Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความแตกต่างระหว่างขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้

Posted By Amki Green | 02 พ.ค. 62
57,447 Views

  Favorite

หากเราพูดถึงขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เราจะนึกถึงพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นและมีหิมะปกคลุมกันใช่ไหมคะ จริงๆแล้วขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้มีความแตกต่างกันค่ะ จะมีความแตกต่างกันอย่างไรนั้นตามมาดูกันเลยค่ะ

 

ขั้วโลกเหนือ มีชื่อเรียกว่า อาร์กติก (Arctic) ส่วนขั้วโลกใต้ มีชื่อเรียกว่า แอนตาร์กติก (Antarctica) ทั้งสองขั้วโลกแม้ว่าจะมีภูเขาน้ำแข็งและดูจะหนาวเย็นเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อยทีเดียว ได้แก่


1. สถานที่ตั้ง

ขั้วโลกเหนือ หรือที่เรียกว่าอาร์กติก (Arctic) เป็นแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดิน แผ่นน้ำแข็งมีความหนาประมาณ 1-3 เมตรที่ลอยอยู่เหนือมหาสมุทรอาร์กติก แผ่นน้ำแข็งเหล่านี้เกิดจากน้ำทะเลที่แข็งตัวและมีหิมะปกคลุม มีความลึกจากระดับน้ำทะเลประมาณ 4,260 เมตร พื้นที่ในทวีปอาร์กติกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศแคนาดา รัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา เดนมาร์กในเกาะกรีนแลนด์ รัสเซีย นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์

 

อุณหภูมิของทวีปอาร์กติกมีความไม่แน่นอน เนื่องจากน้ำแข็งที่อยู่ไม่คงที่ ในช่วงฤดูร้อน ขั้วโลกเหนือจะมีอุณหภูมิสูงสุด 23.5 องศา  ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน ขั้วโลกเหนือช่วงเวลากลางวันมีเวลายาวนานถึง 5 เดือน และมีช่วงเวลาพลบค่ำยาวนาน 1 เดือน ต่อจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงที่มืดยาวนานถึง 5 เดือน

 

ขั้วโลกใต้ หรือที่เรียกว่าแอนตาร์กติก (Antarctic) เป็นทวีปที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินที่ถูกล้อมรอบด้วยพื้นน้ำ น้ำแข็งที่อยู่เหนือแผ่นดินมาจากการสะสมกันของชั้นหิมะ ทวีปแอนตาร์กติกไม่ได้เป็นของประเทศใดทั้งสิ้น สำหรับสภาพอากาศขั้วโลกใต้จะตรงข้ามกับขั้วโลกเหนือโดยสิ้นเชิง ขั้วโลกใต้จะเริ่มต้นฤดูร้อนในช่วงเดือนธันวาคมยาวนาน 5 เดือนและจากนั้นเข้าสู่ช่วงมืดยาวนาน 5 เดือนเหมือนกับขั้วโลกเหนือ


2. ถิ่นที่อยู่อาศัย

ในขั้วโลกเหนือมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะชนพื้นเมือง ได้แก่ ชาวอินนูอิตหรือชาวเอสกิโมจากทวีปอเมริกาเหนือ ชาวซามิชนพื้นเมืองในทวีปยุโรป และชาวยาคุตสค์จากไซบีเรีย ชนพื้นเมืองเหล่านี้ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาอย่างยาวนาน มีประชากรที่อาศัยอย่างถาวรในทวีปอาร์กติกโดยประมาณ 4 ล้านคน

 

ส่วนขั้วโลกใต้นั้นไม่มีชนพื้นเมืองกลุ่มใดอาศัยอยู่เลย นอกเสียจากนักวิทยาศาสตร์ที่มีการผลัดหน้าที่มาประจำการในฐานปฏิบัติการที่อยู่ขั้วโลกใต้และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น

 

3.  ภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศของทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้มีสภาพอากาศที่เหมือนกัน คือ ฤดูหนาวยาวนาน ส่วนฤดูร้อนเป็นช่วงสั้น ๆ ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่ามีเพียง 2 ฤดูเท่านั้น ภูมิอากาศของขั้วโลกเหนือจะไม่หนาวเท่ากับขั้วโลกใต้ มีสองเหตุผลด้วยกัน เหตุผลแรก คือ ขั้วโลกเหนือได้รับผลกระทบจากน้ำทะเล เนื่องจากพื้นที่บริเวณอาร์กติกและบริเวณชายฝั่งมีการกักเก็บความร้อนถึงแม้ว่าจะถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง โดยอุณหภูมิของขั้วโลกเหนือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ -43 องศาถึง -26 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิสูงสุดที่บันทึกได้ อุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส

 

ในขณะที่ขั้วโลกใต้ ทวีปแอนตาร์กติกเป็นทวีปที่มีความสูงอยู่เหนือระดับน้ำทะเลมากที่สุดเมื่อเทียบกับทวีปอื่น ๆ มีความสูงเฉลี่ยโดยประมาณ 2,300 เมตร หรือ 3-6 เท่าของความสูงทวีปอื่น ๆ อุณหภูมินั้นจะลดลงเมื่อความสูงเพิ่มขึ้น (1 องศา ต่อ 100 เมตร) นอกจากนั้นบริเวณรอบ ๆ ทวีปยังมีกระแสน้ำขนาดใหญ่ที่ชื่อ West wind drift หรือ Antarctic circumpolar current ที่เคลื่อนตัวรอบทวีปแอนตาร์กติกา ทำให้บริเวณนี้มีอากาศหนาวเย็นตลอดเวลา อุณหภูมิเฉลี่ยโดยประมาณคือ -62 องศาถึง -55 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดที่บันทึกได้ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ -13 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดที่บันทึกได้ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ -89.2 องศาเซลเซียส

 

4. สัตว์

ทวีปอาร์กติกเป็นสถานที่ที่มีสัตว์นานาชนิด เช่น กวางเรนเดียร์ วัวมัสก์ เลมมิ่ง กระต่ายป่าอาร์กติก กระรอก สุนัขจิ้งจอกอาร์กติก และหมีขั้วโลก เป็นต้น การที่ทวีปอาร์กติกมีสัตว์นานาชนิดเนื่องมาจากทวีปอาร์กติกมีพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือและทวีปเอเชีย สัตว์เหล่านี้จะอพยพจากทางตอนใต้ในฤดูหนาวและอพยพย้ายมาใหม่ทางตอนเหนืออีกครั้งเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน

 

ส่วนทวีปแอนตาร์กติกเป็นที่อยู่ของแมลง โดยเฉพาะแมลงเจ้าถิ่นที่มีชื่อว่า Belgica Antarctica เป็นแมลงไร้ปีกขนาดเล็ก ความสามารถพิเศษของมันคือสามารถเก็บรักษาความอบอุ่นไว้ในร่างกายได้ นอกจากนั้นยังมีสัตว์อื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น แมวน้ำ และสัตว์ที่เราคุ้นเคยที่สุดนั่นก็คือ เพนกวิน นั่นเอง

 

5. พืชพรรณธรรมชาติ

พืชพรรณธรรมชาติที่ขึ้นในทวีปอาร์กติกส่วนใหญ่จะเป็นพืชพรรณที่ขึ้นในเขตภูมิอากาศแบบทุนดรา พืชที่ขึ้นจะเป็นพุ่มไม้เล็ก ๆ มอส ไลเคน และพืชส่วนใหญ่ที่ขึ้นที่เขตทุนดรา เช่น ต้นสน เป็นต้น

 

ส่วนในทวีปแอนตาร์กติกจะมีพืชพรรณธรรมชาติที่สามารถเจริญเติบโตได้น้อยมาก เนื่องจากถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง พืชส่วนใหญ่ที่ขึ้นในบริเวณนี้จะเป็นพืชขนาดเล็กที่ขึ้นตามโขดหิน ได้แก่ มอส ไลเคน เป็นต้น


เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับความแตกต่างของขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่ดูเหมือนว่าสองทวีปนี้จะมีลักษณะที่เหมือนกันเนื่องจากมีอากาศหนาว แต่จริง ๆ แล้วมีความแตกต่างกันหลายอย่าง ทั้งด้านสิ่งมีชีวิต สภาพภูมิอากาศ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับผู้อ่านนะคะ สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน พบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีค่ะ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Amki Green
  • 14 Followers
  • Follow