้ง(玄奘) พร้อมศิษย์ทั้งสามคือ ซึงหงอคง หรือ ซุนอู้คง (孫悟空)ตือโป๊ยก่าย หรือ จูปาเจี้ย (猪八戒) และซัวเจ๋ง  หรือ ซาเซิง(沙僧)

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างด้านซ้ายสุดที่ถูกต้นไม้บังอยู่คือวิหารเก๋ง ถัดมาตรงกลางเป็นวิหารพระศรีศาสดา และขวาสุดคือ โพธิฆระ หรืออาคารที่สร้างล้อมรอบต้นโพ ซึ่งต้นนี้ไม่ใช่โพธรรมดา ต้องเรียกว่า "โพธิ" (อ่านว่า โพด) เพราะล้นเกล้าฯ ร.4 ทรงได้เมล็ดมาจากพุทธคยา ซึ่งเป็นต้นลูกหลานของต้นพระศรีมหาโพธิในสมัยพุทธกาล เมื่อทรงเพาะเป็นต้นขึ้นก็พระราชทานมาปลูกไว้ที่นี่จนครบอายุขัยแล้วก็ตายลงไป ต้นปัจจุบันที่เห็นอยู่นี้มาจากหน่อกล้าที่เกิดอยู่ใต้ต้นเดิมในสมัย ร.9

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาทีฆายุมหมงคล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อดำ” เพราะเดิมเป็นพระพุทธรูปลงรักสีดำยังไม่ได้ปิดทองเหมือนทุกวันนี้ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในวโรกาส ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ผู้ทรงสืบสายวงศ์มาจากพระวชิรญาณมหาเถรซึ่งเป็นพระนามของล้นเกล้าฯ ร.4 ครั้งยังทรงพระผนวชอยู่

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเราจะไปชมวิหารพระศรีศาสดากัน ซึ่งภายในมีพระประธานคือพระศรีศาสดาที่อัญเชิญมาจากพิษณุโลกเช่นเดียวกับพระพุทธชินสีห์ และบนผนังก็มีภาพจิตรกรรมเล่าถึงตำนานการพระพุทธรูป 3 องค์ คือ พระพุทธชินราช (องค์จริงยังคงประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก องค์จำลอง ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ ) พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ที่สร้างขึ้นพร้อมกัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ห้องด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระไสยา ตอนปรินิพพาน คือหลับพระเนตร ต่างจากที่วัดโพ ซึ่งลืมพระเนตร นั่นเป็นตอนโปรดอสุรินทราหู และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ซึ่งผู้วาดได้วาดฉากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแบบเปอร์สเปคทีฟ โดยไม่วาดพระพุทธเจ้า วาดแต่พระสาวก แล้วให้พระพุทธรูปแทนภาพพระพุทธเจ้า ซึ่งเราจะรู้สึกอินเสมือนกำลังอยู่ในเหตุการณ์มากขึ้น ทำให้นึกถึงเทคโนโลยี AR ในปัจจุบันเลยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากความสร้างสรรค์อย่างไฮ-เทคแบบเก๋ ๆ เรื่องผสมผสานประติมากรรม + จิตรกรรมในการถ่ายทอดเรื่องราวแล้ว ที่ประตูก็สะท้อนเรื่องราวสมัย ร.3 – ร.4 ซึ่งเป็นยุคที่มีการติดต่อกับต่างประเทศมากมาย แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นลายจีน แล้วก็รูปชาวต่างชาติทั้งผิวขาว ผิวคล้ำ แต่ยังมีลายรดน้ำลงรักปิดทองแบบไทยอยู่ด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างจะเห็นวิหารเก๋งซึ่งอยู่บนฐานไพทีเดียวกับวิหารพระศาสดา แต่มีขนาดย่อมกว่า และมีลักษณะเหมือนเก๋งจีนจริง ๆ ไม่ได้เป็นแบบลูกผสมที่มีเสาพาไลกับใบระกาอย่างวิหารพระศาสดา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้านหลังหมู่วิหารทั้งสองนี้เป็นหอระฆังดังภาพล่าง ซึ่งใกล้ ๆ กันมีต้นจันที่ล้นเกล้าฯ ร.9 ทรงปลูกไว้เมื่อ พ.ศ. 2526 ด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาก็จะเป็นอีกด้านหนึ่งของพระเจดีย์ทรงระฆังลักษณะใกล้เคียงกับพระศรีรัตนเจดีย์ในวัดพระแก้ว ซึ่งภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนซุ้มตรงกลางด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปล้นเกล้าฯ ร.4

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

รอบ ๆ พระเจดีย์มีเทวรูปตามคติพราหมณ์ มีรูปสัตว์อยู่ทั้ง 4 ทิศ สื่อถึงดินแดนรอบ ๆ สยามประเทศในขณะนั้น ม้า = พม่า, นก = โยนก, ช้าง = ล้านช้าง และสิงห์ = สิงคโปร์  รวมทั้งมีเก๋งประดิษฐานพระไพรีพินาศด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกมาจะเป็นอีกด้านหนึ่งของพระอุโบสถ ซึ่งเดิมเป็นพลับพลาที่ประทับในงานพระเมรุอยู่ริมกำแพงนอกวัด ต่อมาล้นเกล้าฯ ร.5 โปรดให้ย้ายมาปลูกภายในกำแพงวัด ด้านขวาของภาพล่างนี้จะเห็นประตูกั้นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ซึ่งเมื่อก้าวพ้นประตูนี้ไปจะเป็นพื้นนี้เขตสังฆาวาสที่พระสงฆ์จำพรรษาอยู่

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หมู่อาคารแรกที่เห็นคือหมู่ตำหนัก ในภาพล่างทางซ้ายสีขาวเขียว คือ ตำหนักจันทร์ ซึ่งล้นเกล้าฯ ร.5 โปรดฯ ให้สร้างถวายเป็นที่ประทับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระราชโอรสของพระวชิรญาณมหาเถร ซึ่งต่อมาคือ ล้นเกล้าฯ ร.4) โดยทรงอุทิศจากพระราชทานทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฏจันทร์ พระราชธิดาผู้สิ้นพระชนม์ไป และพระราชทานนามนี้มาเป็นนามของตำหนัก

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ตรงใต้ต้นไม้ใหญ่กลางลานเห็นเป็นเก้าอี้หินนั้นคือ พระแท่นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ส่วนในด้านขวาสีเหลืองคือตำหนักเพ็ชร ซึ่งล้นเกล้าฯ ร.6 โปรดฯ ให้สร้างถวายพระองค์ท่านเป็นท้องพระโรง ในบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งโรงพิมพ์บทสวดมนต์และหนังสือพุทธศาสนาที่ล้นเกล้าฯ ร.4 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งทรงครองวัดนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนจะเห็นพลับพลาขนาดกะทัดรัด คือ พลับพลาสมเด็จพระศรีสุริเยนทราฯ พระบรมราชชนนีใน ล้นเกล้าฯ ร.4 ซึ่งเคยปลูกอยู่ในสวนพระราชวังเดิม เมื่อสวรรคตแล้วตั้งแต่สมัย ร.3 (พ.ศ. 2379) จึงถูกรื้อมาปลูกที่วัดนี้ โดยเดิมอยู่ริมคูด้านหน้าออกถนนพระสุเมรุ ต่อมาจึงย้ายมาที่นี่ ใช้เป็นที่สอนภาษาบาลีเมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้ต่อจากพระวชิรญาณมหาเถร ซึ่งต้องทรงลาสิกขาบทเพื่อเสด็จขึ้นครองราชย์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ใกล้ ๆ กับตำหนักจันทร์ ชิดมาทางริมรั้วในภาพบนนี้ จะเห็นอาคาร 3 ชั้น เหมือนตึกฝรั่ง แต่หลังคาประดับกระเบื้องอย่างจีน แล้วก็มีใบระกาอย่างไทยประดับพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของล้นเกล้าฯ ร.4 อาคารนี้คือ พระปั้นหย่า ซึ่งสร้างสมัย ร.2 ที่สวนขวาในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาล้นเกล้าฯ ร.3 โปรดฯ ให้รื้อมาสร้างที่วัดนี้ถวายเป็นที่ประทับของล้นเกล้าฯ ร.4 เมื่อครั้งทรงพระผนวช และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อ ๆ มาที่เสด็จออกผนวช ณ พระอารามแห่งนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนคืออาณาบริเวณของคณะตำหนัก โดยอาคารหลังขวาคือพระตำหนักทรงพรต สร้างสมัย ร.5 ต่อมาล้นเกล้าฯ ร.7 ทรงโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์และดัดแปลงขึ้นใหม่เป็นเรือนยาวมีระเบียงมุขหน้าอย่างที่เห็นในปัจจุบันถวายวัด เพื่อทรงอุทิศเป็นพระราชกุศลถวายล้นเกล้าฯ ร.4 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาจึงเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเจ้าฟ้าที่เสด็จออกผนวชหลังจากประทับที่พระปั้นหย่า 1 คืนแล้ว ส่วนด้านซ้ายที่ตรงข้ามกันคือหอสหจร

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนนี้เป็นชานชั้นล่างอีกด้านหนึ่งของหอสหจร ซึ่งใช้เป็นที่จำวัดของผู้บวชโดยเสด็จพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ปัจจุบันมีประชาชนมาติดต่อบูชาพระไพรีพินาศ พระภปร กันที่นี่ด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

อาคารยาวสีฟ้า ๆ ในภาพบน คือ พระตำหนักซ้าย สร้างในสมัย ร.5 เดิมเป็นที่ประทับทรงงานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในคูน้ำ จะเห็นมีกังหันน้ำชัยพัฒนา ซึ่งเมื่อล้นเกล้าฯ ร.9 ทรงประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ๆ พระราชทานมาทดลองใช้ที่คูน้ำวัดบวรฯ ด้วย RX-2 ตรงฐานคือชื่อรุ่น ย่อมาจาก Royal Experiment แบบที่ 2 เราจะเห็นว่ามีลักษณะเป็นเหมือนถังวักน้ำ แต่มีรู ๆ ข้างใต้ ขณะหมุนน้ำก็ถูกตักขึ้นและไหลลงมาเป็นสายเล็ก ๆ หลายสาย พื้นที่ผิวมากขึ้น ออกซิเจนจะละลายน้ำได้มากขึ้น ขณะตกลงไปก็เกิดเป็นฟองคือมีการอัดอากาศลงไปในน้ำด้วย จึงบำบัดน้ำเสียได้ โดยไม่ต้องใช้ไฟมาก ยิ่งหากเป็นแหล่งน้ำไหล อาจใช้พลังน้ำไหลแทนได้เลยด้วยซ้ำ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เดินต่อมาเรื่อย ๆ จะมาถึงอาคารมนุษยนาควิทยาทาน ลักษณะคล้าย ๆ โบสถ์ฝรั่ง ล้นเกล้าฯ ร.6 โปรดให้สร้างขึ้น อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้ทรงมีพระนามเดิมคือ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 9.00 – 15.00 น.

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพบนเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาบาลีด้วยการถ่ายภาพกับป้ายภาษาบาลีที่มีคำแปลภาษาไทย โถงกลางชั้นล่างเปิดโล่งเห็นเพดานและระเบียงชั้น 2 มีซุ้มตรงกลางด้านบนประดิษฐานพระรูปหล่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ด้านล่างเป็นโต๊ะหมู่ประดิษฐานพระรูปหล่อครึ่งพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จออกผนวช และก็มีม้านั่งยาว ๆ ทำให้นึกถึงอาสนวิหารอัสสัมชัญเลยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อขึ้นบันไดด้านข้างมาสู่ชั้นบนจะเป็นนิทรรศกาลเกี่ยวกับเจ้าอาวาส เริ่มจากล้นเกล้าฯ ร.4

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ที่ผนังมีคำอวยพรในรูปแบบของอักษรอริยกะที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้พิมพ์ภาษาบาลีได้ง่ายขึ้น โดยทรงดัดแปลงจากอักษรโรมันที่ชาวตะวันตกนิยมใช้ เพื่อให้เข้ากับเครื่องพิมพ์ที่ชาวตะวันตกคิดค้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และมีเครื่องใช้ต่าง ๆ ของพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทดลองความดันอากาศหน้าตาคล้ายกระดิ่งในแผนที่ดาว และตะบันไฟ (ที่จุดไฟโบราณ คือเอาเชื้อไฟอาจเป็นขุยต้นเต่าร้างหรือปุยนุ่นแห้ง ๆ คลุกดินประสิวใส่ตรงปลายแล้วตบเข้าในบ้องแรง ๆ พอเอาออกมาจะมีไฟติดตรงปลาย ส่วนด้านล่างนี้เป็นคำภีร์ลานงา (แผ่นงาช้าง) อักษรพม่า เรื่องอุปสมบทกรรม คือเกี่ยวกับการออกบวช

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จฯ วังหน้า ในรัชกาลที่ 2 คือทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องและศิษย์ของล้นเกล้าฯ ร.4 แต่ทรงเป็นพระอาจารย์ของล้นเกล้าฯ ร.5

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพล่างเป็นต้นฉบับพระนิพนธ์ เรื่อง ตำราแมว ภาษาบาลี อักษรขอม มีข้อความภาษาไทยแทรกเป็นตอน ๆ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พระองค์ถัดมา คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระโอรสของล้นเกล้าฯ ร.4 พระอนุชาของล้นเกล้าฯ ร.5 พระอาจารย์ของล้นเกล้าฯ ร.6 และ ร.7

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพล่างเป็นเครื่องพิมพ์ดีดอักษรไทยของพระองค์ท่าน ถือเป็นเครื่องแรก ๆ ในสยาม นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่าตำแหน่งแป้นอักษรต่าง ๆ จะต่างกับคีย์บอร์ดในปัจจุบันเรียกว่าที่เรียนพิมพ์สัมผัสมา ถ้าได้ย้อนเวลาไปใช้เครื่องนี้ก็ต้องจำตำแหน่งใหม่กันเลยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ตรงระเบียงมีพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ที่เสด็จออกผนวช ณ วัดบวรฯ ในภาพล่าง ด้านขวา คือล้นเกล้าฯ ร.5 ด้านซ้ายคือ ล้นเกล้าฯ ร.6

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาภาพล่างด้านขวานี้ คือล้นเกล้าฯ ร.7 ด้านซ้ายคือล้นเกล้าฯ ร.9 แม้แต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลปัจจุบัน (ร.10) ก็เสด็จออกผนวช ณ วัดบวรฯ เช่นกันค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นห้องนิทรรศการเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงพระราชปนัดดา (เหลน) ของล้นเกล้าฯ ร.4 และเป็นพระอาจารย์ของล้นเกล้าฯ ร.9

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ทั้งยังเป็นผู้ถวายพระนามล้นเกล้าฯ ร.10 อีกด้วยดังต้นร่างพระนามที่ทรงร่างไว้ในภาพล่าง ซึ่งต้องดูในลายพระหัตถ์ส่วนที่เป็นดินสอซึ่งน่าจะทรงแก้ไว้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังทรงมีความรู้และสนพระทัยด้านยาไทย จึงมีการนำชุดเครื่องยาไทยของพระองค์ในสมัยนั้นมาจัดแสดงด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ห้องถัดมาเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) เจ้าอาวาสลำดับที่ 5 และเป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยรูปแรก

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภายในมีการจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ที่เกี่ยวของกับท่านไม่ว่าจะเป็นสมุด บัตร พัดยศ รวมถึงภาพถ่ายสำคัญ เช่นภาพสมัยล้นเกล้าฯ ร.9 เสด็จออกผนวชที่นี่ เป็นต้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

สำหรับห้องสุดท้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราชและเจ้าอาวาสองค์ก่อน ซึ่งเป็นผู้ทรงริเริ่มการเผยแผ่พุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ ทรงประเดิมโดยสนับสนุนการสร้างวัดในยุโรปวัดแรก คือวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน วัดพุทธรังษี นครซิดนีย์ เป็นต้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพล่างนี้คือเครื่องบันทึกเสียงอย่างในสมัยก่อน ซึ่งพระองค์เคยทรงบันทึกเสียงรายการบริหารทางจิตจากบนพระตำหนักคอยท่า ปราโมช ออกอากาศผ่านสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ตามพระราชดำริของสมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากพิพิธภัณฑ์ออกนอกวัดมาก็จะเห็นประตูพระนครประตูเดียวที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันตั้งตระหง่านตรงอีกฟากของถนนให้ได้เก็บภาพเป็นที่ระลึกก่อนกลับด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

 “Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

อ้างอิง : ศิลปกรรมในประเทศไทย: ภูมิหลังทางปัญญา-รูปแบบทางศิลปกรรม โดย ศ. ดร. ม.ร.ว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์

แหล่งข้อมูล
http://www.watbowon.com/
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow