Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ย้อนอดีตย่านบางลำพูไปกับ พิพิธบางลำพู

Posted By ไกด์เตยหอม | 06 ก.ค. 62
8,008 Views

  Favorite

นิทรรศการชุมชนที่น่าสนใจบนพื้นที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอันยาวนานใกล้ ๆ กับถนนข้าวสารย่านยอดฮิตอันดับต้นๆ ในดวงใจนักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงเทพฯ จุดนัดพบอันทันสมัยเมื่อครั้งคุณลุงคุณป้ายังวัยสะรุ่น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จาก พิพิธภัณฑ์เหรียญฯ ที่ไปมาเมื่อคราวที่แล้ว เดินลัดเลาะมาทางป้อมพระสุเมรุริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกไม่ไกลก็จะถึง พิพิธบางลำพู นิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับย่านบางลำพูซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและเป็นจุดหมายปลายทางในคราวนี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ที่นี่เปิดให้เข้าชม ฟรี ! เช่นกันค่ะ ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. โดยนิทรรศการในชั้นที่ 2 ซึ่งเชื่อมต่อกับอาคารเรือนไม้อีกหลังหนึ่งจะมีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบ ๆ ทุก 30 นาที จนถึงรอบสุดท้ายเวลา 16.00 น. เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียรูปแบบต่าง ๆ ในการนำเสนอด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อลงทะเบียนเข้าชมที่เคาน์เตอร์ด้านหน้าเรียบร้อย ก็นำสัมภาระไปเก็บได้ฟรีที่ล็อกเกอร์หน้าห้องน้ำค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ระหว่างรอรอบเข้าชมนิทรรศการด้านบน ก็สามารถเดินดูนิทรรศการที่ชั้นล่างของตึกนี้ได้ตามอัธยาศัยค่ะ อย่างระเบียงในภาพล่างนี้เป็นการนำภาพถ่ายของที่ต่าง ๆ แถบบางลำพูในอดีตและปัจจุบันมาเทียบกันให้เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงผ่านห้วงกาลเวลาที่ผันไปตามยุคสมัยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ใกล้ ๆ กัน เป็นห้องเอกบรมองค์ราชินี จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ใน ล้นเกล้าฯ ร.9 ให้ข้อมูลพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระบรมฉายาลักษณ์ รวมทั้งเหรียญที่ระลึกสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ห้องถัดมาจากป้ายชื่อเหนือประตูทางเข้าในภาพล่าง คือ ห้องป้อมเขตขัณฑ์รัตนโกสินทร์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับป้อม กำแพงเมือง อย่างป้อมพระสุเมรุที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญแห่งหนึ่งของย่านนี้ รวมถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชผู้สร้างราชธานีแห่งนี้ และปกครองบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างด้านซ้ายจะเป็นจอฉายคลิปซึ่งเสมือนเราเจอกับคุณพนักงานซึ่งเป็นสาวชาววังในสมัย ร.4 – ร.5 ที่ตรงประตูพระนคร และฟังเธอเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกำแพง ป้อม และประตูเมืองในยุคนั้นกันค่ะ ส่วนทางขวาก็เป็นภาพประตูเมืองและข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ซึ่งจริง ๆ แล้ว เกาะรัตนโกสินทร์คือเขตพระนครดั้งเดิมของกรุงเทพฯ และก็มีป้อมและประตูมากมาย ไม่ใช่เพียงแค่ป้อมพระกาฬและป้อมพระสุเมรุที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่เนื่องจากการเติบโตของเมือง มีการตัดถนนและขยายพื้นที่ต่าง ๆ ป้อมและประตูบางส่วนจึงถูกรื้อไป อย่างตรงผนังกลางสุดปลายห้องในภาพล่างนี้เป็นภาพประตูสามยอด ซึ่งปัจจุบันเป็นแยกสามยอด ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกำลังจะเปิดในเร็ว ๆ นี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกมาอีกด้านก็จะเห็นกำแพงอิฐมากมายและเรื่องราวเกี่ยวกับอิฐที่เชื่อมโยงกับบ้านเมืองและสังคมของเรามาช้านาน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ตรงลูกศรในภาพล่างนี้มีช่องอย่างช่องบนกำแพงหรือป้อม พอขึ้นไปดูก็จะเห็นภาพเคลื่อนไหวจำลองวิถีชีวิตและความเป็นไปในอดีตที่จะมองเห็นได้จากป้อมนี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม
ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ตรงปลายทางมีโต๊ะลงชื่อเหมือนสมุดเยี่ยม ซึ่งเราสามารถพิมพ์ชื่อและความประทับใจลงบนจอ แล้วมันจะไปฉายบนกำแพงเมืองจำลอง เหมือนเราได้จารึกว่าเรามาถึงที่นี่แล้ว โดยไม่ต้องห่วงว่าจะสร้างความเสียหายให้โบราณสถานของจริงแต่อย่างได้ด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พอได้ยินเสียงประกาศถึงรอบเข้าชม เราก็ไปรวมตัวกันที่จุดประชาสัมพันธ์ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รอพาเราขึ้นไปด้านบนชมนิทรรศการส่วนแรก ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกรมธนารักษ์ หน่วยงานที่ดูแลพิพิธบางลำพูแห่งนี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เริ่มกันตั้งแต่ประวัติความเป็นมาและภารกิจต่าง ๆ  

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

โดยมีการใช้เทคโนโลยีสื่อประเภทต่าง ๆ ในการนำเสนอ เช่น ในภาพล่างเป็นเหมือนโรงหนังค่ะ เป็นการปูพื้นข้อมูลเกี่ยวกับกรมธนารักษ์ในเบื้องต้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ก่อนจะไปสู่ห้องถัดไป ซึ่งเล่าถึงรายละเอียดภารกิจต่าง ๆ ของกรมธนารักษ์มากขึ้น อย่างเช่น การผลิตเหรียญกษาปณ์ ซึ่งกรมฯ เป็นผู้รับผิดชอบมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นกรมกษาปณ์สิทธิการ มีโรงผลิตเหรียญในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งกลายเป็นพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้วในปัจจุบัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ยังมีสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินซึ่งมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ บูรณะ การเก็บรักษา และจัดแสดงเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินล้ำค่าของชาติในความดูแลด้วย อย่างในภาพล่างเป็นสิ่งที่ใช้ในการบูรณะซ่อมแซมงานโลหะมีค่าต่าง ๆ ได้แก่ ชัน เอาไว้รักษาประกอบชิ้นงาน เมล็ดคำแสดไว้ย้อม และทองคำเปลว เป็นต้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ด้านล่างมีการเทียบระหว่างเครื่องทองรูปพรรณที่ไม่ได้ย้อมคำแสด (เล่มบน) กับที่ย้อมแล้ว (เล่มล่าง) ซึ่งจะเห็นได้ว่าการย้อมผิวทองด้วยเมล็ดคำแสดจะทำให้ผิวทองดูแดงขึ้น และเห็นลวดลายชัดเจนขึ้นค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปัจจุบันก็มีวัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณภาพและมีความหลากหลายให้เลือกใช้ในงานอนุรักษ์เหล่านี้มากขึ้น

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้กรมธนารักษ์ยังเป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการที่ราชพัสดุ (อสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลไทย ที่ตั้งอยู่ภายในประเทศ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์) ต่าง ๆ ใน กทม. อีกด้วย ในภาพล่างเป็นโมเดลจำลองพื้นที่ย่านสุขุมวิท ซึ่งจะมีแสงไฟฉายแสดงบริเวณที่เป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของกรมธนารักษ์

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

นอกจากนี้ก็มีสำนักประเมินราคาทรัพย์สินที่เป็นผู้กำหนดราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งก็ได้แก่ บ้าน ที่ดิน ฯลฯ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างเป็นแผนที่และอุปกรณ์ในการประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งสำนักประเมินราคาทรัพย์สินก่อตั้งมาตั้งแต่ 30 – 40 ปีก่อนแล้ว

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

และก็มาถึงที่มาของพื้นที่พิพิธบางลำพูแห่งนี้ที่เคยเป็นโรงพิมพ์คุรุสภา โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ที่พิมพ์แบบเรียนตั้งแต่สมัย ร.7 และเคยเป็นพื้นที่ในเขตวังหน้าเมื่อต้นกรุงฯ อีกด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็ข้ามระเบียงทางเชื่อมมายังเรือนไม้อีกฟากค่ะ ระหว่างทางเราจะได้เห็นคลองบางลำพูซึ่งดูสะอาดสบายตาทีเดียว มีเรือนำนักท่องเที่ยวผ่านมาเป็นระยะด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ใกล้ ๆ กันมีต้นไกรต้นใหญ่ให้ร่มเงา เจ้าหน้าที่บอกว่าต้นนี้อยู่มานานมาก ๆ เลยละค่ะ โดยต้นไกรแม้จะคล้ายไทรแต่ก็ต่างตรงรากที่ไม่ได้ห้อยย้อยสยายเหมือนเส้นผม แต่ม้วนพันลำต้นดุจขดเชือกค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

เข้ามาในเรือนไม้ก็จะเป็นเรื่องราวของชุมชนบางลำพูล้วน ๆ เริ่มจากห้องแรกที่เหมือนชานบ้าน มีภาพแสงสีเสียงถ่ายทอดเรื่องราวให้เราได้ชมกัน ก่อนที่จะเข้าสู่ห้องถัดไปด้วยประตูกลที่ซ่อนไว้อย่างแนบเนียนค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ห้องถัดมานี้เหมือนเป็นชานระเบียงอีกแล้วค่ะ มีภาพฉายบนผนังและที่พื้นนอกชาน เหมือนเรามองออกไปยังทิวทัศน์ยามค่ำคืนของชุมชนริมคลองที่มีหิ่งห้อยด้วย สมกับเป็นถิ่นที่เคยมีต้นลำพูมากมาย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างเดิมเป็นคลอง ต่อมาก็ฉายเป็นภาพแผนที่ขุมทรัพย์บางลำพู ที่เหมือนโจทย์ให้ผู้เข้าชมไปตามหากันในโซนถัด ๆ ไปค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ออกจากระเบียงก็มาถึงห้องที่จัดไว้เหมือนย่านนี้เมื่อสมัยคุณลุงคุณป้ายังหนุ่ม ๆ สาว ๆ ชวนให้นึกถึงเรื่องคู่กรรมของยุคอังศุมาลินกับโกโบริเลยค่ะ มีรถรางด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แล้วก็ร้านรวงต่าง ๆ อย่างด้านในร้าน ต. เง๊กชวน ผู้จัดจำหน่ายแผ่นเสียงตรากระต่ายและห้องอัดแห่งแรก ๆ ที่โด่งดังในสมัยก่อน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างเป็นสะพานนรรัตน์สถานและคณะละครร้อง คณะนาครบรรเทิง ที่ผู้ตั้งคณะนี้เดิมเป็นนักแสดงในโรงละครปรีดาลัย โรงละครร้องแห่งแรกของไทย ซึ่งก่อตั้งโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ จะเห็นเด็กน้อยคนหนึ่งตรงกำแพงด้วย แต่ก่อนเด็ก ๆ ไม่มีสตางค์ก็เลยแอบดูอยู่ข้างนอกแบบนี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

จากนั้นก็ไปดูคลิปสั้น ๆ ตอนหนึ่งจากภาพยนตร์เรื่อง เงิน เงิน เงิน เป็นช่วงที่ร้องเพลงอารามบอย สะท้อนชีวิตเด็กชายในพระอาราม หรือ เด็กวัด ในสมัยนั้นนั่นเอง

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ก่อนจะเดินทะลุตรอกเล็ก ๆ ในภาพล่างนี้ไปยังโซนถัดไป

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ระหว่างทางก็จะมีร้านรวงแบบย้อนยุคให้ได้เข้าไปดู ไปถ่ายรูปกัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แล้วก็มาถึงโซนที่จัดแสดงเกี่ยวกับอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์และของดีย่านบางลำพู อย่างในภาพล่างคือข้าวต้มน้ำวุ้นขนมไทยโบราณ อิทธิพลจีนคล้าย ๆ ขนมจ้างแบบหวาน แต่ไทยเราทานกันโดยนำข้าวเหนียวนึ่งสามเหลี่ยมนี้ใส่ในน้ำเชื่อมเย็น ๆ แทน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ส่วนภาพล่างเป็นงานแทงหยวก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งของดีถิ่นนี้ที่ปัจจุบันแทบไม่เหลือแล้ว เพราะงานแทงหยวกเป็นงานที่ต้องทำกันเดี๋ยวนั้น ไม่มีการร่างแบบ หยวกจะได้สด ไม่ช้ำมาก และมักใช้ในงานศพในสมัยก่อน ซึ่งหยวกจะช่วยควบคุมไฟด้วยค่ะ ล่าสุดที่ใช้กันก็ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพล้นเกล้าฯ ร.9

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ภาพล่างนี้เป็นเรื่องราวของบ้านช่างตีทอง แหล่งผลิตทองคำเปลวชั้นยอดมาตั้งแต่สมัย ร.5 ใกล้ ๆ วัดบวรนิเวศวิหาร

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาก็เป็นร้านลานทองจำหน่ายสินค้าจากใบลาน ไม่ว่าจะเป็นสมุดใบลาน หมวก ฯลฯ มีเครื่องหีบใบลานให้ดูด้วย แล้วก็ร้านธงร้านแรกของไทย เนื่องจากแต่ก่อนชาวบ้านเย็บผ้าทำธงกันเอง กระทั่งมีร้านนี้ที่ผลิตธงสำเร็จรูปขึ้นมาขายเพื่อความสะดวกของลูกค้า

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นไทม์ไลน์เรื่องราวต่าง ๆ ตั้งแต่สมัย ร.1 และประวัติบุคคลที่มีชื่อเสียงในย่านนี้ค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แล้วก็ลำพูต้นสุดท้าย ณ สวนสันติชัยปราการที่ยืนต้นตายเมื่อคราวน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2554 ซึ่งประชาชนชาวบางลำพูได้เก็บกิ่งบางส่วนมาให้พิพิธบางลำพูนำมาประกอบกับต้นลำพูจำลองต้นนี้ ในบรรยากาศยามกลางคืน ประดับไฟคล้ายหิ่งห้อยเป็นเครื่องหมายความทรงจำแห่งย่านบางลำพู ที่เคยมีต้นลำพูและหิ่งห้อยมากมายในอดีต

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาเป็นห้องสุดท้าย ในส่วนนี้คือห้องพระซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธบางลำพูประชานาถ” ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงประทานให้ชาวบางลำพูเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว มีความหมายว่า “ที่พึ่งของชาวบางลำพู” ช่วงสงกรานต์จะมีการเชิญออกมาให้ประชาชนในแถบนี้ได้สรงน้ำกันด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

พอลงบันไดมาตรงใต้ถุนเรือนเห็นมีต้นแบบจักรยานน้ำบำบัดน้ำเสียด้วยกรมอู่ทหารเรือจอดอยู่ด้วย

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

แล้วก็มีห้องนิทรรศการหลากรสหลายชาติ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่พบได้ในย่านนี้

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ไม่ว่าจะเป็นโรตี ซาโมซ่า บาเยีย กรุ่นกลิ่นอายวัฒนธรรมอินเดีย ที่เพียงข้ามถนนหน้าพิพิธบางลำพูไปก็มีร้านอร่อยร้านดังให้รับประทาน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ถัดมาก็เป็นข้าวแช่ที่ได้รับอิทธิพลมอญ ซึ่งย่านบางลำพูนี้ก็มีชุมชนชาวมอญอาศัยอยู่ด้วย อย่างแถววัดชนะสงคราม

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หรืออาหารอิทธิพลตะวันตกที่มีส่วนผสมของไข่ไก่ รวมทั้งอาหารไทยที่นิยมใส่กะทิ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

หรือแม้แต่ขนมไหว้พระจันทร์แบบจีน ซึ่งก็มีการนำดินน้ำมันมาให้เด็ก ๆ ได้ลองปั้นก้อนขนมไหว้พระจันทร์กดใส่พิมพ์กันอย่างสนุกสนานด้วยค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ในภาพล่างนี้คือถนนลำพู ทางไปชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม คั่นอยู่ข้างพิพิธบางลำพูกับป้อมพระสุเมรุ ในสวนสันติชัยปราการค่ะ

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

ปิดท้ายกันด้วยภาพป้อมพระสุเมรุ 1 ใน 2 ป้อมสุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เหลืออยู่ตราบจนปัจจุบัน

 

ภาพ : ไกด์เตยหอม

 

 “Amazing ไทยเท่” ที่เที่ยวเก๋ ๆ ใกล้ตัว อย่าลืมมาชื่นชมกันนะคะ

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ไกด์เตยหอม
  • 3 Followers
  • Follow