Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไมโครพลาสติกที่พบในสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร

Posted By Amki Green | 25 ก.ย. 62
16,062 Views

  Favorite

ถ้าพูดถึงคำว่า พลาสติก หลายคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าพูดคำว่า ไมโครพลาสติก ล่ะ ทุกคนยังจะรู้จักกันอยู่หรือไม่ วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กัน

 

ไมโครพลาสติกเป็นพลาสติกขนาดเล็ก มีขนาดน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่มักจะถูกพบในธรรมชาติและนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไมโครพลาสติก มักถูกนำมาใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น ถุงหรือขวดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (ยาสีฟัน ผงซักฟอก) เครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งเสิ้อผ้าสังเคราะห์ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้จะนำไมโครพลาสติกไปสู่สิ่งแวดล้อมในรูปของของเสีย

 

ไมโครพลาสติกประกอบด้วยอะตอมธาตุคาร์บอน (C) และไฮโดรเจน (H) มาเชื่อมต่อกันกลายเป็นสายพอลิเมอร์ (Polymer) นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอื่น ๆ ด้วย เช่น phthalates, polybrominated diphenyl ethers (PBDEs) และ tetrabromobisphenol A (TBBPA)  สารพวกนี้มักจะถูกพบในไมโครพลาสติก โดยมักจะเกิดการรั่วไหลออกมาจากพลาสติกและเข้าสู่สิ่งแวดล้อมต่อไป

ภาพ : Shutterstick

 

ไมโครพลาสติกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
1. ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary Microplastic) ตัวอย่างของไมโครพลาสติกปฐมภูมิ ได้แก่ ไมโครบีดต์ ซึ่งมักพบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ เม็ดพลาสติกที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรม และเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยสังเคราะห์ (ไนลอน) ไมโครพลาสติกปฐมภูมิสามารถเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้หลายช่องทาง เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ถูกล้างออกจะเข้าไปสู่ระบบบำบัดน้ำเสียตามครัวเรือน หรือการซักเสื้อผ้าที่ทำมาจากเส้นใยสังเคราะห์ก็สามารถทำให้ไมโครพลาสติกปฐมภูมิสามารถเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
 
2.ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary Microplastic) เกิดจากการย่อยสลายของพลาสติกขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้มักเกิดจากการผุกร่อน การกัดเซาะของคลื่น การเสียดสีกับวัตถุ และได้รับรังสีอัลตร้าไวโอเลตจากแสงแดด ทำให้เกิดอนุภาคเล็ก ๆ ของไมโครพลาสติกหลุดออกมา

 

เนื่องจากไมโครพลาสติกไม่ใช่สิ่งที่สามารถย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติได้ ดังนั้น เมื่อไมโครพลาสติกเข้าไปอยู่ในธรรมชาติแล้ว ทั้งไมโครพลาสติกปฐมภูมิและทุติยภูมิจะเกิดการสะสมและคงอยู่ต่อไปในธรรมชาติ ไมโครพลาสติกมักถูกพบในธรรมชาติหลายแห่ง เช่น มหาสมุทร และระบบนิเวศน้ำจืด ซึ่งหากกล่าวถึงแค่ในมหาสมุทรเพียงอย่างเดียว ก็มีปริมาณพลาสติกอยู่ถึงประมาณ 4 ล้าน- 14 ล้านตัน ในศตรววษที่ 21 ทีเดียว

ภาพ Shutterstock

 

ไม่เพียงเท่านั้นไมโครพลาสติกยังเป็นต้นตอของมลพิษทางอากาศอีกด้วย ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นและอนุภาคเล็ก ๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศ ในปี 2018 ในน้ำทะเลและระบบนิเวศน้ำจืด ได้มีการตรวจพบไมโครพลาสติกในสัตว์น้ำมากกว่า 114 ชนิด ไมโครพลาสติกถูกพบในทางเดินอาหารของสัตว์ทะเลจำพวกมีเปลือกแข็งหุ้ม (crustaceans) เช่น ปู นอกจากนี้ปลาและนกก็มีแนวโน้มที่จะได้รับไมโครพลาสติกที่ลอยอยู่บนผิวน้ำเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร การได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายนั้น จะเป็นสาเหตุให้สัตว์ต่าง ๆ สามารถกินอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้ได้รับพลังงานในการดำเนินชีวิตน้อยลง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบประสาทและระบบสืบพันธุ์อีกด้วย

 

ไมโครพลาสติกถูกตรวจพบในน้ำดื่ม เบียร์ อาหารทะเล และเกลือบริโภค ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับไมโครพลาสติกต่อบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ต่างกัน พบว่า มีการตรวจพบไมโครพลาสติกในอุจจาระของผู้ทดสอบทุกคน ซึ่งผลกระทบต่อไมโครพลาสติกต่อสุขภาพของมนุษย์นั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัด

 

ดังที่ทุกคนคงทราบแล้วว่า พลาสติกมีอยู่ทุกที่ และจุดจบของพลาสติกเหล่านี้มักจะถูกโยนทิ้งลงสู่แม่น้ำและมหาสมุทร จากนั้นพลาสติกจะถูกย่อยให้เป็นอนุภาคเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก (Microplastic) และปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีพลาสติกอีกชนิดหนึ่งที่ถูกออกแบบให้มีขนาดเล็กมาก ๆ อีกเช่นกัน เราเรียกพลาสติกเหล่านี้ว่า ไมโครบีดต์ (Microbeads) ซึ่งไมโครบีดต์จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพและเครื่องสำอางเสียส่วนใหญ่ พลาสติกเหล่านี้จะไหลไปกับน้ำและเข้าสู่มหาสมุทรโดยไม่มีการเปลี่ยนรูป จากนั้นสัตว์ทะเลต่าง ๆ และนกจะมากินพลาสติกเข้าไป เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายของสัตว์โดยตรง

ภาพ : Shutterstock

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนคงตระหนักถึงปัญหาของพลาสติกกันบ้างแล้วนะคะ ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านทุกคนจะหันมาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมโดยวิธีการง่าย ๆ ก็คือ  reuse reduce recycle เพื่อให้สิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่กับเราไปนาน ๆ นะคะ

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ไมโครพลาสติก (Microplastics) คืออะไร
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow