Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นักจิตวิทยาแนะนำ ทำอย่างไรดี เมื่อลูกเริ่มที่จะโกหก

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 06 มิ.ย. 62
8,475 Views

  Favorite

ความกังวลอย่างหนึ่งของคุณพ่อคุณแม่ก็คือ เรื่องของ “พฤติกรรมโกหก” ของลูก ๆ นั่นเองค่ะ

 

เพราะการได้รับรู้ว่า ลูกตัวน้อยที่ใสซื่อของเรา เริ่มจะไม่พูดความจริง เริ่มใช้จินตนาการเพื่อจะหลอกหรือหวังผลอะไรบางอย่าง แวบแรกที่เกิดขึ้นในหัวของคุณพ่อคุณแม่อย่างเรา คงหนีไม่พ้นความรู้สึกเครียดและสับสน เพราะไม่รู้ว่า ทำไมลูกจึงพูดหรือทำพฤติกรรมโกหกแบบนี้

 

แต่ใจเย็น ๆ ก่อนค่ะคุณพ่อคุณแม่ที่รักคะ เพราะพฤติกรรมที่เราเรียกว่า การโกหกนั้น มักจะเกิดขึ้นในช่วงวัย 3 ปีขึ้นไป หรือในช่วงที่ทักษะทางภาษาเริ่มพัฒนาเต็มที่ ผสมผสานกับช่วงที่เด็ก ๆ เริ่มมีความคิดและจินตนาการกว้างไกล อาจจะเรียกได้ว่า พฤติกรรมนี้ เกิดขึ้นเป็นปกติตามช่วงวัยก็ว่าได้ค่ะ และพวกเขาก็รู้ดีด้วยว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้น เรียกว่า การโกหก

 

ภาพ : Shutterstock

 

แล้วเด็ก ๆ มักเริ่มโกหกด้วยเรื่องอะไร ?

การโกหกของเด็ก ๆ มักเริ่มด้วยเรื่องราวใกล้ตัว และมักไม่ได้มีเจตนาที่เลวร้ายอะไร เช่น

โกหกเรื่องราวเกินจริง เช่น เคยไปเที่ยวทะเลมาจริง แต่เรื่องราวและรายละเอียดที่เล่าให้คนอื่นฟังนั้น เพิ่มเติมเสริมแต่งเข้าไปตามที่เด็ก ๆ จินตนาการ หรืออยากให้เป็นเช่นนั้น หรือบางครั้ง ก็เล่าให้เกินจริงเพราะอยากจะบอกว่าตนเองก็มีประสบการณ์เหมือนที่คนอื่นเจอมาเช่นกัน

โกหกเรื่องกิจวัตรประจำวัน เช่น บอกว่าล้างมือแล้ว แต่จริง ๆ ยังไม่ได้ล้าง โกหกว่ากินข้าวอิ่มแล้ว แต่จริง ๆ คือห่วงเล่น อยากไปเล่นแล้วมากกว่า อะไรทำนองนี้ค่ะ

โกหกเพื่อปกปิดความผิด เช่น ไม่ได้ทำของพัง ไม่ได้ทำน้ำหก เป็นต้น

 

แล้วควรทำอย่างไรดี เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ ทำพฤติกรรมเหล่านี้จนเป็นนิสัย

ไม่ทำเป็นเรื่องใหญ่เกินเหตุ เมื่อเด็กเริ่มโกหก สิ่งแรกที่เราควรทำคือ สร้างบรรยากาศที่สงบ และพูดคุยกับลูกว่า เรารู้ว่าเขากำลังโกหก และอยากให้เขาพูดความจริง โดยแสดงเงื่อนไขว่า เราอยากฟัง และยอมรับในสิ่งที่เขาจะพูดค่ะ

ไม่โกหกเสียเอง ข้อนี้ต้องกาดอกจันท์หลาย ๆ ดอกเลยค่ะ เพราะหลาย ๆ ครั้งผู้ใหญ่ก็มักจะเผลอทำพฤติกรรมนี้เสียเองบ่อย ๆ โดยตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้าง แต่ต้องบอกเลยค่ะว่าเด็ก ๆ เขาก็รู้เหมือนกันนะ ว่าเราพูดจริงหรือโกหก

บอกให้รู้ว่า หากเด็กโกหกในเรื่องนั้น จะส่งผลไม่ดีต่อตัวเขาอย่างไร โดยพูดแบบกระชับ ได้ใจความ ไม่ต้องต่อความยาวสาวความยืด และที่สำคัญคือ เน้นแค่เฉพาะเรื่องที่เด็กโกหกเท่านั้นนะคะ ไม่ควรจะพูดแบบเหมารวมในทุก ๆ เรื่องค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow