Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมน้ำในแก้วจึงไม่ล้นเมื่อน้ำแข็งละลาย

Posted By Guide NT | 18 มิ.ย. 62
27,251 Views

  Favorite

เมื่อเราต้องการให้น้ำมีความเย็นมาก ๆ จึงเติมน้ำแข็งใส่ลงไปในแก้วน้ำที่มีน้ำอยู่แล้ว และเพื่อให้น้ำในแก้วเย็นเร็วขึ้น ปริมาณน้ำแข็งที่เติมลงในแก้วจึงมักจะมากเกินพอดีจนน้ำในแก้วล้นออกมา แต่เคยสังเกตกันหรือไม่ว่า เมื่อมีน้ำและน้ำแข็งอยู่เต็มแก้ว หลังจากน้ำแข็งในแก้วละลายหมดแล้ว ทำไมน้ำจึงไม่ล้นออกมานอกแก้ว

ภาพ : Shutterstock
ภาพ : Shutterstock

 

สาเหตุที่น้ำไม่ล้นออกมานอกแก้ว เนื่องจากน้ำแข็งมีความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าน้ำ ฉะนั้นน้ำแข็งจึงลอยขึ้นมา โดยเมื่อน้ำแข็งส่วนที่ลอยพ้นอยู่เหนือระดับน้ำละลายกลายเป็นน้ำแล้ว ปริมาตรของน้ำแข็งที่ละลายไปจะทดแทนปริมาตรของน้ำแข็งส่วนที่จมอยู่ใต้ระดับน้ำได้พอดี กล่าวคือ มวลทั้งหมดของวัตถุที่ลอยน้ำได้เท่ากับมวลของน้ำในส่วนที่เว้าหายไป ดังนั้น เมื่อน้ำแข็งในแก้วน้ำละลายจนหมดจะไม่ทำให้น้ำในแก้วล้นออกมา ส่วนน้ำที่เกาะอยู่ตามข้างแก้วเกิดขึ้นจากการควบแน่นของไอน้ำในอากาศที่อยู่รอบ ๆ แก้วน้ำ ซึ่งไม่มีผลต่อปริมาตรน้ำในแก้ว อย่างไรก็ตาม หากเป็นลักษณะของน้ำแข็งที่ละลายในน้ำเกลือ (น้ำทะเล) ปริมาตรของน้ำจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำเกลือมีความถ่วงจำเพาะสูงกว่าน้ำจืดนั่นเอง  

 

แต่ยังมีอีกหนึ่งกรณีเกี่ยวกับการขยายตัวของสสารเมื่อได้รับความร้อนเช่นเดียวกันกับน้ำ หากน้ำได้รับความร้อนและมีอุณหภูมิสูงขึ้น ปริมาตรของน้ำจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอนุภาคของน้ำที่ได้รับความร้อนจะเคลื่อนที่ได้มากขึ้น และระยะห่างระหว่างอนุภาคก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น มันจึงส่งผลให้ปริมาตรของน้ำมีมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น

 

ในส่วนของอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เราอาจจะเคยได้ยินว่า สิ่งนี้จะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้น และส่งผลต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น แต่สำหรับโลกของเราแล้วหากปริมาตรน้ำทะเลเพิ่มระดับสูงขึ้น มักจะเกิดจากการหลอมเหลวของน้ำแข็งที่อยู่บนบกเป็นส่วนใหญ่ เช่น การหลอมเหลวของธารน้ำแข็งเนื่องจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น หรือการหลอมเหลวของน้ำแข็งบนภูเขาสูง เป็นต้น ส่วนภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรอยู่แล้ว เมื่อน้ำแข็งเกิดการละลายอาจจะไม่ได้เพิ่มความสูงของระดับน้ำทะเลมากเท่ากับน้ำแข็งที่อยู่บนพื้นดิน

ภาพ : Shutterstock

 

หมายเหตุ
- การละลาย ใช้กับ สาร 2 ชนิดที่มีหนึ่งตัวเป็นตัวทำละลายและอีกหนึ่งตัวเป็นตัวถูกละลาย
- การหลอมเหลว ใช้กับ สาร 1 ชนิด ที่มีสถานะเป็นของแข็งแต่ได้รับความร้อนจนกลายเป็นของเหลว

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Guide NT
  • 2 Followers
  • Follow