Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เล่นกับลูก อย่างไรให้ฉลาดสมวัย (ตอนที่ 2 )

Posted By สุภาพรรณ ศรีสุข | 21 มิ.ย. 62
7,468 Views

  Favorite

การเล่น ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่าอย่างมากของเด็กทุกวัย ทั้งด้านสติปัญญาและความสัมพันธ์กับผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นกับลูกน้อยได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยไม่จําเป็นที่ลูกจะต้องมีของเล่นมากมาย เพราะคุณพ่อคุณแม่ถือเป็นของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก

 

วันนี้เราจึงจะมาพูดถึงการเล่นที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการตามวัยให้ลูกกันต่อนะคะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

ขั้นพัฒนาการ ‘การเล่น’ ของเด็กแต่ละวัย

ขั้นที่ 3 Spectator/Onlooker Behaviour (2 ปี)

เด็กในวัยตั้งแต่ 2 ปี จะเริ่มมีการสังเกตสิ่งรอบ ๆ ตัวว่า ใครทำอะไร ใครเล่นอะไร หรือเด็กคนอื่น ๆ เล่นอย่างไร เขาจะสนใจเลียนแบบการเล่นของเด็กวัยใกล้เคียงกับตนเองมากกว่าเลียนแบบการเล่นของเด็กที่วัยต่างกับเขามาก (อายุมากกว่าหรือน้อยกว่ามาก) เพราะในความเป็นจริงแล้ว เด็กวัยนี้เริ่มสนใจและให้ความสำคัญกับเพื่อนในวัยเดียวกันมากขึ้น แต่ยังไม่รู้วิธีว่าควรเข้าไปเล่นกับเพื่อนอย่างไร หรือจะชวนเพื่อนเล่นแบบไหน การเข้าไปเล่นกับเพื่อน จึงเป็นการใช้วิธีเลียนแบบในสิ่งที่เพื่อนทำอยู่ เพื่ออยากมีส่วนร่วมหรืออยากให้เพื่อนมามีส่วนร่วมกับตนเอง

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ส่งเสริมการเล่นของเด็กวัย 2 ปี คือ การที่พ่อแม่เล่นเป็นเด็ก  โดยเล่นไปเรื่อย ๆ ในแบบของเรา เช่น เล่นทำกับข้าว เล่นเป็นคุณหมอ ไม่ต้องออกคำสั่ง หรือบังคับให้ลูกทำตาม เพราะเขาจะสังเกตเอง และบันทึกจดจำไว้ เมื่อเขามีโอกาสไปเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกัน เขาจะนำวิธีการเล่นที่ได้เห็นจากพ่อแม่ไปใช้เล่นกับเพื่อน โดยพ่อแม่คอยเป็นผู้สังเกตการณ์ และดูแลความปลอดภัยอยู่ห่าง ๆ

ในวัยนี้เด็กจะเริ่มเดินหรือวิ่งได้คล่องมาก ชอบกระโดด หรือปีนป่ายไปทั่วบ้าน การเล่นที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้ก็คือ การต่อบล็อกตัวต่อเป็นชั้น ๆ ต่อรถไฟ เปิดหนังสือ เล่นขีดเส้นเป็นรูปต่าง ๆ เปิดเพลง เต้นตามเสียงเพลงและร้องตาม

ขั้นที่ 4 Parallel Play (2 ปีขึ้นไป)

เด็กในวัย 2 ปีขึ้นไป ถึงแม้จะเริ่มสนใจการเล่นกับเพื่อน แต่ยังคงชอบการเล่นคนเดียวเป็นหลัก เพราะจะยังยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง และชอบทำอะไรตามสิ่งที่ตนเองสนใจเป็นหลัก แต่ก็สามารถเล่นกับเพื่อนในวัยเดียวกันได้มากขึ้น เช่น เล่นทรายบ่อเดียวกัน แต่เล่นอุปกรณ์คนละอย่าง หรือเล่นในห้องเดียวกัน แต่ของเล่นคนละชิ้น สาเหตุเพราะเด็กในวัยนี้จะยังไม่รู้จักการแบ่งปัน หรือการผลัดกันเล่น ดังนั้นพ่อแม่ควรเตรียมอุปกรณ์การเล่นไว้ให้เพียงพอ ของเล่นของเด็กวัยนี้ คือ บ้านบอล เต้นท์ ชิงช้า เก้าอี้ ราวตากผ้า ลังกระดาษ เด็กวัยนี้สามารถเริ่มต่อจิกซอว์แบบง่ายได้แล้ว และเริ่มหัดปั่นจักรยาน 3 ล้อ ได้เอง

 

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ส่งเสริมการเล่นของเด็กวัย 2 ปีขึ้นไป คือ การให้เขาได้เล่นในสิ่งที่เขาสนใจ และสิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถช่วยปูพื้นฐานการเล่นในวัยนี้ได้ คือ การให้กติกาอย่างง่าย เช่น ไม่ทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นเจ็บตัว เล่นแล้วเก็บ ไม่ทำลายข้าวของ ซึ่งการปลูกฝังในเรื่องนี้จะช่วยปูพื้นฐานด้านสังคมให้ลูกได้ด้วยค่ะ

 

 

สุภาพรรณ ศรีสุข (ครูแหม่ม)
ที่ปรึกษาวิชาการ โรงเรียนศิลปพัฒนาการสมองเด็ก K.D.S.

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • สุภาพรรณ ศรีสุข
  • 4 Followers
  • Follow